| |
กสิณ ๑๐   |  

กสิณ แปลว่า ทั้งหมดหรือทั้งปวง หรือ ล้วน หมายถึง สิ่งที่ใช้เป็นนิมิตเครื่องหมายในการเพ่งให้ทั่วถึงทั้งหมดในวงรอบขอบเขตทั้งปวงของอารมณ์นั้น และเมื่อกำหนดเอาสิ่งใดเป็นอารมณ์ ต้องกำหนดเอาสิ่งนั้นล้วน ๆ โดยไม่มีสิ่งอื่นเจือปนด้วยเลย เช่น กำหนดเอาปฐวีเป็นอารมณ์ก็ต้องเป็นปฐวีล้วน ๆ จะเอาสิ่งอื่นมาเจือปนด้วยนั้นย่อมไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น ดังแสดงวจนัตถะว่า “อเสสผริตพฺพฏฺเฐน = กสิณํ” แปลว่า ชื่อว่า กสิณ เพราะอรรถว่า เป็นสิ่งที่พึงแผ่ให้ทั่วไปโดยไม่มีเหลือ หมายความว่า ต้องแผ่สมาธิจิตไปให้ทั่วทั้งวงรอบขอบเขตแห่งดวงกสิณนั้นนั่นเอง โดยไม่จำกัดอยู่เฉพาะตรงจุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น มี ๑๐ อย่าง คือ

ภูตกสิณ ๔ [กสิณที่เป็นมหาภูตรูป]

๑. ปฐวีกสิณ ขนาดของดินที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเพ่งเพื่อทำจิตให้สงบ

๒. อาโปกสิณ ขนาดของน้ำที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเพ่งเพื่อทำจิตให้สงบ

๓. เตโชกสิณ ขนาดของไฟที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเพ่งเพื่อทำจิตให้สงบ

๔. วาโยกสิณ ขนาดของลมที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเพ่งเพื่อทำจิตให้สงบ

วัณณกสิณ ๔ [กสิณที่เป็นสี]

๕. นีลกสิณ ขนาดของสีเขียวที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเพ่งเพื่อทำจิตให้สงบ

๖. ปีตกสิณ ขนาดของสีเหลืองที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเพ่งเพื่อทำจิตให้สงบ

๗. โลหิตกสิณ ขนาดของสีแดงที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเพ่งเพื่อทำจิตให้สงบ

๘. โอทาตกสิณ ขนาดของสีขาวที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเพ่งเพื่อทำจิตให้สงบ

อากาสกสิณและอาโลกกสิณ

๙. อากาสกสิณ ขนาดของอากาศที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเพ่งเพื่อทำจิตให้สงบ

๑๐. อาโลกกสิณ ขนาดของแสงสว่างที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเพ่งเพื่อทำจิตให้สงบ

หมายเหตุ กสิณมณฑล หมายถึง วงรอบ หรือ ขอบเขตที่เป็นขนาดของกสิณที่ทำขึ้นเพื่อใช้เพ่งให้จิตสงบ [มีขนาดอย่างต่ำประมาณ ๑ คืบ ๔ นิ้ว] กสิณ ๑๐ แต่ละอย่างนี้ สามารถเป็นอารมณ์ให้เจริญสมถกรรมฐานจนถึงรูปฌาน ๕ ได้ และยังเป็นอุปการะให้ต่อขึ้นไปจนถึงอรูปฌานได้อีกด้วย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |