| |
เหตุปัจจัยให้เกิดโลภะ ๔ ประการ   |  

๑. โลภะปะริวาระกัมมะปะฏิสันธิกะตา เป็นผู้ปฏิสนธิมาด้วยกรรมที่มีความโลภเป็นบริวาร หมายความว่า เป็นบุคคลผู้เคยกระทำกรรมด้วยอำนาจความโลภเป็นปัจจัยสนับสนุน จึงทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้มีความโลภเป็นอุปนิสัย เมื่อได้ประสบกับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความโลภความยึดติด ย่อมเกิดการตอบสนองต่ออารมณ์นั้นด้วยความโลภความอยากได้หรือความยึดติดต่ออารมณ์นั้น

๒. โลภะอุสสันนะภะวะโต จะวะนะตา เป็นผู้จุติมาจากภพภูมิที่มีความโลภมาก เหตุปัจจัยอีกอย่างหนึ่ง ที่ทำให้บุคคลเกิดความโลภ ความอยากได้หรือยึดติดในการตอบสนองต่ออารมณ์ที่ได้ประสบพบเห็นหรือได้รับรู้นั้น เนื่องจากว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ที่จุติ คือ ตายมาจากภพภูมิที่สั่งสมความอยาก และพอกพูนความโลภไว้ในขันธสันดาน เช่น ภูมิเปรต อสุรกาย ซึ่งเป็นภพภูมิที่มากไปด้วยความอดอยากหิวโหย หาความอิ่มหนำสำราญสุขสบายได้ยาก จึงเกิดความเก็บกดความรู้สึกในความอยากต่ออารมณ์ต่าง ๆ ไว้ โดยไม่ได้บรรเทาเบาบางหรือลบล้างออกไป หรือเป็นผู้ที่ได้เกิดในภพภูมิหรือสถานที่อันเป็นปัจจัยให้สั่งสมความโลภ เช่น มนุษย์ที่เกิดอยู่ในครอบครัวที่สุขสบาย หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดความเพลิดเพลินสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจอยู่ตลอดเวลา หรือเทวดาที่ได้เสวยสมบัติอันเป็นทิพย์อย่างล้นเหลือ ติดต่อกันเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ทำให้ติดเป็นอุปนิสัยยินดีร่าเริงสนุกสนานในอารมณ์อันน่าเพลิดเพลินเจริญตาอยู่เสมอ เมื่อบุคคลเหล่านั้นมาเกิดใหม่จึงมีความอยากเสพอยากสัมผัสให้เต็มอิ่มเหมือนที่ตนเองเคยเสพเคยสัมผัสมา หรือให้ได้เสพมากยิ่งขึ้นและประณีตยิ่งขึ้นกว่านั้น เมื่อบุคคลเหล่านี้ได้มาเกิดในภพภูมิอื่นที่มีเหตุปัจจัยให้ได้รับอารมณ์เช่นนั้น ย่อมทำให้เกิดการตอบสนองต่ออารมณ์นั้นด้วยความโลภได้ง่าย

๓. อิฏฐารัมมะณะสะมาโยโค เป็นผู้ที่ได้ประสบกับอารมณ์ที่ดีอยู่เสมอ เหตุปัจจัยอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้บุคคลเกิดการตอบสนองต่ออารมณ์ต่าง ๆ ที่ตนได้รับรู้ด้วยความโลภ ความอยากได้ หรือความยึดติด ในขณะที่ได้รับอารมณ์นั้น เนื่องจากว่า บุคคลนั้นได้อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสภาพสังคมที่มากไปด้วยอารมณ์ที่ดี น่าเจริญตาเจริญใจ ไม่ค่อยมีอุปสรรคปัญหามาขัดตาขัดใจมากนัก ปรารถนาสิ่งใดมักได้ดังใจปรารถนา จึงทำให้เป็นผู้มีอุปนิสัยมากด้วยความโลภ เมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่น่ายินดี น่าปรารถนา ย่อมเกิดความโลภขึ้นมา

๔. สังโยชะนีเยสุ อัสสาทะทัสสะนัง ได้พบเห็นสิ่งที่น่าชอบใจอยู่เสมอ หมายความว่า บุคคลที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสภาพสังคมที่หลากหลายไปด้วยอารมณ์ที่ทำให้เกิดความยินดีพอใจ เพลิดเพลิน สนุกสนาน รื่นเริงบันเทิงใจ ย่อมสั่งสมพอกพูนความรู้สึกทะยานอยากในอารมณ์ที่น่าปรารถนาเหล่านั้นยิ่ง ๆ ขึ้นไป เมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่ตนเองนึกปรารถนาแล้ว ย่อมทำให้เกิดความโลภขึ้นมา


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |