ไปยังหน้า : |
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๔๘๗ ท่านได้แสดงความหมายของคำว่า อัชฌัตตะ และ พหิทธะ ไว้ดังต่อไปนี้
อัชฌัตตะ คือ ธรรมภายใน หมายถึง หมู่ธรรม [รูปนาม] ที่มีอยู่ภายในกายของบุคคลนั้น ๆ
อัชฌัตติกะ คือ ธรรมที่ประจักษ์ในหมู่ธรรมภายใน หมายถึง หมู่ธรรม ๖ ประการ มีจักขุปสาทรูปเป็นต้น [วัตถุรูป ๖] พร้อมทั้งจิตที่ตัณหายึดมั่นไว้ โดยมีรูปวิเคราะห์ว่า ธรรมที่ประจักษ์ในธรรมภายใน ชื่อว่า อัชฌัตติกะ
ธรรมดังกล่าว เรียกว่า อัชฌัตตัชฌัตตะ หมายถึง ธรรมภายในแท้ ส่วนรูปธรรมอื่นมีรูปารมณ์เป็นต้น และนามธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นต้นเหล่าอื่น ได้ชื่อว่า พาหิระ คือ ธรรมภายนอก เพราะมีความยึดมั่นด้วยตัณหาน้อยกว่าธรรมภายใน เปรียบเหมือนแก้วมณี ทองคำ หรือเงิน ย่อมถูกมหาชนในโลกฝังไว้ภายในบ้าน ส่วนกระจาด กระด้ง หม้อ หรือจาน เป็นต้น ย่อมถูกเก็บไว้ภายนอกบ้าน บุคคลย่อมสละของอย่างหลังแล้วรักษาของอย่างแรก [ของมีค่ามี] แก้วมณีเป็นต้นจึงเรียกว่า สมบัติภายใน เพราะมีตัณหายึดมั่นไว้แน่นหนา ส่วนสิ่งของอย่างหลัง [มีกระจาด กระด้ง จาน เป็นต้น] เรียกว่า สมบัติภายนอก ข้อนี้ก็มีอุปไมยฉันนั้น
ความจริงในเรื่องนี้ ถ้าบุคคลทำได้ก็จะสละธรรม คือ รูปารมณ์และผัสสะเป็นต้นทั้งหมด แล้วรักษาจักขุปสาทรูปเป็นต้นทั้ง ๖ ประการไว้ การที่รูปธรรมกับนามธรรมเป็นธรรมภายในหรือธรรมภายนอกนั้น เป็นการกล่าวโดยจำแนกตามความแน่นแฟ้นมั่นคงหรือความอ่อนกำลังของตัณหาที่ยึดมั่นไว้ มิได้กล่าวไว้โดยจำแนกตามสถานที่เกิด [ของรูปและนามเหล่านั้น แต่อย่างใด]
ในคัมภีร์วิภาวินีได้แสดงไว้ว่า “ชื่อว่า รูปภายใน เพราะเกิดขึ้นอาศัยตนคือร่างกาย แม้รูปอื่นที่เกิดในร่างกายจะมีอยู่ แต่จักขุปสาทรูปเป็นต้นได้ชื่อว่า รูปภายใน โดยความเป็นความเป็นสำนวน” ข้อความนั้นดูไม่งาม [ไม่ถูกต้องตามหลักฐานที่มีมา]
ความที่กล่าวไว้ในคัมภีร์นั้นว่า “คำว่า อัชฌัตตะ หมายถึง รูปที่เกิดขึ้นโดยอาศัยจิตจึงเรียกว่า ตน โดยความเป็นเหตุของจิต คำว่า อัชฌัตติกะ หมายถึง รูปที่เกิดขึ้นโดยอาศัยจิตนั้นนั่นแหละ” ข้อความนั้นก็ไม่งาม เพราะหากมีข้อความดังกล่าว การที่จิตเป็นธรรมภายใน ย่อมไม่มี และมีความไม่ต่างกันระหว่างธรรมที่ชื่อว่า อัชฌัตตะ กับ อัชฌัตติกะ
ส่วนความที่กล่าวไว้ในคัมภีร์นั้นว่า “อีกอย่างหนึ่ง จักขุปสาทรูปเป็นต้นมีชื่อพิเศษว่า ธรรมภายใน เพราะมีอุปการะแก่ร่างกายมาก เหมือนกับคำพูดที่ว่า ถ้าพวกเราไม่มี ท่านก็จักเป็นเหมือนท่อนไม้” ข้อความนั้นย่อมสมควร เพราะเหล่าสัตว์ย่อมยึดมั่นแน่นแฟ้นในธรรมเหล่านั้น เนื่องจากเป็นธรรมมีอุปการะมาก
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๔๘๘ ท่านได้แสดงความหมายของอัชฌัตติกรูปและพาหิรรูปไว้ดังต่อไปนี้
ที่ชื่อว่า อัชฌัตติกรูป เพราะพิง คือ อิงอาศัยตนกล่าวคืออัตภาพเป็นไป รูปธรรมแม้เหล่าอื่น ซึ่งมีอยู่ในภายในก็จริง ถึงอย่างนั้น รูปมีจักขุ [ปสาทตา] เป็นต้นเท่านั้น ได้ชื่อว่า อัชฌัตติกรูป ด้วยสามารถแห่งการหมายความตามนิยาม อีกอย่างหนึ่ง รูปมีจักขุเป็นต้นนั้นแล ชื่อว่า อัชฌัตติกรูป เพราะมีอุปการะอย่างดียิ่งแก่อัตภาพโดยพิเศษ เป็นเหมือนกับพูดว่า ถ้าพวกเราไม่มี ท่านก็จักเป็นเหมือนท่อนไม้ อีกอย่างหนึ่ง ที่ชื่อว่า อัชฌัตตะ เพราะอรรถว่า อิงอาศัยจิตกล่าวคือตนเป็นไป โดยความเป็นทวารแห่งจิตนั้น อัชฌัตตะนั้นแหละ ชื่อว่า อัชฌัตติกะ
รูป ๒๓ ประการนอกนี้ชื่อว่า พาหิรรูป เพราะเกิดในภายนอกจากอัชฌัตติกรูปนั้น
ท่านพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ ได้กล่าวถึงอัชฌัตติกรูปและพาหิรรูปไว้รุ.๔๘๙ ดังต่อไปนี้
รูปภายใน กับ รูปภายนอก คำว่า รูปภายใน นี้ มิได้มุ่งหมายว่า รูปที่เกิดอยู่ภายในร่างกาย แต่มุ่งหมายถึงประโยชน์ [ใช้สอย] เพราะปสาทรูปทั้ง ๕ นี้ มีประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายมาก ร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ถ้าไม่มีปสาทรูปทั้ง ๕ เสียแล้ว ก็ไม่สามารถจะทำอะไร ๆ ได้ ซึ่งไม่ผิดอะไรกับท่อนไม้หรือตุ๊กตา เพราะฉะนั้น ปสาทรูป ๕ เหล่านี้จึงนับว่าเป็นรูปที่มีประโยชน์มาก จึงตั้งชื่อว่า อัชฌัตติกรูป คือ รูปภายใน เหมือนกับคนที่มีประโยชน์ช่วยเหลือในกิจการงานต่าง ๆ ได้มาก เราก็เรียกคนเหล่านั้นว่า คนภายใน เช่นเดียวกัน
ส่วนรูปที่เหลืออีก ๒๓ รูป [เว้นปสาทรูป ๕] ที่เรียกว่า พาหิรรูป คือ รูปภายนอกนั้น เพราะไม่มีความสำคัญในร่างกายเท่ากับปสาทรูป ๕ เพราะฉะนั้น จึงตั้งชื่อว่า พาหิรรูป ซึ่งเปรียบเหมือนกับคนภายนอก ย่อมช่วยเหลือกิจการงานได้ไม่มากเท่ากับคนภายใน
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๔๙๐ ได้อธิบายความหมายของอัชฌัตติกรูปกับพาหิรรูปไว้ดังต่อไปนี้
อัชฌัตติกรูป คือ รูปภายใน ได้แก่ ปสาทรูป ๕
พาหิรรูป คือ รูปภายนอก หมายถึง รูปที่นอกจากปสาทรูป ๕ ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๓ รูป
รูปภายใน กับ รูปภายนอก คู่ที่ ๑ นี้ คำว่า รูปภายใน มิได้มุ่งหมายเอารูปที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย แต่หมายถึงรูปที่มีประโยชน์ช่วยเหลือให้จิตรับรู้อารมณ์และทำกิจการงานของสัตว์ทั้งหลายได้มาก เหมือนกับคนภายในบ้าน ย่อมใช้สอยให้ช่วยเหลือทำกิจการงานต่าง ๆ ได้มากกว่าคนภายนอกที่ไม่คุ้นเคยกัน เพราะฉะนั้น ปสาทรูปทั้ง ๕ ย่อมมีประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายอยู่มาก ถ้าไม่มีปสาทรูปทั้ง ๕ นี้แล้ว ย่อมไม่สามารถทำกิจการงานอะไรได้ ซึ่งไม่ผิดอะไรกับหุ่นหรือตุ๊กตา ด้วยเหตุนี้ ปสาทรูปทั้ง ๕ จึงมีประโยชน์มาก เปรียบเหมือนคนภายในบ้านดังกล่าวแล้ว จึงชื่อว่า เป็นรูปภายใน คือ อัชฌัตติกรูป
ส่วนรูปที่เหลืออีก ๒๓ รูปรุ.๔๙๑ เป็นรูปภายนอก ชื่อว่า พาหิรรูป เพราะไม่ได้ช่วยเหลือในกิจการงานของร่างกายมากมายเท่ากับปสาทรูป จึงเปรียบเหมือนคนภายนอกบ้าน พอช่วยเหลือกิจการงานบางอย่างได้บ้างเท่านั้น จึงมีความสำคัญต่อร่างกายไม่มากเท่ากับปสาทรูปซึ่งเปรียบเหมือนกับคนภายในบ้านดังกล่าวแล้ว
คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :
ในกรณีอัชฌัตติกรูปและพาหิรรูปนี้ ผู้เขียนได้ประมวลคำอธิบายทั้งหมดมาสรุปและอธิบายเพิ่มเติมอีก ดังต่อไปนี้
อัชฌัตติกรูป คือ รูปภายใน มี ๖ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และหทยรูป ๑ ที่ได้ชื่อว่า อัชฌัตติกรูป นี้ เป็นการเรียกชื่อตามความมุ่งหมายถึงประโยชน์ใช้สอย เพราะปสาทรูปทั้ง ๕ และหทยรูป ๑ รวม ๖ รูปนี้ มีประโยชน์ต่อร่างกายของสัตว์ทั้งหลายเป็นอย่างมาก ในการทำกิจการงานต่าง ๆ ถ้าสัตว์ทั้งหลายไม่มีปสาทรูปทั้ง ๕ เสียแล้ว ย่อมไม่สามารถทำกิจการงานต่าง ๆ ทางทวารนั้น ๆ ได้ โดยเฉพาะถ้าไม่มีหทยรูปเสียแล้ว สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่สามารถทำกิจการงานใด ๆ ได้เลย แม้แต่ความรู้สึกนึกคิด ย่อมเป็นเหมือนอสัญญสัตตพรหม ฉันนั้น กล่าวคือ มีชีวิต แต่ไม่สามารถรู้สึกนึกคิดและรับรู้อะไรได้เลย อนึ่ง ร่างกายของบุคคลใดขาดปสาทรูปอย่างใดไปแล้ว ย่อมไม่สามารถทำกิจการงานทางทวารนั้นได้เลย และถ้าขาดไปทั้ง ๖ อย่างคือ ปสาทรูป ๕ และหทยรูป ๑ เสียแล้ว ร่างกายของบุคคลนั้นก็ไม่ผิดอะไรกับตุ๊กตาหรือท่อนไม้เป็นต้น ที่ไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาหรือทำกิจการงานใด ๆ ได้เลย เพราะฉะนั้น ท่านจึงตั้งชื่อปสาทรูป ๕ และหทยรูป ๑ นี้ว่า อัชฌัตติกรูป เปรียบเหมือนคนที่มีประโยชน์ เป็นผู้ช่วยเหลือกิจการงานต่าง ๆ ได้มาก เราก็เรียกคนเหล่านั้นว่า คนใน ส่วนคนที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ คือ คนที่ช่วยเหลือกิจการงานได้เป็นบางอย่างและบางครั้งบางคราว หรือเป็นคนที่ไม่มีประโยชน์เลย เราก็เรียกบุคคลนั้นว่า คนนอก ฉันนั้น หมายความว่า การที่เรียกชื่อว่า อัชฌัตติกรูป คือ รูปภายในนี้ มิได้มุ่งหมายเอารูปที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงรูปที่มีประโยชน์ช่วยให้จิตสามารถรับรู้อารมณ์และทำกิจการงานของสัตว์ทั้งหลายได้เป็นอย่างมากนั่นเอง เปรียบเหมือนคนที่อยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ย่อมสามารถใช้สอยให้ช่วยทำกิจการงานต่าง ๆ ได้มากกว่าคนที่อยู่ภายนอกบ้านหรืออยู่ในบ้านหลังอื่น ที่ไม่คุ้นเคยกัน ย่อมเรียกให้ช่วยเหลือทำกิจการงานได้เป็นบางอย่างที่เป็นกิจลักษณะและเป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น เพราะฉะนั้น ปสาทรูป ๕ และหทยรูป ๑ รวมทั้ง ๖ รูปเหล่านี้ ซึ่งเป็นรูปที่มีประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายอยู่มาก เนื่องจากเป็นรูปที่เป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิกในการรับรู้อารมณ์ และเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายแสดงปฏิกิริยาต่าง ๆ ออกมาทางกายและทางวาจา ทั้งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ได้ ถ้าไม่มีปสาทรูป ๕ และหทยรูป ๑ นี้แล้ว สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่สามารถทำกิจการงานทางทวารนั้น ๆ ได้เลย ด้วยเหตุนี้ รูปทั้ง ๖ รูปเหล่านี้ จึงได้ชื่อว่า อัชฌัตติกรูป แปลว่า รูปที่เป็นไปภายใน อีกนัยหนึ่ง รูปทั้ง ๖ เหล่านี้ เป็นเหมือนสมบัติที่มีค่ามาก เป็นที่ปรารถนาและหวงแหนของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายจึงต้องดูแลรักษาและปกป้องเป็นอย่างดี เพื่อมิให้รูปทั้ง ๖ นี้เป็นอันตรายหรือทุพพลภาพไป เมื่อเกิดอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ถูกโรคเบียดเบียนเป็นต้น ต้องรีบทำการรักษาเยียวยาแก้ไขโดยเร่งด่วน ตามกำลังความรู้ความสามารถของตนเอง เพื่อให้รูปเหล่านี้สามารถใช้การได้ต่อไป ส่วนอวัยวะอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับรูปทั้ง ๖ เหล่านี้ แม้จะขาดหายไปบ้าง ก็ไม่ทำความเดือดร้อนแก่บุคคลนั้นเท่าไรนัก แต่เมื่อรูปทั้ง ๖ นี้ หรือส่วนประกอบที่เกี่ยวเนื่องกับรูปทั้ง ๖ นี้บกพร่องหรือขาดหายเป็นอันตรายไป ย่อมทำให้บุคคลนั้นเดือดร้อน และการดำเนินชีวิตย่อมเป็นไปโดยไม่สะดวกนัก ทรัพย์สมบัติที่มีค่า เช่น แก้ว แหวน เงินทอง เพชร นิล จินดา เป็นต้น ซึ่งมนุษย์ทั้งหลายต้องใช้ประโยชน์ในยามจำเป็น และมีคุณค่าทางด้านจิตใจอยู่เสมอ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้เป็นเจ้าของย่อมหวงแหนและเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี เพื่อมิให้เสื่อมสูญหรืออันตรธานหายไป โดยที่ไม่ได้ใช้สอยให้เป็นประโยชน์ตามความปรารถนาของตน
พาหิรรูป คือ รูปภายนอก มี ๒๒ รูป ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๒ [เว้นปสาทรูป ๕ หทยรูป ๑] นั่นเอง หมายความว่า รูปที่เหลือจากอัชฌัตติกรูป ๒๒ เหล่านั้น เป็นรูปที่ไม่ค่อยมีความสำคัญต่อร่างกายและจิตใจมากนัก เนื่องจากเป็นรูปที่ไม่ได้เป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิกในการรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ และไม่ใช่เป็นรูปที่เป็นเหตุให้แสดงปฏิกิริยาต่าง ๆ ออกมาทางกายและทางวาจา ในการช่วยทำกิจการงานของร่างกายได้มากเท่ากับปสาทรูป ๕ และหทยรูป ๑ เพราะเป็นเพียงส่วนประกอบของร่างกายเท่านั้น เช่น ผม ขน เล็บ หนังกำพร้า เป็นต้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงตั้งชื่อรูปทั้ง ๒๒ รูป [เว้นปสาทรูป ๕ หทยรูป ๑] เหล่านี้ว่า พาหิรรูป แปลว่า รูปที่เป็นไปภายนอก เปรียบเหมือนบุคคลที่อยู่นอกบ้านหรืออยู่บ้านคนละหลัง ซึ่งไม่คุ้นเคยกัน เราก็เรียกว่า คนนอก เพราะเป็นผู้ที่ช่วยเหลือกิจการงานได้ไม่มากเท่ากับคนใน คือ ช่วยเหลือกิจการงานได้เป็นบางอย่าง และช่วยได้เป็นบางครั้งบางคราวเท่านั้น หรือไม่ได้ช่วยเหลือกิจการงานใด ๆ เลย จึงมีความสำคัญต่อบุคคลนั้นไม่มากเหมือนกับคนภายในดังกล่าวแล้ว