| |
กุศลวิตก ๓ อย่าง   |  

๑. เนกขัมมวิตก หมายถึง ความตรึกในการหลีกออกจากกาม หมายความว่า เป็นการดำริไปในการสำรวมงดเว้นจากกาม อันเนื่องมาจากการพิจารณาเห็นโทษเห็นความเศร้าหมองของกามแล้ว ดำริไปในทางที่จะหลีกออกจากกาม ทั้งด้วยการออกบวชของบุคคลผู้ไม่ต้องการอยู่ครองเรือนก็ดี หรือด้วยการสำรวมงดเว้นไม่เกี่ยวข้องด้วยกามทั้งหลายของบุคคลผู้ต้องการอยู่ครองเรือนก็ดี ชื่อว่า เนกขัมมวิตก ซึ่งตรงข้ามกับกามวิตก

๒. อัพยาปาทวิตก หมายถึง ความตรึกในความไม่อาฆาตพยาบาทจองเวร หมายความว่า การดำริไปในการสงบระงับความอาฆาตพยาบาทที่มีอยู่ในจิตใจให้บรรเทาเบาบางและสงบระงับไป ด้วยวิธีการเจริญเมตตาพรหมวิหาร แผ่ความรักความปรารถนาดีไปให้แก่บุคคลทั้งหลายก็ดี ด้วยวิธีการเจริญกรุณาพรหมวิหาร แผ่ความสงสารความเห็นใจก็ดี ด้วยวิธีการเจริญมุทิตาพรหมวิหาร แผ่ความพลอยยินดีไปในบุคคลผู้ได้ดีมีสุขก็ดี หรือด้วยวิธีเจริญอุเบกขาพรหมวิหาร แผ่ความเป็นกลางไปในสัตว์ทั้งหลายก็ดี ซึ่งวิธีการเหล่านี้ เป็นการแผ่ไปด้วยใจที่สหรคตด้วยพรหมวิหารธรรม แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องอาศัยอยู่เป็นสุขของพรหม ซึ่งพรหมทั้งหลายเป็นผู้ข่มโทสะไว้ได้ด้วยอำนาจแห่งฌานสมาบัติ เพราะฉะนั้น พวกพรหมทั้งหลาย จึงไม่มีโทสะเกิดขึ้นเลย ตลอดอายุขัยที่เกิดเป็นพรหม เมื่อบุคคลใช้พรหมวิหารธรรมเป็นเครื่องระงับความอาฆาตพยาบาทจองเวรอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ชื่อว่า อพยาปาทวิตก ซึ่งตรงข้ามกับพยาปาทวิตก

๓. อวิหิงสาวิตก หมายถึง ความตรึกนึกในความไม่เบียดเบียน หมายความว่า การดำริไปในทางที่จะไม่เบียดเบียนล้างผลาญกัน ทำความคิดอาฆาตเคียดแค้นที่มีอยู่ในจิตใจให้บรรเทาเบาบางและสงบระงับไป ด้วยวิธีการดำริไปในเรื่องสันติธรรม คือ ความสงบสุขของสังคมที่ปราศจากเวรภัยทั้งปวง โดยพิจารณาเห็นโทษของการจองเวรกันที่ไม่มีที่สิ้นสุด ดังนี้ชื่อว่า อวิหิงสาวิตก ซึ่งตรงข้ามกับวิหิงสาวิตก

กุศลวิตกทั้ง ๓ ประการนี้ เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ แปลว่า ความดำริชอบ ซึ่งเป็นความดำริที่เป็นไปตามอำนาจกุศลธรรมที่มีกำลังเหนือกว่าสัมปยุตตธรรมอย่างอื่น ทำให้เกิดกุศลจิต มีความคิดสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงามเกิดขึ้นต่อไปได้ อันเป็นหนทางไปสู่สุคติภูมิ ตลอดถึงให้บรรลุมรรคผลพระนิพพานในที่สุด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |