| |
โทษของสัมผัปปลาปะ

ในสมัยดึกดำบรรพ์ มีเต่าช่างพูดตัวหนึ่ง ได้ผูกมิตรกับหงส์ ๒ ตัว ที่มักมาหากินในหนองน้ำที่เต่าอาศัยอยู่ เมื่อหงส์ทั้งสองมาที่หนองน้ำนั้นก็สนทนากับเต่าอย่างมีความสุข สมกับคำที่นักปราชญ์สอนไว้ว่า จะมีใครในโลกนี้ ที่มีความสุขเท่ากับผู้มีมิตรสหายไว้สนทนาปรับทุกข์ ร่วมสุขซึ่งกันและกัน เต่าได้พูดกับหงส์ว่า สหายทั้งสองนับว่าโชคดี มีปีกบินได้ จึงไปหากิน และไปเที่ยวต่างถิ่นต่างที่ได้ตามใจชอบ ส่วนข้าพเจ้ากี่เดือนกี่ปี ก็อยู่แต่ที่หนองน้ำแห่งนี้ ไม่มีโอกาสได้ไปภูมิประเทศอื่น อันสวยงามกับเขาเลย เพราะเป็นสัตว์เดินช้า

หงส์ทั้งสองสงสารเพื่อน จึงบอกว่า ถ้าสหายต้องการจะไปหากินยังหนองน้ำอื่น และเที่ยวชมภูมิประเทศที่สวยงามละก็ ข้าพเจ้าทั้งสองสามารถพาไปได้ แต่กลัวว่าสหายจะอดพูดไม่ได้ เต่าถามวิธี จึงบอกว่าข้าพเจ้าทั้งสองจะคาบไม้ที่ปลายทั้งสอง ให้สหายคาบตรงกลาง เท่านี้ ก็สามารถพาสหายไปที่ไหนก็ได้ แต่ในระหว่างเดินทาง สหายต้องไม่พูดเด็ดขาด ถ้าพูดจะทำให้ตกลงมาถึงแก่ความตาย เต่ารับคำของหงส์ว่าจะทำตามนั้น

หงส์ทั้งสองพาเต่าบินไป ผ่านทุ่งนาแห่งหนึ่ง ซึ่งมีเด็กเลี้ยงวัวหลายคนกำลังจับกลุ่มเล่นกันอยู่ เด็กคนหนึ่งเห็นเช่นนั้นแล้ว จึงบอกเพื่อนว่า ดูนั่นสิ หงส์ ๒ ตัวคาบปลายไม้พาเต่าบินไป ข้าว่าเดี๋ยวก็ตกลงมาตาย พวกเราตามไปเก็บเต่าตายมาแกงกินกันเถอะ แล้วก็พากันวิ่งตามไป เต่าได้ยินดังนั้น อยากจะพูดกับเด็กให้สะใจว่า ไอ้เด็กโง่เอ๋ย พวกเอ็งไม่มีวันจะได้กินเนื้อของข้าหรอก อ้าปากจะพูด จึงหลุดจากไม้ที่คาบไว้ ตกลงมาที่แผ่นดิน จนกระดองแตกกระจาย ถึงแก่ความตาย การพูดไม่รู้จักกาลเวลามีโทษอย่างนี้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |