| |
ความสัมพันธ์ระหว่างโอชาทั้ง ๒   |  

ความสัมพันธ์ระหว่างอัชฌัตตโอชากับพหิทธโอชาหรือกัมมชโอชากับอุตุชโอชา ที่เกิดอยู่ภายในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายนั้น ในบรรดาโอชาทั้ง ๒ อย่างนี้ อัชฌัตตโอชา หรือ กัมมชโอชา มีหน้าที่ช่วยอุปถัมภ์ให้อาหารชรูปเกิดขึ้นในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย เรียกว่า อุปถัมภกสัตติ ส่วน พหิทธโอชา หรือ อุตุชโอชา นั้น มีหน้าที่ทำให้อาหารชรูปเกิดขึ้นในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายโดยตรง เรียกว่าชนกสัตติ หมายความว่า อัชฌัตตโอชาหรือกัมมชโอชานั้น เป็นอาหารธาตุที่เกิดจากกรรมซึ่งติดมาแต่กำเนิด เป็นเพียงฐานรองรับให้อาหารชรูปเกิดขึ้นในร่างกายของสัตว์นั้น ๆ เท่านั้น แต่ถ้าสัตว์นั้น ๆ ไม่ได้บริโภคอาหารจากภายนอกเข้าไปแล้ว อาหารชรูปย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นในร่างกายของสัตว์นั้น ๆ ได้ ในที่สุดสัตว์นั้น ๆ ก็ต้องตายไป ต่อเมื่อสัตว์นั้นได้บริโภคอาหารจากภายนอกเข้าไป ที่อัชฌัตตโอชาสามารถรองรับได้แล้วเท่านั้น อัชฌัตตโอชานั่นแหละจึงจะช่วยอุปถัมภ์ให้อาหารชรูปเกิดขึ้นในร่างกายของสัตว์นั้นได้ และสัตว์นั้นจึงจะมีชีวิตอยู่ได้ เพราะอัชฌัตตโอชาไม่สามารถสร้างอาหารชรูปให้เกิดขึ้นโดยลำพังตนเองได้นั่นเอง เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวได้ว่า ในบรรดาโอชาทั้ง ๒ อย่างนี้ กัมมชโอชา ย่อมมีความสำคัญมากกว่าพหิทธโอชา เพราะเป็นผู้ช่วยอุปถัมภ์ให้อาหารชรูปเกิดขึ้นในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายได้มากกว่า อุตุชโอชา เพราะถ้าอัชฌัตตโอชาหรือกัมมชโอชาในร่างกายของสัตว์ใด มีประสิทธิภาพน้อยหรือมีกำลังอ่อน อาหารภายนอกที่สัตว์นั้นบริโภคเข้าไป ย่อมย่อยสลายและซึมซาบเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้น้อย แต่ถ้าอัชฌัตตโอชาหรือกัมมชโอชาในร่างกายของสัตว์ใด มีประสิทธิภาพมากหรือมีกำลังมาก อาหารภายนอกที่สัตว์นั้นบริโภคเข้าไปย่อมย่อยสลายและซึมซาบเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้มากตามไปด้วย ตัวอย่างเช่น คนที่ชราภาพมากแล้ว แม้จะให้บริโภคอาหารอย่างดีเข้าไปอย่างไรก็ตาม ย่อมไม่สามารถบริโภคเข้าไปได้ หรือบริโภคเข้าไปได้ไม่มากนัก ไม่ค่อยอร่อย และอาหารบางอย่างที่คนชรานั้นบริโภคเข้าไปแล้ว อาจย่อยยากหรือไม่สามารถย่อยสลายได้เลย เพราะฉะนั้น อาหารเหล่านั้นจึงมีประโยชน์ต่อร่างกายของคนชราน้อยหรือไม่มีประโยชน์เลย ที่เป็นดังนี้ เพราะอัชฌัตตโอชาของคนชรานั้นมีกำลังน้อยคืออ่อนสภาพลงแล้วนั่นเอง ซึ่งต่างจากเด็กหรือคนหนุ่มคนสาว จะบริโภคอะไรเข้าไป ก็รู้สึกอร่อย บริโภคได้มาก และบริโภคได้บ่อย ๆ ที่เป็นดังนี้ ก็เพราะอัชฌัตตโอชาของบุคคลเหล่านี้ ยังมีกำลังมากหรือมีสภาพแข็งแรง เนื่องจากกรรมที่ทำให้อัชฌัตตโอชาเกิดขึ้นแก่บุคคลเหล่านี้ยังมีกำลังมากอยู่นั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตาม พหิทธโอชาหรืออุตุชโอชา ก็มีส่วนช่วยอุปถัมภ์หรือทำลายอัชฌัตตโอชาหรือกัมมชโอชาได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ ถ้าบุคคลใดบริโภคแต่พหิทธโอชาหรืออุตุชโอชาที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและเว้นจากสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายเสีย เมื่อเป็นเช่นนี้ พหิทธโอชาที่มีประโยชน์เหล่านั้น ย่อมทำให้อัชฌัตตโอชาหรือกัมมชโอชาของบุคคลนั้นมีประสิทธิภาพในการใช้งานได้มากและดำรงอยู่ได้เป็นเวลานาน [ตามอำนาจแห่งกรรมของแต่ละบุคคล] แต่ถ้าบุคคลใดบริโภคแต่พหิทธโอชาหรืออุตุชโอชาที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายหรือไม่เป็นสัปปายะต่ออัชฌัตตโอชาในร่างกายอยู่เสมอ เมื่อเป็นเช่นนี้ พหิทธโอชานั้นย่อมทำให้อัชฌัตตโอชาหรือกัมมชโอชาของบุคคลนั้นลดประสิทธิภาพในการใช้งานลง และทำให้ใช้งานได้ไม่นาน หรือใช้งานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ หรือถ้าพหิทธโอชานั้นมีสภาพเป็นปฏิปักษ์ต่ออัชฌัตตโอชาหรือร่างกายของสัตว์นั้นอย่างรุนแรง เช่น ยาพิษร้ายแรง หรืออาหารแสลงหนัก เป็นต้น ย่อมทำให้อัชฌัตตโอชาของบุคคลนั้นหมดอายุการใช้งานไปก่อนอำนาจแห่งกรรม กล่าวคือ ทำให้ระบบการย่อยอาหารเสียไป อาจทำให้ถึงอาการป่วยหนักอย่างรุนแรงหรือถึงแก่ความตายในเวลาอันรวดเร็วก็ได้ เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ฉลาดในการรักษาตน พึงรู้จักประมาณตน แล้วเลือกบริโภคแต่อาหารที่เป็นอุปการะต่อร่างกายของตนเท่านั้น ไม่ควรตามใจปากหรือตามใจกิเลส มัวเมาบริโภคแต่ของที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายของตนเข้าไป เพื่อรักษาชีวิตและร่างกายให้ดำรงอยู่ได้ยิ่งยืนนานนั่นเอง

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคอรรถกถารุ.๕๘๓ ท่านพระพุทธโฆสาจารย์แสดงเรื่องอาหารที่บุคคลบริโภคเข้าไปไว้ดังนี้ เอกทิวสํ ปริภูตตฺตาหาโร สตฺตาหมฺปิ อุปตฺถมฺเภติ ฯ แปลความว่า อาหารที่สัตว์ได้บริโภคเข้าไปในวันหนึ่งนั้น ย่อมรักษาร่างกายให้ทรงอยู่ได้ภายใน ๗ วัน

ที่กล่าวนี้ มุ่งหมายถึงในมนุษย์โลกนี้เท่านั้น คนที่ได้บริโภคอาหารเข้าไปวันหนึ่งแล้ว ย่อมจะรักษาร่างกายให้ทรงอยู่ได้ถึง ๗ วัน โดยไม่ต้องบริโภคอาหารอีก ถ้าเลย ๗ วันไปแล้ว พหิทธโอชาที่ถูกย่อยสลายซึมซาบเข้าไปในร่างกาย ย่อมหมดกำลังในการอุปถัมภ์ลง ทำให้อัชฌัตตโอชาไม่สามารถเกิดสืบเนื่องต่อไปได้ และทำให้บุคคลนั้นถึงแก่ความตายได้

การเกิดขึ้นแห่งอาหารชรูปของสัตว์ที่เกิดในครรภ์มารดานั้น อาหารชรูปเริ่มเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ ๒ หรือสัปดาห์ที่ ๓ นับตั้งแต่ปฏิสนธิกาลเป็นต้นไป กล่าวคือ ในขณะที่สัตว์นั้นมีสภาพเป็นอัพพุทะ คือ มีลักษณะเป็นหยาดน้ำสีแดง ๆ เหมือนน้ำล้างเนื้อ หรือเป็นเปสิ คือ มีลักษณะเป็นชิ้นเนื้อเหลว ๆ ในระหว่างนั้น เมื่อมารดาบริโภคอาหารเข้าไปและย่อยสลายกลายเป็นโอชาซึมซาบเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายแล้ว โอชานั้นก็เริ่มแผ่ซึมซาบเข้าไปสู่ร่างกายของทารกที่อยู่ในครรภ์ของมารดานั้น แล้วทำให้อาหารชรูปเกิดขึ้นในร่างกายของทารกนั้นต่อไป

ส่วนสัตว์ที่เป็นสังเสทชกำเนิด [เกิดในเถ้าไคลหรือที่ชื้นแฉะ] หรือโอปปาติกกำเนิด [เกิดผุดขึ้นเติบโตทันที เฉพาะสัตว์ที่ต้องบริโภคอาหาร ได้แก่ มนุษย์บางคน เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน เทวดาชั้นต่ำ บางประเภท] เมื่อเกิดขึ้นมาขณะแรกนั้น ร่างกายมีอวัยวะครบบริบูรณ์ทันที ยังมิได้บริโภคอาหารใด ๆ เข้าไปเลย แต่อาศัยเสมหะและน้ำลายของตนกลืนล่วงลำคอเข้าไปแล้ว โอชาแห่งเสมหะและน้ำลายนั้นย่อมซึมซาบเข้าสู่ร่างกายกลายเป็นอาหารชรูปหล่อเลี้ยงร่างกายของบุคคลเหล่านั้นในเบื้องต้น ต่อมาบุคคลเหล่านั้นย่อมบริโภคอาหารต่าง ๆ เข้าไป ตามประเภทแห่งอาหารของตน ๆ โอชาในอาหารเหล่านั้นย่อมซึมซาบเข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายของสัตว์นั้น ๆ ต่อไป

รวมความว่า อาหารชรูปย่อมเกิดขึ้น เมื่อโอชาแห่งอาหารต่าง ๆ ได้ซึมซาบเข้าสู่ร่างกายของสัตว์นั้น ๆ แล้ว และอาหารชรูปนี้ย่อมเกิดขึ้นทุกอนุขณะของจิต คือ อุปปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ ตลอดเวลาติดต่อกันไปอย่างไม่ขาดสาย จนกว่าสัตว์นั้นจะตายลง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |