| |
เหตุให้เกิดมหากุศลอสังขาริก ๖ ประการ   |  

มหากุศลจิตที่เป็นอสังขาริก ๔ ดวงนั้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย ๖ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๑. อะสังขาริกะกัมมะชะนิตะปะฏิสันธิกะตา เป็นผู้มีปฏิสนธิจิตเกิดจากกุศลกรรมที่เป็นอสังขาริกจิต หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ปฏิสนธิมาด้วยปฏิสนธิจิตที่เป็นอสังขาริก ๕ ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิปากจิต ๑ ซึ่งเกิดเป็นมนุษย์ที่ไม่สมประกอบทางด้านจิตใจหรือร่างกายบกพร่องด้วย หรือเป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาที่เป็นจำพวกเทวดาชั้นต่ำต้อย ไร้รัศมีและความรุ่งเรือง [ในกรณีนี้หมายเอาเฉพาะบุคคลที่มีอุปนิสัยสมบัติเป็นพิเศษในกุศลประเภทนั้น ๆ เท่านั้น คือ มีความคุ้นเคยในการกระทำกุศลเช่นนั้นมาเป็นอย่างดี] หรือเกิดด้วยมหาวิบากที่เป็นอสังขาริกจิต ๔ ดวงใดดวงหนึ่ง ที่เกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาในกามสุคติภูมิ ๗ ภูมิใดภูมิหนึ่ง ซึ่งมีอุปนิสัยสมบัติในกุศลประเภทนั้น ๆ เป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เป็นผู้ที่มีความริเริ่มในการทำกุศลนั้น ๆ ด้วยตนเอง ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้น กระทำกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองมีความถนัดเจนจัดและชำนาญเป็นอย่างดีนั้น มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงเป็นมหากุศลอสังขาริกจิตได้

๒. กะละละกายะจิตตะกะตา เป็นผู้มีความสุขกายสบายใจ หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่ไม่ค่อยมีความวิตกกังวลในเรื่องต่าง ๆ มากนัก คือ เป็นผู้มีความสุขกายสบายใจ ไม่ค่อยมีเรื่องวิตกกังวลใด ๆ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมาเบียดเบียน ไม่มีปัญหาอุปสรรคมาขัดขวาง หรือไม่มีใครมาทำให้ขัดข้องหมองใจ เข้าทำนองว่า “ไม่อกหัก ไม่หลักลอย ไม่คอยงาน สังขารไม่เสื่อม” หรือในสถานการณ์ที่ว่า “บุญพา วาสนาช่วย ที่ป่วยก็หาย ที่หน่ายก็รัก” หรือเป็นผู้ที่รู้จักปรับจิตปรับใจให้ปลอดโปร่งโล่งสบาย แม้จะมีปัญหาอุปสรรคมารุมเร้ามากมายเพียงใดก็ตาม แต่ก็พยายามตั้งสติหยุดคิดพิจารณาหาหนทางแก้ไขให้ลุล่วงไปด้วยดี และรู้จักปลดปล่อยความตึงเครียดต่าง ๆ ให้ออกไปจากจิตใจ โดยไม่นำเอามาเป็นเครื่องวิตกกังวลให้เกิดความตึงเครียดหรือกลัดกลุ้มใจ ให้รกสมองเล่นเปล่า ๆ พยายามทำใจให้สบาย ฝึกมองโลกในแง่ดี คิดว่า “ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไขและมีทางออกที่ดีเสมอ” หรือคิดว่า “ชีวิตคือการต่อสู้ ปัญหาและอุปสรรคคือยาชูกำลัง” ดังนี้เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บุคคลนั้น เป็นผู้ที่มีจิตใจเข้มแข็งและหนักแน่น เป็นผู้มีความมั่นใจในตนเอง มีความพร้อมในการกระทำกิจต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี จึงเป็นผู้ที่มีความริเริ่มในการทำกุศลนั้น ๆ ด้วยตนเอง ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นกระทำกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองมีความถนัดเจนจัดและชำนาญเป็นอย่างดีนั้น มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงเป็นมหากุศลอสังขาริกจิตได้

๓. สีตุณหาทีนัง ขะมะนะพะหุละตา เป็นผู้ที่มีความอดทนต่อความเย็นและ ความร้อนเป็นต้นจนเคยชิน หมายความว่า เป็นผู้ที่ผ่านความลำบาก ทนร้อน ทนหนาวมามาก ผ่านประสบการณ์ในชีวิตมามาก เรียนรู้การงานต่าง ๆ มามาก สามารถตัดสินใจทำกิจการงานนั้น ๆ ได้โดยไม่ต้องให้ใครชักชวน ด้วยเหตุนี้ ในเวลาทำกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองมีความถนัดเจนจัดและชำนาญเป็นอย่างดี จึงเป็นผู้ที่มีความริเริ่มในการทำกุศลนั้น ๆ ด้วยตนเอง ฉะนั้น มหากุศลจิตที่เกิดกับบุคคลนั้น จึงเป็นมหากุศลอสังขาริกจิตได้

๔. กัตตัพพะกัมเมสุ ทิฏฐานิสังสะตา เป็นผู้ที่เคยเห็นผลในการงานที่จะพึงทำ หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานและได้ประสบผลสำเร็จในการงานที่ทำนั้นเสมอ หรือเคยเห็นอานิสงส์ของบุญกุศลที่จะทำนั้น เช่น ทำบุญกุศลแล้ว ทำให้ชีวิตดีขึ้น หน้าที่การงานดีขึ้น สุขภาพร่างกายแข็งแรง ครอบครัวอยู่กันอย่างมีความสุข ญาติพี่น้อง มิตรสหาย รักใคร่เอ็นดู บ่าวไพร่จงรักภักดี เป็นต้น เข้ากับภาษิตที่ว่า “บุญกุศลตนสร้างถูกทางธรรม โจรไม่นำหนีเราเอาไปเสีย เพราะหลักเกณฑ์บุญนี้ไม่มีเรี่ย [เรี่ยรายกระจัดกระจาย] ไม่เสื่อมเสียเหมือนทรัพย์นับอนันต์” ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้มีความสุขกายสบายใจ ปลอดโปร่งโล่งใจ มีความมั่นใจว่า บุญกุศลนั้นย่อมให้ผลดีมีความสุขได้จริง ทำให้เป็นผู้ที่มีความริเริ่มในการทำกุศลนั้น ๆ ด้วยตนเอง ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นกระทำบุญกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองมีความถนัดเจนจัดและชำนาญเป็นอย่างดีแล้ว มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงเป็นมหากุศลอสังขาริกจิตได้

๕. กัมเมสุ จิณณะวะสิตา เป็นผู้มีความชำนาญในการงานที่จะพึงกระทำนั้นเป็นอย่างดี หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจ หรือมีความถนัดเจนจัดและชำนาญในวิธีการที่จะกระทำสิ่งนั้นให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และสามารถทำได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องมีใครคอยบอกคอยสอน หรือไม่มีเหตุที่จะทำให้เกิดความลังเลไม่มั่นใจแต่อย่างใด เช่น คนที่เคยทำบุญตักบาตรพระเป็นประจำ เมื่อเห็นพระอุ้มบาตรเดินมา ก็รู้ได้ทันทีว่า พระมาบิณฑบาต จึงไปตักข้าวมาใส่บาตรพระได้ทันที โดยไม่ต้องมีใครคอยบอกคอยแนะนำหรือคอยกระตุ้นเตือนแต่อย่างใด ดังนี้เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีความริเริ่มในการทำกุศลนั้น ๆ ด้วยตนเอง ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นกระทำกุศลต่าง ๆ ที่ตนเอง มีความถนัดเจนจัดและชำนาญเป็นอย่างดีแล้ว มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงเป็นมหากุศลอสังขาริกจิตได้

๖. อุตุโภชะนาทิสัปปายะลาภะตา ได้รับสิ่งที่เป็นสัปปายะ หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีอากาศดี และมีปัจจัยเครื่องอุปโภคบริโภคที่เหมาะสม ไม่มีความขัดสนหรือเดือดร้อนแต่ประการใด จึงทำให้เกิดความปลอดโล่งใจ มีความสุขกายสบายใจ มีความพร้อมที่จะทำกิจการงานต่าง ๆ หรือในเวลาที่ทำกุศลนั้น ๆ ก็มีปัจจัยที่เพียบพร้อมบริบูรณ์ตามที่ตนเองต้องการ เหมาะสมแก่ฐานะของตนเอง หรือได้ปฏิคาหกผู้รับทานตามที่ตนเองต้องการ จึงทำให้มีความเบิกบานใจ หรือมีความมั่นใจในการกระทำกุศลนั้น ๆ อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บุคคลนั้น เป็นผู้ที่มีความริเริ่มในการทำกุศลนั้น ๆ ด้วยตนเอง ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นกระทำกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองมีความถนัดเจนจัดและชำนาญเป็นอย่างดีแล้ว มหากุศลจิตที่เกิดแก่กับบุคคลนั้น จึงเป็นมหากุศลอสังขาริกจิตได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |