| |
ลักขณาทิจตุกะของสัมมาวาจาเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของสัมมาวาจาเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. ปะริคคะหะลักขะณา มีการกำหนดถือเอา เป็นลักษณะ หมายความว่า สัมมาวาจาเจตสิกนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมกำหนดเลือกเอาแต่คำพูดที่ดีมีสาระแก่นสาร เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนเองและบุคคลอื่น ได้แก่ คำพูดที่จริง คำพูดที่ประสานไมตรี คำพูดอ่อนหวาน และคำพูดที่มีสาระประโยชน์ถูกกาละเทสะ ย่อมไม่กำหนดถือเอาคำพูดที่ไร้สาระประโยชน์ คือ คำพูดที่เกี่ยวกับวจีทุจริต ๔ ประการ มีการพูดเท็จ เป็นต้น นี้เป็นลักษณะพิเศษหรือเอกลักษณ์เฉพาะตนของสัมมาวาจาเจตสิกที่เป็นเครื่องงดเว้นจากวจีทุจริตทั้งปวง

๒. วิระมะณะระสา มีเจตนาเป็นเครื่องงดเว้น เป็นกิจ หมายความว่า หน้าที่ของสัมมาวาจาเจตสิก ย่อมเกิดพร้อมด้วยเจตนาเป็นเครื่องงดเว้นจากทุจริตกรรมทางวาจาทั้ง ๔ ได้แก่ การพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ในขณะที่บุคคลจะล่วงละเมิดวจีทุจริต ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น แล้วทำการงดเว้นจากวจีทุจริต ๔ เหล่านั้นได้ ด้วยสัมปัตตวิรัติ คือ การงดเว้นในขณะที่ประจวบเหมาะกับสิ่งที่จะล่วงละเมิด หรือด้วยสมาทานวิรัติ คือ การงดเว้นโดยการสมาทานตั้งใจไว้ก่อน ตลอดจนถึงการงดเว้นด้วยสมุจเฉทวิรัติ คือ การตัดขาดจากขันธสันดาน ด้วยอำนาจมรรคญาณแต่ละชั้น

๓. มิจฉาวาจัปปะหานะปัจจุปปัฏฐานา มีการกำจัดการพูดผิด เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า สัมมาวาจาเจตสิกนี้ ย่อมมีการกำจัดการพูดผิด ได้แก่ การพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ หรือพูดเพ้อเจ้อ ออกไป ด้วยอำนาจตทังคปหาน คือ การละได้ชั่วครั้งชั่วคราวในขณะที่ตั้งใจงดเว้นวจีทุจริตที่ประสบเฉพาะหน้า หรือวิกขัมภนปหาน คือ การข่มทับไว้ด้วยอำนาจแห่งฌานกุศล หรือสมุจเฉทปหาน คือ การตัดขาดด้วยอำนาจแห่งมรรคญาณ

๔. ปัญญาปะทัฏฐานา มีปัญญาเครื่องพิจารณา เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมาย ความว่า การที่บุคคลจะเกิดจิตสำนึกในการที่จะงดเว้นจากทุจริตทุราชีพได้ด้วยใจบริสุทธิ์นั้น จะต้องเป็นผู้มีปัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กัมมัสสกตาปัญญา วิปัสสนาปัญญา หรือโลกุตตรปัญญา เพราะถ้าบุคคลไม่มีปัญญารู้และเข้าใจตามความเป็นจริงดังกล่าวแล้ว ย่อมทำการงดเว้นจากบาปธรรมเหล่านั้นโดยสุจริตใจไม่ได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |