| |
คุณลักษณะของสัตบุรุษ ๘ ประการ   |  

คุณลักษณะพิเศษของบุคคลผู้ได้ชื่อว่า สัตบุรุษ นั้น เรียกว่า สัปปุริส ลักษณะ มี ๘ ประการ คือ

๑. สัทธัมมะสะมันนาคะโต ดำเนินชีวิตด้วยพระสัทธรรม

๒. สัปปุริสะภัตตี ภักดีต่อสัตบุรุษทั้งหลาย

๓. สัปปุริสะจินตี คิดอย่างสัตบุรุษ

๔. สัปปุริสะมันตี ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ

๕. สัปปุริสะวาโจ พูดอย่างสัตบุรุษ

๖. สัปปุริสะกัมมันโต ทำอย่างสัตบุรุษ

๗. สัปปุริสะทิฏฐี เห็นอย่างสัตบุรุษ

๘. สัปปุริสะทานัง ให้ทานอย่างสัตบุรุษ

ดังหลักฐานที่มาในจูฬปุณณมสูตร เทวทหวรรค พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษ [คนดี] ทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยสัทธรรม [ธรรมของสัตบุรุษ] ๑ ภักดีต่อสัตบุรุษ ๑ มีความคิดอย่างสัตบุรุษ ๑ ย่อมปรึกษากับสัตบุรุษ ๑ กล่าววาจาอย่างสัตบุรุษ ๑ กระทำกิจต่าง ๆ อย่างสัตบุรุษ ๑ มีความเห็นอย่างสัตบุรุษ ๑ ให้ทานอย่างสัตบุรุษ ๑ มีอรรถาธิบายดังต่อไปนี้

๑. ประกอบด้วยสัทธรรม หมายถึง มีคุณธรรมของสัตบุรุษ ๗ ประการ ได้แก่ มีศรัทธา มีสติตั้งมั่น มีหิริ [ความละอายต่อบาป] มีโอตตัปปะ [ความเกรงกลัวต่อบาป] เป็นพหูสูต [เป็นผู้มีประสบการณ์ศึกษาเล่าเรียนมามาก] ปรารภความเพียร และมีปัญญา

๒. ภักดีต่อสัตบุรุษ หมายถึง การคบหาสมาคมกับสมณะพราหมณ์ ผู้มีสัทธรรม ๗ เป็นกัลยาณมิตร

๓. คิดอย่างสัตบุรุษ หมายถึง ไม่คิดเบียดเบียนตนเองและบุคคลอื่น ให้ได้รับความเดือดร้อน [โดยไม่เกิดประโยชน์แก่บุคคลใดเลย]

๔. ปรึกษาอย่างสัตบุรุษ หมายถึง เวลาปรึกษาก็ปรึกษา เพื่อสร้างสรรค์ ไม่ใช่ปรึกษาเพื่อเป็นการข่มคนอื่น หรือยกตนข่มท่าน

๕. พูดอย่างสัตบุรุษ หมายถึง เวลาพูด ย่อมพูดแต่คำที่มีประโยชน์และสร้างสรรค์ให้เกิดความดีงาม ได้แก่ การตั้งวจีสุจริต ๔ ประการไว้ในใจ ปรารภที่จะพูดแต่คำที่ดี

๖. ทำอย่างสัตบุรุษ หมายถึง เวลาจะทำสิ่งใดก็ทำแต่กรรมดี โดยเว้นจากกายทุจริต ๓ ได้แก่ เว้นจากการฆ่าสัตว์หรือเบียดเบียนสัตว์ให้ถึงความเดือดร้อนกายใจ ๑ เว้นจากการลักฉ้อหรือล่วงละเมิดกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของบุคคลอื่น ๑ เว้นจากการล่วงละเมิดในบุตรภรรยาสามีของบุคคลอื่น [รวมทั้งบุตรธิดาของตนเองด้วย] ๑

๗. เห็นอย่างสัตบุรุษ หมายถึง มีความเห็นชอบ ถูกต้องตามหลักทำนองคลองธรรมที่ดี โดยหลักวัฒนธรรมประเพณีและหลักศาสนาอันดีงาม เช่น เห็นว่าทำดีย่อมได้รับผลดี ทำชั่วย่อมได้ผลชั่วแน่นอน เป็นต้น

๘. ให้ทานอย่างสัตบุรุษ หมายถึง มีใจปรารภที่จะให้ทานอยู่เสมอ ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจแห่งความตระหนี่หรือความเห็นผิด และเวลาให้ ย่อมให้โดยเคารพให้ด้วยความนอบน้อม ให้ทานด้วยความบริสุทธิ์ ไม่รู้จักอิ่มหรือเบื่อในการให้นั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |