| |
ประเภทของชรตารูป   |  

ชรตารูป เป็นรูปที่ไม่ได้เกิดจากสมุฏฐานอย่างใดอย่างหนึ่งเลย เป็นเพียงอาการแก่ของนิปผันนรูปเท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่มีประเภทที่แตกต่างกันออกไปโดยสมุฏฐาน

ส่วนความชราของสิ่งทั้งปวงทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรมนั้น ท่านพระอรรถกถาจารย์แสดงไว้ ๙ ประเภทรุ.๔๔๐ คือ

๑. วโยวุทธิชรา คือ ความชราที่เกิดขึ้นตามลำดับ โดยมีอาการปรากฏต่าง ๆ เช่น ผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยว เส้นเอ็นปรากฏ หลังโกง เป็นต้น

๒. สันตติชรา คือ ความชราของรูปนามที่เกิดขึ้นติดต่อกันเรื่อย ๆ ไม่ขาดสาย จนถึงตาย อุปมาเหมือนคนที่เป็นไข้ ในขณะที่ไข้กำลังกำเริบขึ้นนั้นเปรียบได้กับสันตติชาติ เมื่อไข้ค่อย ๆ ลดลง เปรียบได้กับสันตติชรา

๓. ขณิกชรา คือ ฐีติกขณะของรูปและนามที่ปรากฏเกิดขึ้นสืบต่อกันโดยอาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ที่เป็นขณะเล็ก

๔. ปากฏชรา คือ ความชราที่ปรากฏ ได้แก่ วโยวุทธิชรา นั่นเอง

๕. ปฏิจฉันนชรา คือ ความชราที่ปกปิด ไม่สามารถมองเห็นได้ หรือพิจารณาเห็นได้ยาก ได้แก่ ความชราของนามธรรมทั้งหลาย

๖. อวีจิชรา คือ ความชราที่ปรากฏให้รู้ได้ยาก ได้แก่ ความเสื่อมของแก้วแหวนเงินทอง เพชร นิล จินดา พระอาทิตย์ พระจันทร์ เด็ก ชายหนุ่ม หญิงสาว เป็นต้น

๗. สวีจิชรา คือ ความชราที่ปรากฏให้รู้ได้ง่าย ได้แก่ ความเสื่อมของรถ อาคารบ้านเรือน วัตถุสิ่งของต่าง ๆ และคนแก่ สัตว์แก่ ต้นไม้แก่ เป็นต้น

๘. ปรมัตถชรา คือ ความชราที่เป็นปรมัตถ์ ซึ่งได้แก่ ฐีติกขณะของรูปและนาม เหมือนกับขณิกชรา

๙. ปัณณัตติชรา คือ ความชราต่าง ๆ ที่เป็นสมมุติ ที่นอกจากขณิกชราและปรมัตถชรา ดังกล่าวแล้ว

ชรา ๒ ประเภท

ความชราทั้ง ๙ ประการดังกล่าวแล้วนั้น เมื่อสรุปแล้วย่อมมี ๒ ประเภทรุ.๔๔๑ คือ

๑. ปฏิจฉันนชรา หรือ อปากฎชรา หมายถึง ความแก่ที่ปกปิด หรือความแก่ที่ไม่ปรากฏ หรือความแก่ที่สังเกตรู้ได้ยาก ได้แก่ ความแก่ของเด็ก หรือคนหนุ่มคนสาว หรือความแก่ของสิ่งไม่มีชีวิตบางอย่าง ที่เรียกว่า อนินทริยพัทธรูป คือ รูปที่ไม่เกี่ยวเนื่องด้วยอินทรีย์ซึ่งเป็นกัมมชรูป เช่น ภูเขา แผ่นดิน น้ำ เป็นต้น ซึ่งเป็นรูปของสิ่งที่ไม่มีชีวิต เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อวีจิชรา

๒. อัปปฏิจฉันนชรา หรือ ปากฎชรา หมายถึง ความแก่ที่ไม่ปกปิด หรือความแก่ที่ปรากฏให้เห็นได้ชัด ได้แก่ อาการผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยว หลังโกง เป็นต้น หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สวีจิชรา

บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่คลอดจากครรภ์มารดาแล้วเจริญเติบโตเป็นหนุ่มสาวขึ้นมา ความชราที่ปรากฏ คือ ผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยวย่น เป็นต้นเหล่านี้ยังไม่ปรากฏออกมาให้เห็น อันที่จริงแล้ว ในระหว่างนี้ย่อมมีความชราอยู่แล้ว แต่เป็นความชราที่เป็นชนิดปฏิจฉันนชรา คือ ความชราที่ปกปิด หรืออวีจิชรา คือ ความชราที่ไม่ปรากฏ เมื่อผ่านวัยหนุ่มสาวเข้าสู่วัยชราแล้ว อาการผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยวย่น เป็นต้นย่อมปรากฏขึ้น ความชราย่อมปรากฏออกมาให้เห็นได้ชัดเจน เรียกว่า อัปปฏิจฉันนชรา หรือปากฏชรา คือ ความชราที่ปรากฏ แม้ในบรรดารูปของสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลาย ที่เรียกว่า อนินทริยพัทธรูป คือ รูปที่ไม่เกี่ยวเนื่องด้วยชีวิตินทรีย์ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ต้นไม้ ภูเขา เป็นต้น ตลอดถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในโลกทั้งปวง ย่อมมีความชราเข้าครอบงำด้วยกันทั้งนั้น และความชราของสิ่งเหล่านี้ ก็มี ๒ อย่างเช่นเดียวกัน บางพวกก็มีแต่ปฏิจฉันนชราอย่างเดียว ได้แก่ ดิน น้ำ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ เพชร นิล จินดา เป็นต้น ซึ่งเป็นความชราที่ไม่ปรากฏ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อวีจิชรา คือ ความชราที่รู้ได้ยาก

ส่วนต้นไม้ ตึก อาราม บ้านช่อง และสิ่งของต่าง ๆ ที่นอกจากภูเขา ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ เป็นต้นที่กล่าวแล้วนั้น ย่อมมีทั้งที่เป็น ปฏิจฉันนชรา และ อัปปฏิจฉันนชรา ทั้ง ๒ อย่าง และความชราที่อยู่ในรูปเหล่านี้ เรียกว่า สวีจิชรา คือ ความชราที่รู้ได้ง่าย เพราะปรากฏให้เห็นความชรานั้น ๆ ได้ เช่น รถยนต์ เรือยนต์ เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |