| |
ญาณสัมปยุตต์ ๖ ประการ   |  

จิตที่เป็นญาณสัมปยุตต์ หมายถึง จิตที่เกิดพร้อมด้วยปัญญามี ๖ ประการ คือ

๑. กัมมัสสกตาปัญญา หมายถึง ปัญญาที่รู้เห็นว่า สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของ ๆ ตน มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งที่อาศัย ตนเป็นทายาทผู้รับผลของกรรมที่ตนได้กระทำไว้แล้ว จะดีหรือชั่วก็ตาม ดังนี้เป็นต้น ซึ่งเกิดได้ด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ

๑] ปุพเพ กตปุญญตา เคยทำบุญที่เกี่ยวกับปัญญาไว้ในชาติปางก่อน ทำให้เกิดมามีปัญญา คือ มีความเข้าใจในความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายได้ด้วยตนเอง เรียกว่า สชาติกปัญญา ก็ได้

๒] ปฏิรูปเทสวาโส การได้อยู่ในสังคมที่เหมาะสม ซึ่งบุคคลโดยมากเป็นสัมมาทิฏฐิ ทำให้ได้เห็นตัวอย่างหรือแบบแผนที่ดี ถือเป็นทิฏฐานุคตินำไปประพฤติปฏิบัติตามให้เกิดปัญญาได้

๓] สัปปุริสูปนิสสโย การได้คบหาสมาคมกับสัตบุรุษผู้มีปัญญา ทำให้ได้เห็นตัวอย่างที่ดี ยึดถือเป็นแบบแผนประพฤติปฏิบัติให้เกิดปัญญาได้

๔] สัทธัมมัสสวนัง การได้ฟังพระสัทธรรมของสัตบุรุษ ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในความเป็นไปของโลกและชีวิต ตลอดถึงสรรพสิ่งทั้งปวงได้

๕] อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ในทางที่ชอบ ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ เป็นผู้เปิดใจรองรับคุณงามความดีได้ง่าย เมื่อได้รับคำบอกคำสอนของสัตบุรุษแล้ว ย่อมรับรู้และเข้าใจได้โดยง่าย

๒. โยนิโสมนสิการ หมายถึง การคิดพิจารณาและทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ในสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายได้อย่างถูกต้องและกว้างขวางยิ่งขึ้น

๓. ปรโตโฆสะ หมายถึง การได้รับการบอก การสอน การแนะนำสั่งสอนจากบุคคลผู้เป็นกัลยาณมิตร เช่น บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา ญาติมิตร ครูอุปัชฌาย์ อาจารย์ พระพุทธเจ้า พระสงฆ์ เป็นต้น ทำให้เกิดปัญญา มีความรู้ความเข้าใจ ในสิ่งต่าง ๆ มากขึ้นโดยลำดับ

๔. วิปัสสนาปัญญา หมายถึง ปัญญาที่เข้าไปรู้เห็นรูปนามที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย โดยสภาพความเป็นจริง คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนา จนวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นโดยลำดับ

๕. ฌานสัมมาทิฏฐิ หมายถึง เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในวิธีการทำฌานได้อย่างถูกต้อง จนสามารถทำฌานจิตให้เกิดขึ้นได้ ฉะนั้น ฌานจิตทุกดวง จึงมีปัญญาประกอบร่วมด้วยเสมอ จึงจัดเป็นญาณสัมปยุตตจิตทั้งหมด

๖. โลกุตตรปัญญา หมายถึง ปัญญาที่ประกอบในโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ อันเป็นตัวปัญญาสัมมาทิฏฐิที่เป็นองค์มรรคนั่นเอง ซึ่งในโลกุตตรจิตทั้งหมด ย่อมมีปัญญาเกิดพร้อมด้วยทุกดวงเช่นเดียวกัน จึงจัดเป็นญาณสัมปยุตตจิตทั้งหมด และโลกุตตรจิต ๔๐ นั้น นับเข้าในฌานจิตด้วยเช่นกัน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |