| |
ลักษณะของถีนมิทธะ   |  

คำว่า ถีนมิทธะ เกิดจากการผสมของคำ ๒ คำ คือ คำว่า ถีนะ กับคำว่า มิทธะ ถีนะ แปลว่า ความหดหู่ มิทธะ แปลว่า ความเคลิบเคลิ้ม คือ อาการที่จิตเกิดความห่อเหี่ยว ท้อแท้ หมดหวัง ซึมเซา หรือเกิดอาการง่วงเหงาหาวนอน เป็นเหตุให้เกิดความหมดอาลัย เกิดความเกียจคร้าน ไม่กระตือรือร้น ปล่อยปละละเลย ดังนั้น คนที่ถูกถีนะมิทธะครอบงำ จึงมักจะมีอาการง่วงเหงาซึมเซา หรือมีความหดหู่และเซื่องซึม ขาดความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ขาดกำลังใจและหมดความหวังในชีวิต เกิดความเบื่อหน่ายในชีวิต ไม่คิดที่จะทำสิ่งใด ๆ ขาดวิริยะอุตสาหะในการทำสิ่งต่าง ๆ ได้แต่ปล่อยให้ความคิดเลื่อนลอยไปเรื่อย ๆ จึงไม่สามารถรวมใจเป็นหนึ่งได้

พระพุทธเจ้าทรงเปรียบเทียบถีนะมิทธะว่า “เหมือนบุคคลที่ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำ” คนที่ถูกจองจำอยู่ในเรือนจำนั้น ย่อมหมดโอกาสที่จะได้รับความบันเทิงจากการเที่ยวดูหรือชมมหรสพต่าง ๆ ในงานนักขัตฤกษ์ ฉันใด ผู้ที่ตกอยู่ในอำนาจของถีนมิทธนิวรณ์ ย่อมหมดโอกาสที่จะได้รับรู้รสแห่งธรรมบันเทิง คือ ความสงบสุขอันเกิดจากคุณธรรม ฉันนั้น

อีกนัยหนึ่ง ท่านเปรียบว่า “เป็นเหมือนคนติดคุกแล้วเพิ่งออกจากคุกมาใหม่ๆ” โดยอธิบายว่า ธรรมดาคนที่ติดคุก คือ นักโทษที่ต้องถูกคุมขังอยู่ในตารางนั้น ย่อมต้องถูกพันธนาการให้อยู่ในคุก จะออกมาข้างนอกเพื่อเที่ยวดูมหรสพการละเล่นให้เป็นที่ครื้นเครงรื่นเริงใจก็มิได้ ต่อมาภายหลัง เขาได้พ้นโทษออกจากคุก ได้ยินเพื่อนพ้องพี่น้องพูดคุยกันว่า เมื่อวานนี้มหรสพช่างสนุกเหลือเกิน คนฟ้อนรำก็สวย เสียงร้องเพลงก็ไพเราะ ถ้าไม่ได้เห็นก็น่าจะเสียดายไปจนวันตาย ฝ่ายกระทาชายผู้เพิ่งออกมาจากคุกได้ยินเขาคุยกันดังนี้ ก็นั่งซึมเซาฟังเฉยอยู่ ไม่สามารถจะออกความเห็นหรือคุยอะไรในเรื่องนี้กับเขาได้ เพราะตนเองถูกคุมขังอยู่ในคุกเมื่อวานนี้ ยังไม่ได้พ้นโทษจากการติดคุกออกมา จึงไม่ได้ไปเที่ยวดูมหรสพอันสนุกสนานที่เขาคุยกันอยู่นั้น อุปมาข้อนี้ฉันใด ผู้ที่มีใจถูกถีนะมิทธะเข้าครอบงำ มัวแต่โงกง่วงและมักหลับ เมื่อคนอื่นเขาตั้งใจสดับพระธรรมเทศนา มีเนื้อความอันวิจิตรลึกซึ้งสามารถที่จะยังจิตผู้ฟังให้ถึงความแจ่มแจ้ง หรือสลดใจ กลัวภัยในวัฏสงสาร และเห็นคุณค่าแห่งพระนิพพาน แต่ตนเองมัวหลับเสีย จึงไม่ได้ยินเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดแห่งพระธรรมเทศนา อันทรงไว้ซึ่งคุณค่ากัณฑ์นั้น ต่อเมื่อหายโงกง่วงตื่นขึ้นมาภายหลัง ได้ยินผู้ที่ฟังธรรมเขาคุยกัน ว่า โอ้…พระธรรมเทศนานั้นช่างประเสริฐนักหนา ท่านแสดงเหตุแสดงอุปมาน่าฟังจริง ๆ ได้ฟังแล้วทำให้หูตาสว่างขึ้นอีกเป็นอันมาก นี่ถ้าหากว่าไม่ได้ฟังแล้ว ก็คงจะโง่ไปอีกนาน ฝ่ายผู้ที่ถูกเครื่องพันธนาการคือถีนมิทธะเข้าครอบงำ และมัวแต่หลับเสีย ครั้นได้ฟังเขาคุยกันอย่างนี้แล้ว ย่อมนั่งซึมเซาฟังเฉยอยู่ ไม่สามารถที่จะออกความเห็นหรือแสดงความรู้สึกอะไรกับเขาได้ เพราะตนมัวแต่หลับเสีย พระธรรมเทศนาไม่สามารถเข้าไปในโสตทวารของตนได้ ต่อเมื่อใดได้บำเพ็ญภาวนาจนสามารถละถีนะมิทธะได้แล้ว ย่อมจะเป็นเหมือนคนพ้นโทษออกจากคุกมาเป็นอิสระ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |