| |
อัปปมัญญา ๔   |  

อัปปมัญญา หมายถึง ธรรมที่ต้องแผ่ไปยังบุคคลหรือสัตว์ทั้งหลายอย่างไม่มีประมาณหรือไม่จำกัดขอบเขตดังแสดงวจนัตถะว่า“อปฺปมาเณสุ สตฺเตสุ ผริตพฺพาติ = อปฺปมญฺา” แปลว่า ธรรมที่พึงแผ่ไปในสัตว์ทั้งหลายอย่างหาประมาณมิได้ ชื่อว่า อัปปมัญญา มี ๔ อย่าง คือ

๑. เมตตาอัปปมัญญา หมายถึง การแผ่ความรักความปรารถนาดีให้แก่บุคคลผู้เป็นที่รักมีความสุข ในขณะที่เห็นบุคคลผู้เป็นที่รักนั้นอยู่ในอาการปกติธรรมดา โดยหน่วงนึกเอาสภาพของบุคคลผู้เป็นที่รักนั้นมาเป็นอารมณ์ เรียกว่า ปิยมนาปสัตวบัญญัติ เมตตาอัปปมัญญานี้ องค์ธรรมได้แก่ อโทสเจตสิก

๒. กรุณาอัปปมัญญา หมายถึง การแผ่ความสงสารความเห็นอกเห็นใจอยากช่วยเหลือบุคคลที่กำลังได้รับความทุกข์อยู่ หรือจะได้รับความทุกข์ในกาลข้างหน้านั้นให้พ้นจากความทุกข์ ในขณะที่เห็นบุคคลกำลังได้รับความทุกข์ยากลำบากอยู่ หรือพิจารณาเห็นเหตุว่าจะได้รับความทุกข์ยากลำบากในกาลข้างหน้า โดยหน่วงนึกเอาสภาพของบุคคลที่ได้รับทุกข์นั้นมาเป็นอารมณ์ ที่เรียกว่า ทุกขิตสัตวบัญญัติ กรุณาอัปปมัญญานี้ องค์ธรรมได้แก่ กรุณาเจตสิก

๓. มุทิตาอัปปมัญญา หมายถึง การแผ่ความพลอยยินดีในเมื่อเห็นบุคคลอื่นได้ดีมีความสุขในขณะที่เห็นบุคคลกำลังประสบกับความสุขสบาย หรือประสบความสำเร็จในสิ่งที่หวัง หรือจะได้ประสบความสำเร็จในกาลข้างหน้าซึ่งได้พิจารณาเห็นเหตุนั้นแล้ว โดยหน่วงนึกเอาสภาพของบุคคลที่ได้ประสบความสุขนั้นมาเป็นอารมณ์ ที่เรียกว่า สุขิตสัตวบัญญัติ มุทิตาอัปปมัญญานี้ องค์ธรรมได้แก่ มุทิตาเจตสิก

๔. อุเบกขาอัปปมัญญา หมายถึง การแผ่ความวางเฉยต่อบุคคลผู้เป็นปานกลาง ที่นอกเหนือจากบุคคลทั้ง ๓ ข้างต้นนั้น หรือในบุคคลทั้ง ๓ ข้างต้นนั้น ที่ได้ผ่านพ้นสภาพอารมณ์ทั้ง ๓ อย่างข้างต้นนั้นมาแล้ว ซึ่งตนเองได้หมดภาระหน้าที่ที่จะต้องขวนขวายในอาการ ๓ อย่างนั้นแล้ว จึงวางใจเป็นกลางพิจารณาให้เห็นเป็นเรื่องกรรมของสัตว์โลก โดยหน่วงนึกเอาสภาพของบุคคลผู้เป็นปานกลางนั้นมาเป็นอารมณ์ ที่เรียกว่า มัชฌัตตสัตวบัญญัติ อุเบกขาอัปปมัญญานี้ องค์ธรรมได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก

หมายเหตุ... อัปปมัญญาทั้ง ๔ นี้ เป็นสภาพอารมณ์ที่ต้องนึกหน่วงเอาสภาพสัตวบัญญัติมาเป็นอารมณ์ แล้วแผ่อัปปมัญญานั้น ๆ ไปในสภาพสัตว์เหล่านั้น เพื่อให้จิตสงบแนบแน่นอยู่ในอารมณ์เพียงอย่างเดียว ในอัปปมัญญา ๔ อย่างนั้น เมตตา กรุณา มุทิตา อย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถเป็นอารมณ์กรรมฐานให้บรรลุถึงจตุตถฌานได้ และเมื่อจะเจริญปัญจมฌาน ต้องเปลี่ยนจากอัปปมัญญา ๓ อย่างนั้น อย่างใดอย่างหนึ่ง มาเป็นอุเบกขาอัปปมัญญา โดยหน่วงนึกเอาสภาพมัชฌัตตสัตวบัญญัติมาเป็นอารมณ์ จนจิตมีความสงบประณีตยิ่งขึ้นโดยลำดับ สามารถเปลี่ยนจากสุขเวทนามาเป็นอุเบกขาเวทนาได้และรูปาวจรปัญจมฌานจิตก็เกิดขึ้นพร้อมกับองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |