| |
ลักษณะของผู้ที่วางเฉยโดยตัตตรมัชฌัตตตา ๗ ประการ   |  

การที่จะพิจารณาสำรวจดูว่า บุคคลใดสามารถบรรลุถึงความเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์แล้วนั้น พึงสังเกตด้วยกิริยาที่แสดงออกในชีวิตประจำวัน ๗ ประการ คือ

๑. สัพพัตถะ อุเปกขะโก เป็นผู้วางเฉยได้ในอารมณ์ทั้งปวง หมายความว่า บุคคลที่บรรลุถึงความเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์นั้นย่อมเป็นผู้มีความวางเฉยในอารมณ์ทั้งปวงได้ โดยไม่แสดงอาการยินดียินร้าย หรือแสดงอาการขึ้นลงของจิตใจ เมื่อได้ประสบกับอารมณ์ต่าง ๆ คือ ถ้าได้ประสบกับอารมณ์ที่น่ายินดี เรียกว่า อิฏฐารมณ์ ย่อมแสดงอาการตื่นเต้นยินดีมีจิตใจเฟื่องฟูขึ้น แต่ถ้าได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่น่ายินดี เรียกว่า อนิฏฐารมณ์ ย่อมแสดงอาการซึมเศร้า โกรธ ไม่พอใจ จิตใจห่อเหี่ยวฟุบแฟ๊บลง เมื่อมีอาการอย่างนี้ย่อมตัดสินได้ว่า ยังไม่บรรลุความเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ต่อเมื่อมีความมั่นคงไม่หวั่นไหววางใจเป็นกลางได้ในอารมณ์ทั้งปวง ไม่แสดงการขึ้นลงหรือฟุบแฟ๊บ จึงตัดสินได้ว่า เป็นผู้บรรลุถึงความเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ได้อย่างแท้จริง

๒. สะติมา เป็นผู้มีสติระลึกรู้สึกตัวอยู่เสมอ หมายความว่า บุคคลผู้เจริญภาวนาจนถึงความเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์แล้ว ย่อมเป็นผู้มีสติระลึกรู้สึกตัวเท่าทันต่อเหตุการณ์และสามารถระวังรักษาจิตใจของตนให้เป็นปกติได้ในทุกสถานการณ์โดยไม่ปล่อยใจให้หลงไหลไปตามกระแสกิเลส หรือปล่อยใจไปตามสภาพอารมณ์ ย่อมเป็นผู้สามารถควบคุมจิตของตนเองได้ ไม่ให้เกิดความยินดีในเมื่อได้ประสบกับอิฏฐารมณ์และไม่ให้เกิดความยินร้ายในเมื่อได้ประสบกับอนิฏฐารมณ์ ย่อมเป็นผู้มีจิตใจหนักแน่นมั่นคง ยอมรับกับสภาวการณ์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นรายล้อมชีวิตได้

๓. นะ โส หิงสะติ กัญจิ สัพพะโลเก ไม่เบียดเบียนใคร ทั้งสัตว์และบุคคลทั้งปวง ด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ หมายความว่า บุคคลผู้เจริญภาวนาจนเข้าถึงความเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์แล้ว ย่อมเป็นผู้มีจิตเป็นกลางในสัตว์บุคคลและสรรพสิ่งทั้งปวงได้ โดยไม่แสดงอาการรักใคร่ชอบใจในสัตว์บุคคลหรือสิ่งของที่น่าชอบใจ และไม่แสดงอาการทุกข์ร้อนในสัตว์หรือบุคคลที่ได้ประสบความทุกข์ โดยพิจารณาตามกฎแห่งกรรมของสัตว์ทั้งหลาย ไม่แสดงอาการตื่นเต้นยินดีในสัตว์หรือบุคคลที่มีความสุขประสบความสำเร็จ และไม่แสดงอาการไม่ชอบใจ โกรธ เบื่อหน่าย หรือหงุดหงิดรำคาญใจในสัตว์บุคคลหรือวัตถุสิ่งของที่ไม่น่าชอบใจ เมื่อวางใจเป็นกลางได้ในสัตว์และบุคคลทั้งหลายโดยพิจารณารู้เท่าทันเหตุปัจจัยของสรรพสัตว์ทั้วปวงด้วยปัญญาอันแยบคายแล้ว บุคคลนั้นย่อมไม่มีจิตคิดเบียดเบียนสัตว์และบุคคลทั้งหลายด้วยกาย วาจา และใจ

๔. โอฆะติณโณ เป็นผู้ข้ามพ้นจากโอฆสงสาร หรือ มุ่งปฏิบัติเพื่อการข้ามพ้นจากโอฆสงสาร หมายความว่า บุคคลผู้เจริญอุเบกขาภาวนาจนบรรลุถึงความเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์อย่างสูงสุดแล้ว ย่อมเป็นผู้ที่ข้ามพ้นจากโอฆสงสารทั้ง ๔ ประการได้ คือ กาโมฆะ ห้วงน้ำคือกาม ภโวฆะ ห้วงน้ำคือภพ ทิฏโฐฆะ ห้วงน้ำคือความเห็นผิด และอวิชโชฆะ ห้วงน้ำคือวิชชา ซึ่งแสดงว่าบุคคลนั้นได้บรรลุถึงคุณธรรมสูงสุดเป็นพระอรหันต์ ถ้าละได้เพียงทิฏโฐฆะ ย่อมชื่อว่าเป็นพระโสดาบันหรือพระสกิทาคามี ถ้าละทิฏโฐฆะและกาโมฆะทั้ง ๒ อย่าง ได้ชื่อว่า เป็นพระอนาคามี ส่วนภโวฆะและอวิชโชฆะนั้น พระอรหันต์เท่านั้นที่สามารถละได้เด็ดขาด หรือแม้บุคคลจะยังละโอฆสงสาร ๔ อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้โดยเด็ดขาด แต่ทำใจให้ปราศจากโอฆะกิเลสเหล่านี้ไม่ให้ครอบงำจิตได้ ด้วยคุณธรรม ๓ ประการ คือ อาตาปี มีความเพียรเครื่องเผากิเลสให้เร่าร้อน สติมา มีสติกำหนดรู้เท่าทันอารมณ์อยู่เสมอ สัมปชาโน มีปัญญารู้เท่าทันสภาวะของอารมณ์ทั้งปวง เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ ย่อมชื่อว่า เป็นผู้มุ่งปฏิบัติเพื่อข้ามพ้นจากโอฆสงสาร

๕. สะมะโณ เป็นผู้สงบเสงี่ยมเจียมตนในทุกสถานการณ์ หมายความว่า บุคคลผู้เจริญภาวนาจนบรรลุถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์แล้ว ย่อมเป็นผู้ที่สงบเสงี่ยมเจียมตน ไม่มีอาการเย่อหยิ่งจองหองด้วยอำนาจมานะทิฏฐิ ย่อมวางตนเป็นกลางได้ในบุคคลทุกระดับชั้น และมีความสำรวมอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ระวังทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เพื่อมิให้ความยินดีและความยินร้ายเกิดขึ้น เมื่อได้ประสบกับอารมณ์ต่าง ๆ ทั้งที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา เป็นผู้มีความสุขุมคัมภีรภาพ วางตนน่าเคารพนับถือและน่ายำเกรง ไม่มีอาการทะยานอยากดิ้นรนในวัตถุกามและกิเลสกาม

๖. อะนาวิโล เป็นผู้มีจิตใจไม่ขุ่นมัว หมายความว่า บุคคลผู้เจริญภาวนาจนถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์แล้ว ย่อมเป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ ปราศจากอคติในบุคคลทั้งหลาย มีเจตนาดีในการกระทำการงานทุกอย่าง โดยไม่มีอกุศลแอบแฝงอยู่เบื้องหลัง เรียกว่า มีความงดงามบริสุทธิ์ทั้งใจที่วางและทางที่ดำเนิน คือว่า เป็นผู้วางใจเป็นกลางได้ในสัตว์บุคคลและวัตถุสิ่งของทั้งปวงโดยไม่มีอคติ ๔ ได้แก่ ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก โทสาคติ ลำเอียงเพราะไม่ชอบ โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง และภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว พร้อมทั้งดำเนินชีวิตไปตามแนวทางแห่งความเป็นกลางนั้นด้วย

๗. อุสสะทา ยัสสะ นะ สันติ ไม่มีกิเลสที่ทำให้ใจฟูขึ้นหรือยุบลง เพราะนินทาและสรรเสริญ เป็นต้น หมายความว่า บุคคลที่เจริญอุเบกขาภาวนาจนบรรลุถึงความเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์แล้ว ย่อมสามารถรักษาจิตใจให้เป็นปกติได้เสมอในทุกสถานการณ์ แม้จะได้ประสบกับอิฏฐารมณ์ คือ ลาภ ยส สุข สรรเสริญ ก็ไม่แสดงอาการตื่นเต้นยินดีมีใจเฟื่องฟูออกนอกหน้า หรือเมื่อได้ประสบกับอนิฏฐารมณ์ คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็ไม่แสดงอาการ โกรธ อาฆาต พยาบาทจองเวร หรือมีจิตใจท้อแท้ ห่อเหี่ยว ฟุ๊บแฟ๊บ แสดงความเศร้าโศกเสียใจออกมา ย่อมสามารถรักษาความเป็นปกติของจิต คือ ความวางใจเฉยด้วยสติและปัญญาอันระลึกรู้เท่าทันความเป็นจริงของโลกธรรมทั้งปวงว่า เป็นสิ่งที่มีอยู่คู่กับโลกและเป็นไปตามกระแสแห่งโลก แต่สิ่งเหล่านี้ก็ตกอยู่ในกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีอะไรยั่งยืนถาวรเลยแม้แต่อย่างเดียว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |