| |
ประเภทของจิต   |  

จิตนี้เมื่อจำแนกโดยประเภทแห่งภูมิ คือ ระดับชั้นของจิตแล้ว มี ๔ ประเภทด้วยกัน ดังพระบาลีที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์ได้แสดงไว้ว่า “ตัตถะ จิตตัง ตาวะ จะตุพพิธัง โหติ กามาวะจะรัง รูปาวะจะรัง อะรูปาวะจะรัง โลกุตตะรัญเจติ” แปลความว่า ในปรมัตถธรรมทั้ง ๔ นั้น จิตปรมัตถ์ที่แสดงไว้เป็นอันดับแรกในอารัมภบทนั้นมี ๔ ประเภท คือ กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิต และโลกุตตร จิต ดังมีความหมายและรายละเอียดต่อไปนี้

๑. กามาวจรจิต หมายถึง จิตที่ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดของวัตถุกามและกิเลสกามโดยมาก หมายความว่า เป็นจิตที่เกิดกับกามบุคคล รับกามอารมณ์โดยมาก หรือจิตที่เป็นไปตามอำนาจแห่งกามตัณหา ได้แก่ ความยินดีติดใจในกามคุณอารมณ์ คือ รูป [สีต่าง ๆ] เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธัมมารมณ์ อันน่าใคร่น่าปรารถนาน่าชอบใจโดยมาก แบ่งเป็น ๓ จำพวกคือ อกุศลจิต ๑๒ อเหตุกจิต ๑๘ กามาวจรโสภณจิต ๒๔

๒. รูปาวจรจิต หมายถึง จิตที่ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดของรูปวัตถุและรูปกิเลสโดยมาก หรือ เป็นจิตที่เป็นไปตามอำนาจแห่งรูปตัณหา คือ ความยินดี ติดใจในรูปภพ หรือ รูปฌาน โดยมาก หมายความว่า จิตเหล่านี้ทั้งหมดล้วนแต่รับอารมณ์ของรูปฌาน ได้แก่ บัญญัติอารมณ์ต่าง ๆ มี กสิณ เป็นต้น มีจำนวน ๑๕ ดวง คือ รูปาวจรกุศลจิต ๕ รูปาวจรวิปากจิต ๕ รูปาวจรกิริยาจิต ๕ อนึ่ง จิตเหล่านี้พร้อมด้วยเจตสิก ๓๕ ดวงที่ประกอบร่วมด้วยนั้น ย่อมเป็นอารมณ์ของกิเลสได้ จึงเรียกว่า รูปวัตถุ และกิเลสที่ยึดเอารูปฌาน หรือรูปภพ ของตนหรือของบุคคลอื่นมาเป็นอารมณ์ เรียกว่า รูปกิเลส อีกนัยหนึ่ง เหล่าปุถุชนทั้งหลาย ที่เกิดความยินดีพอใจในรูปภพ ปรารถนาการเกิดในรูปภูมิ จึงได้เจริญรูปฌานให้เกิดขึ้น แล้วได้ไปเกิดในรูปภูมินั้นสมความปรารถนา เมื่อเกิดแล้วย่อมเกิดความยินดีพอใจในความเป็นรูปพรหมนั้น ฉะนั้น จึงเรียกว่า รูปตัณหา

๓. อรูปาวจรจิต หมายถึง จิตที่ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดแห่งอรูปวัตถุหรืออรูปกิเลสโดยมาก หรือ เป็นจิตที่เป็นไปตามอำนาจแห่งอรูปตัณหา คือ ความยินดีติดใจในอรูปภพ หรือ อรูปฌาน โดยมาก หมายความว่า จิตเหล่านี้ล้วนแต่รับอารมณ์ของอรูปฌาน [โดยเฉพาะแต่ละอย่าง] มีกสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ เป็นต้น มีจำนวน ๑๒ ดวง คือ อรูปาวจรกุศลจิต ๔ อรูปาวจรวิปากจิต ๔ อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ อนึ่ง จิตเหล่านี้พร้อมด้วยเจตสิก ๓๐ ดวงที่ประกอบร่วมด้วยนั้น ย่อมเป็นอารมณ์ของกิเลส จึงเรียกว่า อรูปวัตถุ และกิเลสที่ยึดเอาอรูปฌาน หรืออรูปภพ ของตนหรือของบุคคลอื่นมาเป็นอารมณ์ เรียกว่า กิเลสอรูป อีกนัยหนึ่ง เหล่าปุถุชนทั้งหลายที่เกิดความยินดีพอใจในอรูปภพ ปรารถนาการเกิดในอรูปภูมิ จึงได้เจริญอรูปฌานให้เกิดขึ้น แล้วได้ไปเกิดในอรูปภูมินั้นสมความปรารถนา เมื่อเกิดแล้วย่อมเกิดความยินดีพอใจในความเป็นอรูปพรหมนั้น ฉะนั้น จึงเรียกว่า อรูปตัณหา

๔. โลกุตตรจิต หมายถึง จิตที่มีสภาพพ้นไปจากความยินดีติดใจภพทั้ง ๓ หรือเป็นจิตที่ไม่ได้เป็นไปตามอำนาจแห่งตัณหาทั้ง ๓ หมายความว่า เป็นจิตที่ไม่ได้รับอารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับภพภูมิทั้ง ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ และไม่ได้เป็นไปตามอำนาจแห่งกามตัณหา รูปตัณหา และ อรูปตัณหา อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นจิตที่รับอารมณ์ที่พ้นไปจากสภาพแห่งโลกทั้ง ๓ และพ้นจากขอบเขตแห่งตัณหาทั้ง ๓ คือ พระนิพพาน อย่างเดียว จึงชื่อว่า โลกุตตรจิต


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |