| |
ลักขณาทิจตุกะของปัญญินทรียเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของปัญญินทรียเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ซึ่งไม่เหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. ยะถาภูตะปะฏิเวธะลักขะณา มีการรู้แจ้งตามความเป็นจริง เป็นลักษณะ [รู้ตามสมมุติสัจจะ หรือ ปรมัตถสัจจะ]

๒. วิสะโยภาสะนะระสา วา ธัมมานัง ปฏิจฉาทะกะโมหันธะการะวิทธังสะนะระสา มีการกระทำอารมณ์ให้แจ่มแจ้ง เป็นกิจ หรือ มีการกำจัดความมืด คือ อวิชชา อันปกปิดสภาวธรรม เป็นกิจ

๓. อะสัมโมหะปัจจุปปัฏฐานา มีความไม่หลงในอารมณ์ เป็นอาการปรากฏ

๔. โยนิโสมะนะสิการะปะทัฏฐานา วา อินท๎ริยะปากะตาปะทัฏฐานา วา กิเลสะทูรีภาวะปะทัฏฐานา วา ติเหตุกะปะฏิสันธิกะตาปะทัฏฐานา วา สะมาธิปะทัฏฐานา มีโยนิโสมนสิการ เป็นเหตุใกล้ หรือ มีวัยที่บริบูรณ์ด้วยปัญญา [ปัญญาทสกวัย] เป็นเหตุใกล้ หรือ มีความห่างไกลจากกิเลส เป็นเหตุใกล้ หรือมีติเหตุกปฏิสนธิ เป็นเหตุใกล้ หรือมีสมาธิ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

ปัญญามีการส่องแสง เป็นลักษณะและมีการรู้ทั่ว เป็นลักษณะ เหมือนบุคคลจุดประทีปให้สว่างในเวลากลางคืน ในบ้านที่มีฝา ๔ ด้าน ความมืดย่อมหายไป แสงสว่างย่อมปรากฏ ฉันใด ปัญญาย่อมมีการส่องสว่าง ฉันนั้น

ปัญญา เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่เป็น กุศล อกุศล ควรเสพ ไม่ควรเสพ เลว ประณีต ดำ ขาว เข้ากันได้ เข้ากันไม่ได้ เหมือนแพทย์ผู้ฉลาด ย่อมรู้เภสัช อันเป็นที่สบายและไม่สบาย แก่ผู้ป่วย ฉันนั้น

ปัญญา มีการแทงตลอดสภาวะ เป็นลักษณะ เหมือนการแทงไม่ผิดพลาด ของลูกศรที่นายขมังธนูผู้ฉลาดเก่งกาจยิงไป ฉันนั้น

ปัญญามีการส่องให้เห็นอารมณ์ เป็นกิจ ดุจแสงประทีป มีการไม่หลงไหล เป็นอาการปรากฏ เปรียบเหมือนผู้ชี้ทางแก่บุคคลผู้เดินทางไปมา ฉันนั้น

ปัญญาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมทั้งหลาย ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ทั้งที่ควรเสพและไม่ควรเสพ ทั้งเลวและประณีต ทั้งที่เข้ากันได้และเข้ากันไม่ได้ เปรียบเหมือนนายแพทย์ผู้ฉลาด ย่อมรู้จักเภสัช อันเป็นที่สบาย และไม่เป็นที่สบายของคนไข้ทั้งหลาย

สภาวะของปัญญานั้น เมื่อว่าโดยอรรถ ได้แก่ สภาพที่ทำให้ปรากฏ คือ ทำเนื้อความนั้น ๆ ให้แจ่มแจ้ง หรือ รู้ธรรมทั้งหลายโดยประการต่าง ๆ คือรู้ว่า มีภาวะที่ไม่เที่ยง เป็นต้น สภาวะของปัญญาจึงเป็นไปอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่โลกียปัญญา จนถึงโลกุตตรปัญญา

กัมมัสสกตาปัญญาและวิปัสสนาปัญญา จัดว่าเป็นโลกียปัญญา คือ ปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการรู้โลกียอารมณ์ มี รูปารมณ์ เป็นต้นตามความเป็นจริง ซึ่งได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ประกอบกับกามาวจรโสภณญาณสัมปยุตตจิต ๑๒ ดวง และมหัคคตจิต ๒๗ ดวง

ส่วนโลกุตตรปัญญานั้น เป็นปัญญาที่ไม่เกี่ยวกับการรู้โลกียอารมณ์ แต่เป็นการรู้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นอารมณ์พิเศษ ที่พ้นจากการปรุงแต่งใด ๆ ในโลก ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ประกอบกับโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ดวง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |