| |
การเจริญวิญญาณัญจายตนฌาน   |  

ในเบื้องต้น อากาสานัญจายตนฌานลาภีบุคคล ต้องฝึกฝนอากาสานัญจา ยตนฌานที่ตนได้แล้วนั้นให้ชำนาญในวสีทั้ง ๕ ก่อน จากนั้น จึงเข้าอากาสานัญจา ยตนฌาน เมื่อออกจากอากาสานัญจายตนฌานแล้ว ก็พิจารณาให้เห็นโทษของ อากาสานัญจายตนฌานว่า “อากาสานัญจายตนฌานนี้ยังเป็นฌานที่ใกล้กับรูปา วจรปัญจมฌาน [หรือจตุตถฌาน] ที่เป็นข้าศึกกันอยู่ ถ้าไม่หมั่นเข้าอากาสานัญจา ยตนฌานสมาบัติอยู่เสมอ ก็อาจตกไปอยู่ในระดับรูปาวจรปัญจมฌานได้อีก ทั้งสมาธิที่เกิดจากอากาสานัญจายตนฌานนี้ ก็ยังหยาบกว่าสมาธิที่เกิดจากวิญญาณัญจายตนฌานด้วย” เมื่อพิจารณาเห็นโทษของอากาสานัญจายตนฌานเช่นนี้แล้ว ก็นำใจออกห่างจากกสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัตินิมิตอันเป็นอารมณ์ของอากาสานัญจายตนฌานนั้น แล้วใฝ่ใจนึกหน่วงเอาอากาสานัญจายตนฌานที่ดับไปแล้วมาเป็นอารมณ์แทนที่ของกสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัตินิมิตนั้น โดยบริกรรมว่า วิญญาณัง อะนันตัง ๆ แปลว่า วิญญาณไม่มีที่สุด ๆ เช่นนี้เรื่อยไป จนจิตปราศจากนิกันติตัณหาในกสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัตินิมิตนั้นแล้ว ต่อจากนั้น จิตก็ขึ้นสู่อุปจารสมาธิต่อไป ในไม่ช้ากสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัตินิมิตก็จักหายไปจากจิตใจ อนึ่ง พระโยคีบุคคลนั้น ต้องพยายามยกจิตให้ก้าวล่วงกสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัตินิมิตที่ติดอยู่ในใจนั้นให้ได้ เมื่อก้าวล่วงได้แล้ว อากาสานัญจายตนนิมิตก็จะปรากฏขึ้นมาแทนที่ เมื่อนั้น วิญญาณัญจายตนฌาน ก็จักปรากฏเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอาอากาสานัญจายตนนิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์อย่างแนบแน่น

อนึ่ง เหตุที่พระโยคีบุคคลนั้นทั้งที่พิจารณาเห็นโทษของอากาสานัญจายตนฌานแล้ว แต่เมื่อจะเจริญวิญญาณัญจายตนฌานต่อไป ก็ยังต้องใฝ่ใจในอากาสานัญจายตนฌานนั้นอีก ที่เป็นเช่นนี้ เพราะวิญญาณัญจายตนฌานจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยอากาสานัญจายตนฌานเป็นอารมณ์ในการยึดหน่วง ถ้ามิเช่นนั้นแล้ว วิญญาณัญจายตนฌานก็จะไม่มีอะไรจะยึดหน่วงเป็นอารมณ์ได้ อุปมาเหมือนมหาดเล็กของพระราชา แม้จะพิจารณาเห็นโทษของพระราชาโดยประการต่าง ๆ แล้วก็ตาม แต่ก็จำต้องแสดงความจงรักภักดีสวามิภักดิ์และคอยปรนนิบัติรับใช้พระราชาของตนอยู่นั่นเอง เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งพำนักพักพิงอาศัย และเพื่อความเจริญก้าวหน้าของตนต่อไป ข้อนี้ฉันใด วิญญาณัญจายตนฌานนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน จำต้องอาศัยอากาสานัญจายตนฌานนั้นเป็นเครื่องยึดหน่วงให้เกิดขึ้นได้และดำเนินไปได้

วิญญาณัญจายตนฌาน มีชื่อ ๓ อย่าง คือ

๑. ชื่อว่า อรูปฌาน เพราะฌานนี้ปราศจากอารมณ์ที่เป็นรูป กล่าวคือ มีสภาพที่ไม่ใช่รูปเป็นอารมณ์ ได้แก่ อากาสานัญจายตนนิมิต [ซึ่งเป็นนามธรรม]

๒. ชื่อว่า วิญญาณัญจายตนฌาน เพราะฌานนี้ มีความมั่นคง ตั้งอยู่อย่างไม่หวั่นไหว เกิดขึ้นโดยอาศัยวิญญาณคือความรู้สึกที่ไม่ปรากฏว่า เบื้องต้นคือความเกิด และเบื้องปลายคือความดับ นั้นอยู่ที่ตรงไหน เพราะว่า มีแต่สภาพความรู้สึกที่ซึมซาบเอิบอาบจนท่วมท้นจิตใจไม่มีที่สุดไม่มีประมาณเท่านั้นปรากฏเป็นอารมณ์

๓. ชื่อว่า ทุติยารุปปฌาน เพราะวิญญาณัญจายตนฌานนี้ เกิดขึ้นเป็นลำดับที่ ๒ ในบรรดาอรูปฌานทั้ง ๔


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |