| |
ลักขณาทิจตุกะของมนสิการเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของมนสิการเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์ได้เป็นพิเศษไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. สาระณะลักขะโณ มีการชักนำสัมปยุตตธรรมให้ตรงเข้าสู่อารมณ์ เป็นลักษณะ หมายความว่า ธรรมชาติของมนสิการนี้ เป็นสภาวธรรมที่นำสัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนนั้นให้มุ่งตรงสู่อารมณ์อยู่เสมอ เช่น เมื่อรูปารมณ์มากระทบกับจักขุประสาทแล้ว จักขุวิญญาณจิตและสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ย่อมเกิดขึ้น มนสิการเจตสิกที่ประกอบกับจักขุวิญญาณจิต ย่อมเป็นผู้นำให้จิตและเจตสิกทั้งหมดมุ่งตรงไปสู่รูปารมณ์นั้น โดยไม่ให้หันเหไปในอารมณ์อื่น แม้ในอารมณ์อื่น ๆ ทางทวารอื่น ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ เพราะฉะนั้น มนสิการเจตสิกจึงอุปมาเหมือนนายสารถีที่ชักม้าให้เข้าสู่เส้นทางที่ตนต้องการให้ไปและควบม้าให้วิ่งตรงไปตามเส้นทางนั้น โดยไม่ให้ซัดส่าย เหลียวซ้ายแลขวาหรือหันเหไปทางอื่น ฉันนั้น

๒. สัมปะโยชะนะระโส มีการทำให้สัมปยุตตธรรมประกอบในอารมณ์ เป็นกิจ หมายความว่า มนสิการนี้ทำให้จิตและเจตสิกทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับตนได้รับรู้อารมณ์อยู่เสมอ ไม่ให้ว่างเว้นจากอารมณ์เลยแม้แต่ขณะเดียว ด้วยเหตุนี้ จิตและเจตสิกทุกดวงที่เกิดขึ้นมา จึงต้องมีการรับรู้อารมณ์ด้วยกันทั้งนั้น ขาดจากอารมณ์ไม่ได้ ไม่มีจิตหรือเจตสิกดวงใดที่เกิดขึ้นมาแล้ว ไม่มีการรับรู้อารมณ์เลย แม้ในเวลาหลับสนิทอยู่ ภวังคจิตและเจตสิกที่เกิดขึ้น ย่อมมีการรับรู้อารมณ์ของตนเช่นเดียวกัน ในบรรดาอารมณ์ ๓ อย่าง คือ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ชวนจิตรับเอามาจากภพก่อนในเวลาใกล้ตาย แต่สภาพของอารมณ์และภวังคจิตนั้น มีความละเอียดมาก บุคคลทั้งหลายย่อมไม่สามารถรู้ได้ว่าตนเองรับอารมณ์อะไรในเวลาหลับสนิท จึงมีแต่พระพุทธเจ้าเท่านั้นที่สามารถทราบความรู้สึกของภวังคจิตและอารมณ์ของภวังคจิตนั้นได้ เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า จิตและเจตสิกทุกดวงที่เกิดขึ้นมาแล้ว ต้องมีการรับรู้อารมณ์ด้วยกันทั้งสิ้น ที่เป็นดังนี้ ก็เพราะอำนาจของมนสิการเจตสิกนั่นเองเป็นผู้ชักนำให้สัมปยุตตธรรมมุ่งตรงสู่อารมณ์

๓. อารัมมะณาภิมุขีภาวะปัจจุปปัฏฐาโน มีการบ่ายหน้าตรงต่ออารมณ์ เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า เมื่อบัณฑิตทั้งหลายพิจารณาถึงสภาพของมนสิการเจตสิกนี้ด้วยปัญญาอันละเอียดลึกซึ้งแล้ว ย่อมรู้ได้ว่า มนสิการเจตสิกนี้ มีการมุ่งสู่อารมณ์อยู่เสมอ เป็นอาการปรากฏ เพราะฉะนั้น การที่จิตและเจตสิกเกิดขึ้นมาแล้ว สามารถรับรู้อารมณ์ได้ทันที ทั้งที่จิตและเจตสิกนั้น เป็นธรรมชาติที่มีการเกิดดับเป็นไปอย่างรวดเร็วมากก็ตาม แต่ก็ไม่มีจิตและเจตสิกดวงไหนเลย ที่พลาดจากอารมณ์ไปได้ ทั้งนี้ก็เพราะสภาวะของมนสิการเจตสิกที่เกิดพร้อมกันจิตและเจตสิกเหล่านั้นมีการมุ่งตรงต่ออารมณ์และชักนำให้สัมปยุตตธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับตนให้มุ่งตรงสู่อารมณ์ด้วยนั่นเอง ที่เป็นไปดังนี้ เพราะเป็นไปตามสภาพของมนสิการเจตสิก ซึ่งไม่มีใครมาบงการหรือบังคับบัญชาให้เป็นไปแต่อย่างใด

๔. อารัมมะณะปะทัฏฐาโน มีอารมณ์เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า มนสิการเจตสิกจะเกิดขึ้นได้ต้องมีอารมณ์ปรากฏขึ้นก่อน ถ้าไม่มีอารมณ์ปรากฏขึ้นแล้ว มนสิการเจตสิกย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะเกิดขึ้นมาแล้วไม่รู้จักมุ่งตรงไปสู่สิ่งใด หรือไม่รู้จักชักนำสัมปยุตตธรรมไปสู่สิ่งใดได้ เพราะสภาพของมนสิการเจตสิก มีความเกี่ยวเนื่องกับอารมณ์เป็นลำดับแรก คือ มีลักษณะที่บ่ายหน้าสู่อารมณ์และชักนำสัมปยุตตธรรมให้มุ่งสู่อารมณ์ด้วยนั่นเอง เพราะฉะนั้น อารมณ์จึงเป็นเหตุใกล้ที่สุดที่ทำให้มนสิการเจตสิกเกิดขึ้น ซึ่งได้แก่ อารมณ์ที่เป็นไปในกาลทั้ง ๓ คือ อดีต อนาคต ปัจจุบัน และกาลวิมุตติ คือ อารมณ์ที่ไม่เป็นตามไปกาลทั้ง ๓ ซึ่งได้แก่ พระนิพพานและบัญญัติ อารมณ์ทั้งหมดเหล่านี้ ล้วนเป็นเหตุใกล้ให้มนสิการเจตสิกเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

อดีตอารมณ์ หมายเอาอารมณ์ที่เป็นไปในอดีตภพ คือ อารมณ์ที่เกิดขึ้นในภพชาติก่อนซึ่งเคยได้รับมาแล้ว และอารมณ์ที่เป็นไปในปัจจุบันภพ คือ อารมณ์ในภพชาติปัจจุบันนี้ ซึ่งเคยได้รับผ่านมาแล้วนั่นเอง

ส่วนอนาคตอารมณ์นั้น หมายเอาอารมณ์ที่เป็นไปในปัจจุบันภพ คือ อารมณ์ที่จะปรากฏในกาลข้างหน้าในภพชาติปัจจุบันนี้ และอารมณ์ที่เป็นไปในอนาคตภพ คือ อารมณ์ที่จะปรากฏให้ได้รับในภพชาติหน้าต่อไป เมื่อตายจากภพชาตินี้แล้วไปเกิดในภพชาติใหม่


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |