ไปยังหน้า : |
หสิตุปปาทจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นปัจจัยให้เกิดการยิ้มแย้มของพระอรหันต์ ในขณะที่ได้รับอารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาเหตุแห่งอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์เหล่านั้นแล้ว จึงได้แสดงอาการยิ้มแย้มออกมา ซึ่งเป็นการยิ้มแย้มเพียงนิดหนึ่งพอเห็นไรฟัน ที่เรียกว่า รัศมีแห่งฟัน เปล่งออกมาเท่านั้น เป็นจิตที่เกิดขึ้นกับพระอรหันต์จำพวกเดียว ไม่สามารถเกิดทั่วไปแก่ปุถุชนและพระเสกขบุคคลทั้งหลายได้ แต่เนื่องจากมีเหตุปัจจัยครบบริบูรณ์แล้ว คือ ได้ผ่านการพิจารณาด้วยมหากิริยาชวนะหรือกิริยาอภิญญาชวนะ ดวงใดดวงหนึ่งมาดีแล้ว จนมาถึงการแสดงการยิ้มแย้ม หสิตุปปาทจิตจึงเกิดขึ้นเพียงเป็นเหตุให้ทำการยิ้มแย้มเท่านั้น ฉะนั้น หสิตุปปาทจิตนี้ จึงเป็นจิตที่ไม่ต้องประกอบด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งเลย เพราะมีเหตุปัจจัยประชุมกันพร้อมแล้ว จึงเกิดขึ้นได้ ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกกะ ดังต่อไปนี้
๑. สะฬารัมมะณะวิชานะนะลักขะณัง มีการรู้อารมณ์ทั้ง ๖ [อย่างใดอย่างหนึ่งที่ปรากฏทางทวาร ๖] เป็นลักษณะ หมายความว่า เมื่อได้รับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทางทวาร ๖ แล้ว ก็ได้ทำการพิจารณาด้วยมหากิริยาชวนะหรือกิริยาอภิญญาชวนะอย่างดีแล้ว หสิตุปปาทจิตจึงเกิดขึ้นเสพอารมณ์ที่จิตดวงอื่นป้อนมาให้ทางทวารทั้ง ๖ ต่อไป
๒. อะระหะตัง อะนุฬาเรสุ วา อุฬาเรสุ วา วัตเถสุ สะหะนะระสัง มีการยิ้มแย้มในจำพวกวัตถุที่ดีหรือไม่ดีของพระอรหันต์ทั้งหลาย เป็นกิจ หมายความว่า พระอรหันต์ท่านได้ประสบกับอารมณ์ที่เป็นอกุศลวิบาก คือ อนิฏฐารมณ์ หรือที่เป็นกุศลวิบาก คือ อิฏฐารมณ์ เช่น เห็นคนทำความชั่วช้าเลวทรามก็ดี เห็นสัตว์ที่กำลังเสวยผลของอกุศลกรรมก็ดี เห็นบุคคลที่กำลังทำความดีอยู่ก็ดี หรือเห็นสัตว์ที่ได้เสวยผลของความดีที่ได้ทำไว้แล้วในอดีตก็ดี ครั้นเห็นแล้ว จึงทำการพิจารณาด้วยมหากิริยาจิตว่า เราพ้นแล้วจากภาวะเหล่านี้ ดังนี้แล้ว ย่อมเกิดโสมนัสยินดี ต่อจากนั้น วิถีจิตที่เป็นหสิตุปปาทชวนจิต ก็เกิดขึ้นทำการยิ้มแย้มออกมาให้ปรากฏ ซึ่งบุคคลผู้มีการสังเกตสามารถเห็นได้ เช่น พระพุทธเจ้าทรงเห็นเปรตที่เชิงเขาคิชฌกูฏแล้วทรงทำการยิ้มแย้มออกมา พระอานนท์ผู้เป็นปัจฉาสมณะสังเกตเห็นจึงกราบทูลถามประพฤติเหตุนั้น พระพุทธเจ้าย่อมทรงตรัสบอกและทรงพยากรณ์อดีตกรรมของเปรตนั้นให้ฟัง ดังนี้เป็นตัวอย่าง
๓. ตะถาภาวะปัจจุปปัฏฐานัง มีความเป็นไปในอารมณ์ทั้ง ๖ โดยอาการอย่างเดียวกัน เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านได้ประหาณอนุสัยกิเลสทั้งปวงโดยสิ้นเชิงแล้ว ฉะนั้น ท่านจึงสามารถวางใจเป็นกลางได้ในอารมณ์ที่ประสบทุกอย่าง โดยไม่แสดงอาการยินดีหรือยินร้าย หรือแสดงอาการเป็นปฏิปักษ์หรือคล้อยตามอารมณ์นั้น ๆ แต่อย่างใด ย่อมพิจารณารับรู้อารมณ์เหล่านั้น โดยสภาพความเป็นจริง ไม่ว่า อารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์อะไร หรือเกิดทางทวารไหนก็ตาม ย่อมวางใจเป็นกลางได้ในทุกอารมณ์และทุกทวาร
๔. เอกันตะโต หะทะยะวัตถุปะทัฏฐานัง มีหทยวัตถุโดยแน่นอน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า หสิตุปปาทจิตนี้ เป็นจิตที่เกิดได้เฉพาะกับพระอรหันต์ที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีขันธ์ครบ ๕ ขันธ์เท่านั้น ซึ่งจะต้องมีหทยวัตถุ คือหัวใจเกิดโดยแน่นอน ฉะนั้น หสิตุปปาทจิตนี้ ย่อมเกิดได้เฉพาะกับพระอรหันต์ ที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมิ ๒๒ ภูมิ คือ กามสุคติภูมิ ๗ และรูปภูมิ ๑๕ เท่านั้น ส่วนพระอรหันต์ที่เกิดอยู่ในอรูปภูมินั้นไม่มีรูปใด ๆ เกิดเลย ด้วยเหตุนี้ หสิตุปปาทจิตจึงเกิดขึ้นไม่ได้ อนึ่ง หสิตุปปาทจิตนี้ ย่อมต้องผ่านการรับอารมณ์ทางปัญจทวาร ทวารใดทวารหนึ่ง เช่น รับรูปารมณ์ทางจักขุทวาร หรือ รับสัททารมณ์ทางโสตทวาร เป็นต้นมาก่อนแล้ว จึงเข้าสู่การพิจารณาทางมโนทวารได้ ฉะนั้น จึงเกิดได้เฉพาะกับพระอรหันต์ที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมิดังกล่าวแล้ว หสิตุปปาทจิตนี้ เป็นมโนวิญญาณธาตุ ซึ่งต้องอาศัยหทยวัตถุรูปเกิดอย่างเดียว จะอาศัยวัตถุรูปอย่างอื่น มีจักขุวัตถุรูป เป็นต้นเกิดนั้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ หทยวัตถุรูปจึงเป็นเหตุใกล้ให้หสิตุปปาทจิตได้เกิดขึ้น