| |
บทสรุปเรื่องวิญญัติรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีฎีการุ.๓๘๔ ได้แสดงสรุปเนื้อหาของวิญญัติรูปไว้ดังต่อไปนี้

วิการรูปทั้ง ๒ [วิญญัติรูป ๒] มีลักษณะต่างกัน ดังนี้ การกระทบกับปถวีธาตุที่มีใจครอง เป็นหน้าที่ของปถวีธาตุที่เกิดจากจิต ส่วนการทำให้ปถวีธาตุนั้นกระทบกันด้วยความตั้งใจ โดยทำให้เกิดเสียงพูดที่ต้องการ เป็นหน้าที่ของกายวิญญัติ การทำเสียงพูดที่เกิดขึ้นพร้อมกับการกระทบ ให้ถึงความเป็นพยางค์นั้น ๆ เป็นหน้าที่ของวจีวิญญัติ

การกระทบกับปถวีธาตุที่มีใจครองเปรียบเหมือนพื้นกลอง ปถวีธาตุที่เกิดจากจิตเปรียบเหมือนมือที่ใช้ตีกลอง กายวิญญัติเปรียบเหมือนการเคลื่อนมือ วจีวิญญัติเปรียบเหมือนเสียงกลอง พยางค์ที่แตกต่างกันเปรียบเหมือนเสียงกลองที่แตกต่างกัน

ในคัมภีร์อรรถกถาแสดงไว้ว่า

อิทํ วกฺขามิ เอตํ วกฺขามีติ อุปฺปชฺชมานํ จิตฺตํ อฏฺรูปานิ สมุฏฺาเปติ ฯ เตสํ อพฺภนฺตเร จิตฺตสมุฏฺานา ปถวีธาตุ อุปาทินฺนกํ ฆฏฺฏยมานาว อุปฺปชฺชติ ฯ เตน ธาตุฆฏฺฏเนน สเหว สทฺโท อุปฺปชฺชติรุ.๓๘๕ ” ฯ แปลความว่า จิตที่เกิดขึ้นว่า “เราจักกล่าวคำนี้ เราจักกล่าวคำนั่น” ย่อมทำให้เกิดรูปกลาป ๘ รูป ปถวีธาตุที่เกิดจากจิตภายในรูปเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นกระทบกับปถวีธาตุที่มีใจครอง เสียงพูดย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับการกระทบของธาตุดังกล่าวนั้น

ปุริมจิตฺตสมุฏฺานาย อุปตฺถมฺภนกิจฺจมฺปิ นตฺถิรุ.๓๘๖ ” แปลความว่า หน้าที่ในการอุปถัมภ์ปถวีธาตุที่มีจิตดวงก่อนเป็นสมุฏฐานย่อมไม่มี

ข้อความนั้น หมายถึง เวลาที่มีพยางค์ปรากฏชัดในเมื่อชวนวาระหลายร้อยขณะเป็นไปอยู่ ดังสาธกในคัมภีร์มูลฎีกาว่า

อุปตฺถมฺภนกิจฺจํ นตฺถิ ลทฺธาเสวเนน จิตฺเตเนว ฆฏฺฏนสฺส พลวภาวโตรุ.๓๘๗ ” แปลความว่า หน้าที่ในการอุปถัมภ์ด้วยจิตที่ได้รับอาเสวนปัจจัยแล้วย่อมไม่มี เพราะการกระทบมีกำลัง

ในพากย์นี้ คำว่า “จิตที่ได้รับอาเสวนปัจจัยแล้ว” แสดงถึงการได้รับอาเสวนปัจจัยจากชวนวิถีจิตมาก่อน เพราะประสงค์ชวนจิตดวงแรกที่ได้รับอาเสวนปัจจัย และพยางค์หนึ่งที่ปรากฏชัด ย่อมไม่สำเร็จด้วยชวนวาระหนึ่งวิถีเท่านั้น

ในคัมภีร์มิลินทปัญหาแสดงเรื่องนี้ไว้ว่า

สาธิเก วีหิวาหสเต วิหีพีชานิ เอกจฺฉรกฺขเณ อุปฺปนฺนสฺส จิตฺตสฺส กลมฺปิ น อุเปนฺติ ฯ กลภาคมฺปิ น อุเปนฺติ ฯรุ.๓๘๘ ” แปลความว่า เมล็ดข้าวเปลือกในร้อยเล่มเกวียนกว่า ย่อมไม่เท่ากับส่วนหนึ่งใน ๑๖ ส่วนของจิตที่เกิดในขณะเดียวกัน

เมื่อบุคคลเปล่งเสียงพยางค์หนึ่ง ความขวนขวายของจิตในการเปล่งเสียงตลอดกาลเพียงนั้นย่อมปรากฏโดยสภาวธรรม บุคคลไม่อาจเปล่งเสียงหรือสดับโดยจำกัดว่า เราจะเปล่งเสียงเดียวหรือฟังเสียงเดียวได้ เพราะแม้จะจำกัดเช่นนั้น ก็มีการเปล่งเสียงหรือฟังเสียงหลายแสนครั้งโดยความเป็นเสียงก่อนและเสียงหลัง ผู้สำคัญว่าเป็นเสียงเดียวนั้นมีอยู่ เพราะเขาถูกปิดบังไว้ด้วยสมูหบัญญัติ [บัญญัติอาศัยหมู่] ฆนบัญญัติ [บัญญัติอาศัยกลุ่มก้อน] และสันตติบัญญัติ [บัญญัติอาศัยความต่อเนื่อง]

ในอธิการนี้ คำว่า วิญฺตฺติ มีความหมายว่า “ให้รับรู้” เหมือนข้อความที่ว่า “กาเยน วิญฺาเปติ วาจาย วิญฺาเปติ รุ.๓๘๙” แปลความว่า ให้รับรู้ทางกาย ให้รับรู้ทางวาจา หรือมีความหมายว่า “ทำให้เกิด” เหมือนข้อความที่กล่าวไว้ในสุทินนกัณฑ์ว่า “ติกฺขตฺตุ วิญฺาเปติรุ.๓๙๐ ” แปลความว่า ทำให้เกิด [เมถุนธรรม] ๓ ครั้ง ส่วนในที่นี้ ควรมีความหมายทั้ง ๒ อย่างนั้น หากเป็นไปตามนี้ก็มีการเกิดขึ้นของวิญญัติที่เป็นไปทางกายและทางวาจาสื่อสารทั้งหมด อันปราศจากความต้องการจะให้คนอื่นรับรู้ ดังที่ท่านแสดงไว้ในคัมภีร์มูลฎีกาว่า

ปรํ โพเธตุกามตาย วินาปิ อภิกฺกมนาทิปวตฺตเนน โส จิตฺตสหภูวิกาโร อธิปฺปายํ วิญฺาเปติ ฯ สยญฺจ วิญฺายตีติ ทฺวิธาปิ วิญฺตฺติเยวรุ.๓๙๑ ” แปลความว่า อาการที่เกิดร่วมกับจิตย่อมให้รับรู้ความมุ่งหมายหรือถูกคนอื่นรับรู้ได้ด้วยการทำให้เกิดการก้าวไปเป็นต้น โดยปราศจากความต้องการจะให้คนอื่นรับรู้ ชื่อว่า วิญญัติ โดยมีความหมาย ๒ นัย

ในบรรดาวิญญัติรูปทั้ง ๒ ที่มีความหมายว่า “รูปที่ทำให้รับรู้” นั้น กายวิญญัติย่อมถูกรับรู้ได้ด้วยชวนวิถีทางมโนทวารอย่างเดียว หลังจากรับรู้สีที่เคลื่อนไหวของอวัยวะน้อยใหญ่ด้วยจักขุวิญญาณวิถี [จักขุทวารวิถี] และรับรู้อวัยวะน้อยใหญ่ที่เคลื่อนไหวด้วยกายวิญญาณวิถี [กายทวารวิถี] แล้ว ส่วนวจีวิญญัติย่อมถูกรับรู้ได้ด้วยชวนวิถีทางมโนทวารอย่างเดียว หลังจากที่รับรู้เสียงซึ่งเปล่งออกด้วยโสตวิญญาณวิถี [โสตทวารวิถี] แล้ว บุคคลจะรับรู้วจีวิญญัติด้วยชวนวิถีทางปัญจทวารไม่ได้ เพราะวจีวิญญัติทำให้คนอื่นที่รู้จักตนรับรู้จิตของผู้มีร่างกาย แต่ทำให้คนอื่นที่ไม่รู้จักตนรับรู้ไม่ได้ เนื่องจากญาปกเหตุ [เหตุที่แสดงให้รู้] ย่อมทำให้คนที่รู้จักตนรับรู้ได้ แต่ทำให้คนที่ไม่รู้จักตนรับรู้ไม่ได้

ด้วยเหตุนั้น การรับรู้วิญญัติก่อนจึงเกิดแก่สัตว์เดรัจฉาน ซึ่งเห็นร่างกายที่เคลื่อนไหวกระทบสัมผัส หรือได้ยินเสียงแล้วรับรู้ความมุ่งหมายนั้น ๆ ของผู้อื่นได้อีกด้วย เพราะถ้าไม่มีการรับรู้วิญญัติ ก็รับรู้ความมุ่งหมายไม่ได้ การรับรู้ความมุ่งหมายของผู้รับรู้วิญญัติย่อมไม่มี โดยปราศจากการรับรู้ที่เนื่องกันกับการหมายรู้มาก่อน [คือสัญญาเก่ารู้ว่าเสียงนั้นหมายถึงอะไร จึงจะรู้ความหมายได้] ดังนั้น อาจารย์ทั้งหลายจึงประสงค์การหมายเอาความเกี่ยวเนื่องกันกับการหมายรู้มาก่อนอีกด้วย

ส่วนในวิญญัติรูปที่มีความหมายว่า “รูปที่ทำให้เกิด” นั้น เช่น บุคคลเห็นคนอื่นที่ก้าวไปทางจักขุวิญญาณวิถี [จักขุทวารวิถี] แล้ว ย่อมรับรู้วิญญัติที่ก้าวไปและจิตที่คิดก้าวไปด้วยมโนวิญญาณวิถี [มโนทวารวิถี] การถอยกลับเป็นต้นก็มีนัยเดียวกัน เช่นเดียวกันนี้ บุคคลฟังคำของคนอื่นด้วยโสตวิญญาณวิถี [โสตทวารวิถี] แล้ว ย่อมรับรู้วิญญัติคือคำพูดและจิตที่คิดจะพูดด้วยมโนวิญญาณวิถี [มโนทวารวิถี] เมื่อเห็นคนอื่นเคลื่อนไหวอวัยวะทางกายด้วยจิตที่กำหนัด ย่อมรับรู้วิญญัติที่เคลื่อนไหวและจิตที่กำหนัด เมื่อสดับคำของคนที่มีความกำหนัด ย่อมรับรู้วิญญัติที่พูดและจิตที่กำหนัด กิริยาทางกายและทางวาจาทุกอย่างมีนัยเดียวกัน

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๓๙๒ ท่านได้แสดงสรุปความเรื่องวิญญัติรูปไว้ดังต่อไปนี้

ก็ในอธิการแห่งวิญญัติรูปนี้ มีอุปมาทั่วไปแก่วิญญัติรูปทั้ง ๒ ดังกล่าวนี้ มโนทวารชวนวิถี มีระหว่างไม่ปรากฏ เป็นไปในลำดับแห่งการเห็น เพราะเห็นรูปศีรษะโคและใบตาลเป็นต้น ซึ่งเขายกขึ้นผูกไว้แล้วรู้เครื่องหมายแห่งรูปศีรษะโคเป็นต้น ซึ่งมีประดุจการเที่ยวไปกับด้วยน้ำแล้วจึงรู้ซึ่งน้ำ ฉันใด มโนทวารวิถีมีระหว่างไม่ปรากฏ เป็นไปในลำดับแห่งการยึด เพราะยึดกายที่ไหว เสียงที่เปล่งออก มีอุปนิสัยเนื่องด้วยความสำเร็จในก่อน รู้วิการที่มีความประสงค์ ฉันนั้น ฯ

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะรุ.๓๙๓ ได้แสดงสรุปความเรื่องวิญญัติรูปทั้ง ๒ ไว้ดังต่อไปนี้

บุคคลใดบุคคลหนึ่งเมื่อเวลาแสดงกิริยาอาการกวักมือ หรือพูดขึ้นแล้ว บุคคลอื่นย่อมรู้ความมุ่งหมายของบุคคลนั้นได้ ก็เพราะว่าการกวักมือหรือการพูดเป็นต้นนั้น มีอาการพิเศษเกิดขึ้นอยู่ด้วย อาการพิเศษนี้ เรียกว่า วิญญัติรูป และถ้าไม่มีวิญญัติรูปเสียแล้ว การเคลื่อนไหวของสัตว์ทั้งหลายก็ไม่ผิดอะไรกับการเคลื่อนไหวของใบไม้ และเสียงพูดของสัตว์ทั้งหลาย ก็ไม่ผิดอะไรกับเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ฝนตก เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ชนทั้งหลายย่อมจะรู้จิตใจซึ่งกันและกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น อาการพิเศษที่เกิดอยู่ในการเคลื่อนไหวและการพูดของสัตว์ทั้งหลาย จึงชื่อว่า วิญญัติรูป

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๓๙๔ ได้แสดงสรุปความเรื่องวิญญัติรูปทั้ง ๒ ไว้ดังต่อไปนี้

วิญญัติรูปที่กล่าวแล้วทั้ง ๒ อย่างนี้ ผู้ใดผู้หนึ่งได้แสดงกิริยาอาการกวักมือหรือการพูดเป็นต้นนั้น ย่อมมีอาการพิเศษเกิดอยู่ด้วย อาการพิเศษนี้ เรียกว่า วิญญัติรูป ถ้าอาการพิเศษนั้นเกิดขึ้นโดยอาศัยอาการทางกาย ก็เรียกว่า กายวิญญัติรูป ถ้าอาการพิเศษนั้นเกิดขึ้นโดยทางวาจา ก็เรียกว่า วจีวิญญัติรูป แต่ถ้าไม่มีวิญญัติรูปทั้ง ๒ อย่างนี้แล้ว อาการเคลื่อนไหวทั้งหลายของสัตว์ก็ไม่ผิดอะไรกับการเคลื่อนไหวของกิ่งไม้ใบไม้ และเสียงของสัตว์ทั้งหลายก็ไม่ผิดอะไรกับเสียงฝนตก ฟ้าร้อง เหล่านี้เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว คนทั้งหลายก็ไม่อาจรู้กิริยาอาการที่แสดงออกจากจิตใจของกันและกันได้เลย เพราะฉะนั้น อาการพิเศษที่เกิดอยู่ในอาการเคลื่อนไหวทางกาย และการพูดของคนทั้งหลายนั้นต้องมีอยู่ ซึ่งเรียกว่า วิญญัติรูป นั่นเอง

บทสรุปของผู้เขียน :

วิญญัติรูปทั้ง ๒ ที่กล่าวมาแล้วนี้ เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งได้แสดงปฏิกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งทางกายหรือทางวาจา ได้แก่ การเดิน การกวักมือ การโบกมือ หรือการพูด การร้องเพลง การร้องไห้ เป็นต้นออกมา ย่อมมีอาการพิเศษเกิดอยู่ด้วย อาการพิเศษนี้ เรียกว่า วิญญัติรูป

ถ้าอาการพิเศษนั้นเกิดขึ้นโดยอาศัยอาการทางกาย ก็เรียกว่า กายวิญญัติรูป ถ้าอาการพิเศษนั้นเกิดขึ้นโดยอาศัยวาจา ก็เรียกว่า วจีวิญญัติรูป

ถ้าไม่มีวิญญัติรูปทั้ง ๒ นี้แล้ว อาการเคลื่อนไหวของสัตว์ทั้งหลาย ก็จะไม่มีอาการพิเศษแต่ประการใด ย่อมไม่ต่างอะไรกับการเคลื่อนไหวของต้นไม้ต้นหญ้าหรือสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย ที่เคลื่อนไหวด้วยแรงลมหรือสิ่งอื่นทำให้เคลื่อนไหว ไม่สามารถเคลื่อนไหวด้วยตนเองได้ และเสียงของสัตว์ทั้งหลาย ก็ไม่ต่างอะไรกับเสียงธรรมชาติ มีฟ้าร้อง ฟ้าผ่า หรือลมพัด เป็นต้น ที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุภายนอกเป็นปัจจัย เมื่อเป็นเช่นนี้ คนทั้งหลายก็ไม่อาจรู้ความหมายของกิริยาอาการที่แสดงออกมาจากจิตใจของกันและกันได้ เพราะฉะนั้น อาการพิเศษที่เกิดอยู่ในการเคลื่อนไหวทางกายและทางวาจาของคนและสัตว์ทั้งหลายนั้นต้องมีอยู่ด้วยอำนาจแห่งจิตเป็นสมุฏฐาน ซึ่งเรียกว่า วิญญัติรูป นั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |