| |
วิปัสสนาญาณ ๑๖   |  

วิปัสสนาญาณ หมายถึง ปัญญาที่กำหนดรู้เห็นรูปนามขันธ์ ๕ โดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กล่าวคือ การเห็นประจักษ์แจ้งซึ่งไตรลักษณ์แห่งรูปนาม เรียกว่า ปัจจักขสิทธิญาณ ซึ่งเกิดขึ้นตามลำดับ ดังต่อไปนี้

๑. นามรูปปริจเฉทญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่กำหนดรู้เห็นรูปนามว่า เป็นคนละสิ่งคนละส่วนกัน ไม่ใช่ว่าจะระคนปนกันจนแยกกันไม่ได้เลยก็ไม่ใช่ หมายความว่า เป็นปัญญาญาณที่สามารถกำหนดวินิจฉัยได้ว่า สภาวะที่เกิดขึ้นนั้น อันไหนเป็นรูป อันไหนเป็นนาม ซึ่งจัดเป็นทิฏฐิวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งปัญญาญาณที่เกิดความรู้ความเข้าใจในสังขารธรรมทั้งปวงโดยเป็นสักแต่ว่ารูปกับนามเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไม่ใช่วัตถุสิ่งของอย่างนั้นอย่างนี้ที่ชาวโลกยึดถือกันแต่อย่างใดเลย เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว ย่อมบรรเทาสักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา หรือเห็นว่า เป็นวัตถุสิ่งของต่าง ๆ เป็นต้นให้เบาบางลงได้ อนึ่ง นามรูปปริจเฉทญาณนี้ เปรียบเหมือนบุคคลผู้อยู่ในบ้านเรือน ซึ่งเป็นผู้มีวิจารณญาณอันละเอียดลึกซึ้ง ย่อมพิจารณาเห็นส่วนประกอบต่าง ๆ ของบ้านได้อย่างละเอียด ฉะนั้น จึงเกิดความรู้ความเข้าใจอย่างชัดเจนว่า คำว่าบ้านนั้น ย่อมเป็นสักแต่ว่า เอาทัพสัมภาระจิ.๑๕ มาประกอบกันเข้าเท่านั้น หามีอยู่จริงไม่ เมื่อรู้ดังนี้แล้ว ก็สามารถพิจารณาวางใจเป็นกลางในบ้านนั้นได้ คอยทำการดูแลประคับประคองบ้านนั้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อใช้เป็นที่อาศัยอยู่หลบแดดลมฝนและป้องกันแมลงสัตว์กัดต่อย ตลอดถึงบรรดาภัยอันตรายทั้งหลายเท่านั้น โดยไม่หลงระเริงเพลิดเพลินมัวเมาในบ้านนั้นแต่อย่างใด ข้อนี้ฉันใด พระโยคีบุคคลผู้พิจารณาเห็นสภาพของสังขารธรรมทั้งหลายว่าเป็นแต่สภาพของรูปนามเท่านั้นไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขาแต่อย่างใด ดังนี้เป็นต้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมไม่เพลิดเพลินยินดี ไม่หลงมัวเมาในรูปนามขันธ์ ๕ นั้น แต่อย่างใด ย่อมพิจารณาวางใจเป็นกลางในรูปนามนั้น เพียงแต่ทำการประคับประคองดูแลรูปนามขันธ์ ๕ นั้นให้คงอยู่และเป็นไปได้ เพื่อเป็นที่อาศัยในการประพฤติปฏิบัติธรรมให้สูงขึ้นไป จนกว่าจะหลุดพ้นจากรูปนามขันธ์ ๕ ได้อย่างเด็ดขาดในที่สุด บุคคลประเภทนี้ ถ้าสามารถรักษาสภาพของปัญญาญาณขั้นนี้ไว้ได้ ย่อมทำให้ไม่ไปเกิดในอบายภูมิ หนึ่งชาติบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง เป็นต้น ตามสมควรแก่กำลังแห่งเหตุปัจจัย หรือกำลังแห่งปัญญาญาณนั้นจะประคับประคองรักษาไว้ได้

๒. ปัจจยปริคคหญาณ หมายถึง ปัญญาที่กำหนดรู้เห็นปัจจัยที่ทำให้เกิดรูปนามขึ้น หมายความว่า เป็นปัญญาญาณที่สามารถกำหนดวินิจฉัยรู้ได้ว่า สภาวะของรูปนามที่เกิดขึ้นแต่ละอย่างนั้น มีเหตุปัจจัยอะไรทำให้เกิดขึ้นบ้าง หรือเป็นสภาพธรรมที่เกิดมาจากสมุฏฐานอะไรบ้าง เช่น จิต เกิดจากอดีตกรรม เจตสิก อารมณ์ และวัตถุ เจตสิก เกิดจากอดีตกรรม จิต อารมณ์ และวัตถุ รูป เกิดจากอดีตกรรม จิต อุตุ อาหาร อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างพร้อมกัน ดังนี้เป็นต้น บุคคลผู้ปฏิบัติถึงญาณขั้นนี้แล้ว ได้ชื่อว่า จูฬโสดาบัน แปลว่า พระโสดาบันน้อย กล่าวคือ เป็นผู้มีคุณสมบัติเทียบเคียงกับพระมหาโสดาบัน คือ พระโสดาบันใหญ่ เนื่องจากเป็นผู้เกิดความรู้ความเข้าใจในสังขารธรรมทั้งปวง โดยสักแต่ว่า เป็นสภาพของรูปนามที่เกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยเท่านั้น ไม่มีใครหรือสิ่งใดมาดลบันดาลให้เป็นไปแต่อย่างใด และไม่เป็นไปตามอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยของตนเท่านั้น เรียกว่า เป็นผู้รู้รูปนามแจ้งชัดด้วยสุตมยปัญญาและจินตามยปัญญาแล้ว แต่ต่างกันแต่ว่า พระโสดาบันนั้น เป็นผู้ละสักกายทิฏฐิได้โดยสมุจเฉทปหานแล้ว อนึ่ง ปัจจยปริคคหณญาณนี้ เปรียบเหมือนบุคคลผู้พิจารณาเห็นบ้านนั้นว่า เป็นสักแต่ว่าเอาทัพสัมภาระต่าง ๆ มาประกอบกันเท่านั้น แล้วพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งต่อไปอีกว่า แม้ตัวทัพสัมภาระเอง ก็ประกอบด้วยส่วนประกอบย่อยลงไปอีกมากมาย ไม่มีอะไรเป็นส่วนแท่งทึบอันเดียวกันเลย เมื่อพิจารณาอย่างนี้แล้ว ก็เป็นผู้ไม่ประมาทในส่วนประกอบย่อยของทัพสัมภาระเหล่านั้น พยายามดูแลประคับประคองไม่ให้เสื่อมสภาพไปก่อนเวลาอันสมควร เพื่อหวังที่จะประคับประคองบ้านและส่วนประกอบของบ้านนั้นไว้เป็นที่อาศัยในการมีชีวิตอยู่และเจริญคุณงามความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเท่านั้น แต่เมื่อทัพสัมภาระของบ้านก็ดี ส่วนประกอบย่อยของทัพสัมภาระต่าง ๆ ก็ดี เปลี่ยนแปลงไป หรือแตกทำลายไป ก็ไม่ทุกข์ใจไม่เศร้าโศกเสียใจไปตาม ย่อมแสวงหาสิ่งอื่นมาซ่อมแซมให้เป็นอยู่ได้ หรือถ้าไม่สามารถเยียวยาแก้ไขได้แล้ว ก็สามารถทำใจและตัดใจจากสิ่งนั้นไป ย่อมพิจารณาเห็นว่า สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของมันเอง ไม่มีใครบงการหรือบังคับบัญชาให้เป็นไปดังใจปรารถนาได้ทุกอย่าง ดังนี้แล้วย่อมพิจารณาวางใจในบ้านและส่วนประกอบต่าง ๆ ของบ้านนั้นได้ ข้อนี้ฉันใด พระโยคีบุคคลผู้พิจารณาเห็นสังขารธรรมทั้งหลายโดยเป็นแต่เพียงสภาพของรูปนามเท่านั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาให้ละเอียดลึกซึ้งลงไปอีกว่า แม้รูปนามนี้ ก็ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ที่แยกย่อยลงไปอีก ทั้งต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลาย ๆ อย่างจึงจะเกิดขึ้นได้และเป็นไปได้ แล้วเป็นผู้ไม่ประมาทในส่วนประกอบย่อยของรูปนามนั้น พยายามประคับประคองดูแลไม่ให้เสื่อมสภาพไปก่อนเวลาอันสมควร เพื่อหวังเป็นที่อาศัยในการเจริญกุศลธรรมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเท่านั้น แต่เมื่อรูปนามนั้นเปลี่ยนแปลงไป หรือแตกทำลายไป ก็ไม่แสดงอาการทุกข์ใจไม่เศร้าโศกเสียใจไปตาม ย่อมแสวงหาปัจจัยที่จะมาเยียวยาแก้ไขให้คงอยู่ได้ต่อไป แต่ถ้าสิ่งนั้น ไม่สามารถเยียวยาแก้ไขได้แล้ว ย่อมพิจารณาวางใจว่า สิ่งเหล่านี้ เกิดจากเหตุปัจจัย และย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมันเอง ไม่มีใครบงการหรือบังคับบัญชาให้เป็นไปตามใจปรารถนาได้ทุกอย่าง ดังนี้แล้ว ย่อมพิจารณาวางใจในรูปนามนั้นได้

๓. สัมมสนญาณ หมายถึง ปัญญาที่กำหนดรู้เห็นรูปนามโดยความเป็นไตรลักษณ์ หมายความว่า ญาณขั้นนี้เป็นปัญญาญาณที่เริ่มกำหนดพิจารณาเห็นสภาวะความเป็นไปของรูปนามโดยอาการแห่งไตรลักษณ์แล้ว แต่รู้ชัดเฉพาะอาการดับไปของรูปนามมากกว่าอาการเกิดขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากได้พิจารณาเห็นรูปนามใหม่ที่เกิดขึ้นมาแทนที่รูปนามเก่าที่ดับไปแล้วอย่างชัดเจนนั่นเอง การเห็นอย่างนี้เรียกว่า สันตติยังไม่ขาด เพราะเห็นยังไม่ชัดเจนทั้งความเกิดและความดับไปโดยทันที เนื่องจากยังมีสันตติ คือ ความสืบต่อแห่งรูปนามนั้นเนือง ๆ ปิดบังไว้อยู่ ซึ่งจัดเป็นความรู้ที่ยังต้องอาศัยจินตามยปัญญา คือ ความรู้ที่เกิดจากการคิดพิจารณาพร้อมกับการคำนวนคาดคะเนเอาเป็นปัจจัยประกอบด้วย ยังไม่เป็นภาวนามยปัญญาอย่างแท้จริง และสัมมสนญาณนี้เป็นปัญญาญาณที่เริ่มยกรูปนามขึ้นสู่ไตรลักษณ์ กล่าวคือ เริ่มพิจารณาสภาพของรูปนามเทียบเคียงกับอาการของไตรลักษณ์ เพราะพิจารณาเห็นชัดตรงความดับไปของรูปนาม ทำให้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง คือ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็มีความแปรปรวนไปโดยทันที เป็นทุกข์ คือ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ แล้วประมวลหยั่งลงสู่ความเป็นอนัตตา คือ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปดังใจปรารถนาได้ ย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของรูปนามนั่นเอง เปรียบเหมือนบุคคลผู้พิจารณาเห็นส่วนประกอบย่อยต่าง ๆ ของทัพสัมภาระแห่งบ้านนั้นอย่างละเอียดแล้ว เมื่อเห็นส่วนประกอบย่อยเหล่านั้นเริ่มที่จะแปรเปลี่ยนสภาพของมันไป หรือเริ่มเสื่อมสภาพลงไปทุกวัน ๆ ก็พิจารณารู้เห็นความเปลี่ยนแปลงไปของบ้านนั้นว่า ไม่ได้คงอยู่ในสภาพเดิมแต่อย่างใด ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ข้อนี้ฉันใด พระโยคีบุคคลเมื่อพิจารณาเห็นสังขารธรรมโดยความเป็นนามเป็นรูป และเห็นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของนามรูปเหล่านั้นอย่างถูกต้องแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อพิจารณาเห็นนามรูปนั้นเปลี่ยนแปลงไปหรือดับไป ก็กำหนดรู้เท่าทันว่า รูปนามนี้ดับไปแล้ว เปลี่ยนแปลงไปแล้ว เพราะว่ามีรูปนามใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่อยู่เสมอ ๆ นั่นเอง

๔. อุทยัพพยญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่กำหนดรู้เห็นทั้งความเกิดและความดับของรูปนาม ทำให้เห็นรูปนามโดยความเป็นไตรลักษณ์อย่างชัดเจน หมายความว่า เป็นปัญญาญาณที่กำหนดรู้เห็นเท่าทันทั้งความเกิดและความดับของรูปนามอย่างเด่นชัด เรียกว่า เห็นสันตติขาด กล่าวคือ เห็นรูปนามเกิดขึ้นโดยทันทีในขณะที่เกิด และเห็นรูปนามดับไปโดยทันทีในขณะที่ดับ ชื่อว่า เห็นเท่าทันทั้งในขณะเกิดและขณะดับ เปรียบเหมือนบุคคลผู้คอยพิจารณาความเปลี่ยนแปลงไปของตัวบ้านก็ดี ทัพสัมภาระของบ้านก็ดี หรือส่วนประกอบย่อยของทัพสัมภาระของบ้านนั้นก็ดีอยู่เนืองนิตย์ ย่อมสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงไปของบ้านและส่วนประกอบของบ้านอยู่เสมอ เพราะมีสิ่งต่าง ๆ มากระทบเข้าอยู่เสมอ เช่น แดด ลม ฝน ฝุ่นละออง และมลทินในร่างกายของคนที่อยู่ในบ้านนั้นด้วย เป็นต้น ข้อนี้ฉันใด พระโยคีบุคคลผู้ทำการพิจารณาสภาพความเป็นไปของรูปนามอย่างต่อเนื่องโดยไม่ขาดสาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเห็นความเกิดดับของรูปนามซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเห็นชัดแจ้งทั้งความเกิดและความดับ ทำให้เห็นไตรลักษณ์ของรูปนามอย่างชัดเจน

อุทยัพพยญาณนี้ แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ

๑] ตรุณอุทยัพพยญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่ยังมีกำลังอ่อนอยู่ ยังเห็นความเกิดดับของรูปนามไม่เด่นชัดนัก เนื่องจากยังอยู่ในขณะที่วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ กำลังเกิดขึ้นรบกวนอยู่ หมายความว่า เป็นปัญญาญาณที่อยู่ในขณะที่ประสบกับอันตรายิกธรรมของวิปัสสนาคือวิปัสสนูปกิเลส พร้อมทั้งกำลังทำการกำหนดวินิจฉัยระหว่างวิปัสสนูปกิเลสกับรูปนามว่า สิ่งไหนเป็นหนทางนำไปสู่พระนิพพาน และสิ่งไหนไม่ใช่หนทางนำไปสู่พระนิพพาน จนสามารถกำหนดรู้ได้ชัดเจนว่า รูปนามเท่านั้นเป็นหนทางนำไปสู่พระนิพพาน ส่วนวิปัสสนูปกิเลสนั้น ไม่ใช่หนทางที่จะนำไปสู่พระนิพพานได้เลย เป็นวิปัสสนาญาณที่อยู่ในขณะแห่งมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ คือ กำลังทำความบริสุทธิ์หมดจดแห่งญาณปัญญาให้เกิดขึ้นด้วยการกำหนดวินิจฉัยว่า อันไหนเป็นหนทางแห่งวิปัสสนาญาณ และอันไหนไม่ใช่หนทางแห่งวิปัสสนาญาณ ตรุณอุทยัพพยญาณนี้ย่อมเป็นเครื่องบ่งบอกได้ว่า บุคคลนั้น เป็นติเหตุกบุคคล สามารถก้าวไปสู่วิปัสสนาญาณเบื้องสูงได้ และถ้ามีบุญบารมีในมรรคและผล ก็สามารถบรรลุมรรคญาณ ผลญาณได้ในภพชาตินั้น

๒] พลวอุทยัพพยญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่แก่กล้าสามารถข้ามพ้นจากวิปัสสนูปกิเลสได้แล้ว หมายความว่า เป็นปัญญาญาณที่สืบเนื่องมาจากตรุณอุทยัพพยญาณนั่นเอง กล่าวคือ เมื่อสามารถกำหนดพิจารณารู้แจ้งชัดว่า รูปนามเท่านั้นที่เป็นหนทางนำไปสู่พระนิพพาน ส่วนวิปัสสนูปกิเลสนั้นไม่ใช่หนทางนำไปสู่พระนิพพานเลย ดังนี้แล้ว ก็ทำลายนิกันติตัณหาคือความยินดีพอใจในวิปัสสนูปกิเลสนั้นเสีย โดยไม่ใส่ใจในวิปัสสนูปกิเลสนั้นอีกต่อไป หันมาใส่ใจเฉพาะสภาวะของรูปนามอย่างเดียว หรือกำหนดพิจารณาเอาสภาพของวิปัสสนูป กิเลสนั้นให้เห็นโดยความเป็นสภาพแห่งรูปนาม มีการเกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงไปและดับไป ไม่คงที่อยู่นาน เช่นเดียวกัน สามารถประมวลเข้าในกฎของไตรลักษณ์ได้เช่นเดียวกัน เมื่อกำหนดพิจารณารู้เท่าทันอย่างนี้แล้ว จึงสามารถข้ามพ้นจากวิปัสสนูปกิเลสไปได้

๕. ภังคญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่กำหนดพิจารณาใส่ใจถึงแต่ความดับไปแห่งรูปนามอย่างเดียว หมายความว่า ปัญญาญาณนี้ได้ทำการกำหนดพิจารณาเอาเฉพาะความดับไปแห่งรูปนามอย่างเดียว โดยไม่ใส่ใจในความเกิดของรูปนามนั้นเลย เพราะสภาพความดับไปของรูปนามนั้นปรากฏเด่นชัดมากกว่า เนื่องจากความดับไปของรูปนามนั้น เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้น น่าสลดใจมากกว่าความเกิด ภังคญาณนี้ จัดเป็นปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งปัญญาญาณที่รู้เห็นความเป็นไปของนามรูปโดยความเป็นไตรลักษณ์อย่างเด่นชัดสืบเนื่องกันไปไม่ขาดสาย จึงทำให้มีความมั่นใจในหนทางที่จะดำเนินไปสู่พระนิพพานอย่างแท้จริงแล้ว และปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินี้ ก็จะสืบเนื่องไปจนถึงอนุโลมญาณ คือ ญาณที่ ๑๒ ภังคญาณนี้เปรียบเหมือนบุคคลผู้กำลังกำหนดพิจารณาความเป็นไปของบ้านอยู่นั้น พอดีเกิดไฟลุกไหม้บ้านนั้นขึ้นมาต่อหน้าต่อตา บุคคลนั้น ก็จะเห็นแต่ความทรุดโทรมพังทะลายไปของบ้านนั้นอย่างรวดเร็ว โดยไม่เห็นความคงที่และความเป็นปกติของบ้านนั้นเลย ข้อนี้ฉันใด พระโยคีบุคคลผู้พากเพียรกำหนดพิจารณาความเป็นไปของรูปนามอยู่อย่างไม่ขาดสาย ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อความเป็นไตรลักษณ์ของรูปนามปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้นโดยลำดับและเป็นไปอยู่ตลอดเวลา พระโยคีบุคคลนั้น ย่อมเห็นสภาพความดับไปและความเสื่อมสิ้นไปของรูปนามนั้นอย่างเด่นชัดมากกว่าความเกิด เพราะเป็นสิ่งที่น่าสลดสังเวชใจมากกว่าความเกิดของรูปนามนั้น

๖. ภยญาณ หรือ ภยตูปัฏฐานญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่กำหนดรู้เห็นรูปนามโดยความเป็นภัยอันน่ากลัว หมายความว่า ภยญาณหรือภยตูปัฏฐานญาณนี้ เป็นปัญญาญาณที่เกิดสืบเนื่องมาจากภังคญาณที่กำหนดพิจารณาเห็นแต่ความดับไปของรูปนามอย่างเดียว เมื่อเห็นความดับไปอย่างเด่นชัดอยู่เนือง ๆ เช่นนั้น ก็ทำให้พิจารณาเห็นว่า รูปนามนี้เป็นภัย เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะมีแต่ความดับไป หายไป เสื่อมสิ้นไปฝ่ายเดียว ไม่มีอะไรหยุดยั้งหรือต้านทานได้เลย จึงพิจารณาเห็นว่า เป็นสิ่งที่น่ากลัว แล้วก็คลายความยึดถือในรูปนามที่เคยคิดว่า เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา เป็นสาระแก่นสาร เป็นสิ่งที่น่ารักน่าทะนุถนอมนั้น มาบัดนี้ มีแต่ความดับไป มีแต่ความเสื่อมสิ้นไปฝ่ายเดียว เปรียบเหมือนบุคคลที่กำลังพิจารณาดูบ้านซึ่งถูกไฟไหม้อยู่นั้น ซึ่งแต่เดิมเคยรัก เคยหวงแหน เคยผูกพันอยู่ในบ้านหลังนั้นว่า เป็นวิมานของตน แต่มาบัดนี้ บ้านนั้นกำลังถูกไฟไหม้อยู่ ซึ่งวอดวายลงเป็นลำดับ ที่เคยดูหรูหราหรืองดงาม มาบัดนี้เริ่มกลายเป็นเถ้าถ่านไปเรื่อย ๆ และไฟก็กำลังลุกลามไหม้มาที่ตน จึงเห็นเป็นสิ่งที่น่ากลัว ไม่น่าห่วงหาอาลัยอีกต่อไป ข้อนี้ฉันใด พระโยคีบุคคลที่กำลังพิจารณาเห็นความดับไปของรูปนามอย่างต่อเนื่องอยู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเห็นรูปนามนั้น ดับไป เสื่อมสิ้นไปอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จึงทำให้พิจารณาเห็นว่า รูปนามนี้ เป็นภัยอันน่ากลัว ไม่ควรยึดถือผูกพันอีกต่อไป

๗. อาทีนวญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่กำหนดพิจารณาเห็นว่า รูปนามนี้เป็นโทษ หมายความว่า เมื่อพระโยคีบุคคลพิจารณาเห็นรูปนามดับไปอยู่เนือง ๆ และเห็นโดยความเป็นภัยอันน่ากลัว ไม่น่าห่วงหาอาลัยยึดถือในรูปนามนั้นแต่อย่างใดแล้ว จึงเห็นว่า รูปนามนี้เป็นโทษ เป็นเหตุนำมาซึ่งทุกข์ทั้งหลาย เพราะมีความดับไปและเสื่อมสิ้นไปอยู่ตลอดเวลา ไม่เห็นมีสิ่งใดที่เป็นสาระแก่นสาร เป็นคุณประโยชน์อันน่าทะนุถนอมห่วงใยเลย จึงปรารถนาที่จะหนีให้พ้นไปจากรูปนามนั้น เปรียบเหมือนบุคคลที่อยู่ในบ้านซึ่งกำลังถูกไฟไหม้อยู่นั้น และไฟก็กำลังลุกลามใกล้เข้ามาจะถึงตนอยู่แล้ว จึงพิจารณาเห็นว่า บ้านนี้เป็นสิ่งที่นำทุกข์นำโทษมาให้แก่เราอย่างใหญ่หลวงนัก จึงพิจารณาวางใจตัดความเยื่อใยในบ้านนั้นเสีย โดยไม่มีความห่วงหาอาลัยในบ้านนั้นอีกต่อไป ข้อนี้ฉันใด พระโยคีบุคคลผู้พิจารณาเห็นโทษในรูปนามอยู่เนือง ๆ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมกำหนดวางใจตัดความเยื่อใยในรูปนามนั้นเสีย โดยพิจารณาเห็นว่า รูปนามนี้ เป็นสิ่งที่มีโทษนำทุกข์มาให้โดยส่วนเดียว

๘. นิพพิทาญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่กำหนดพิจารณาเห็นว่า นามรูปเป็นสิ่งที่น่าเบื่อหน่าย หมายความว่า เมื่อพระโยคีบุคคลกำหนดพิจารณาเห็นความเป็นไปของรูปนามดังกล่าวมาแล้ว ตั้งแต่ญาณที่ ๑ จนถึงญาณที่ ๗ นั้น จึงเกิดความเบื่อหน่ายในรูปนามนั้น โดยพิจารณาเห็นว่า รูปนามนี้เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าชอบใจอีกต่อไปแล้ว เปรียบเหมือนบุคคลที่อยู่ในบ้านซึ่งกำลังถูกไฟไหม้นั้น เมื่อไฟโหมกระหน่ำเผาไหม้จนวอดวายลงตามลำดับแล้ว จึงตัดความเยื่อใยอาลัยในบ้านหลังนี้ โดยพิจารณาเห็นว่า ไม่ควรที่จะห่วงหาอาลัย หรือเสียดาย ยึดติดผูกพันอยู่อีกต่อไปแล้ว มิฉะนั้นแล้ว ตนเองก็จะถูกไฟคลอกตายไปพร้อมกับบ้านหลังนี้ ข้อนี้ฉันใด พระโยคีบุคคล ผู้พิจารณาเห็นความเป็นไปของรูปนามมาโดยลำดับ จนเห็นรูปนามโดยความเป็นโทษอย่างแจ้งชัดแล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมทำลายความยินดีพอใจในรูปนามนั้นเสีย

๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่ปรารถนาจะพ้นไปจากรูปนาม หมายความว่า เมื่อพระโยคีบุคคลนั้นกำหนดพิจารณาเห็นความเป็นไปของรูปนามมาตามลำดับ จนเกิดความเบื่อหน่ายและตัดความเยื่อใยในรูปนามนั้นได้ดังกล่าวแล้ว จึงใคร่ที่จะหนีให้พ้นไปจากรูปนามนั้นเสีย เปรียบเหมือนบุคคลที่อยู่ในบ้านซึ่งกำลังถูกไฟไหม้นั้น ได้พิจารณาเห็นภัยที่กำลังคืบคลานเข้ามาหาตน จึงใคร่ที่จะหนีออกไปจากบ้านหลังนั้น เพื่อให้พ้นไปจากการถูกไฟคลอกตายไปพร้อมกับบ้านหลังนั้นด้วย ข้อนี้ฉันใด พระโยคีบุคคล ผู้กำหนดพิจารณาเห็นโทษของรูปนามแล้วเกิดความเบื่อหน่าย และตัดความเยื่อใยในรูปนามนั้นได้แล้ว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมต้องการที่จะพ้นไปจากสภาพของรูปนามนั้น อันมีแต่นำทุกข์นำโทษมาให้โดยส่วนเดียว เพื่อไปสู่สิ่งที่มีความเกษมอันปราศจากรูปนามนั้น

๑๐. ปฏิสังขาญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่กำหนดพิจารณาหาทางที่จะหนีให้พ้นไปจากรูปนาม หมายความว่า เมื่อพระโยคีบุคคลกำหนดพิจารณาเห็นความเป็นไปของรูปนามต่อจากมุญจิตุกัมยตาญาณนั้นแล้ว ก็พิจารณาหาทางที่จะหนีให้พ้นไปจากรูปนามนั้นโดยอุบายอันแยบคาย เพื่อเปลื้องตนให้พ้นจากเบญจขันธ์ได้อย่างถูกต้องโดยไม่ให้ผิดทาง เปรียบเหมือนบุคคลที่อยู่ในบ้านที่ถูกไฟไหม้นั้น เมื่อพิจารณาเห็นภัยกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ตนเต็มที่แล้ว จึงมองหาทางที่จะหนีออกไปจากบ้านหลังนั้นให้ปลอดภัย โดยไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด ข้อนี้ฉันใด พระโยคีบุคคลผู้กำลังพิจารณาหาทางออกจากรูปนามนั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาหาทางออกไปจากรูปนามนั้นโดยอุบายอันแยบคาย เพื่อไปสู่อารมณ์ที่ปราศจากสภาพของรูปนามขันธ์ ๕ อันละเอียดและประณีตกว่า ซึ่งมีความคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงสลายไปเหมือนกับสภาพของรูปนามที่ตนรับรู้อยู่นี้อีก ซึ่งจะทำให้ถึงความสุขเกษมและวางใจได้

๑๑. สังขารุเปกขาญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่กำหนดพิจารณาวางเฉยในรูปนาม หมายความว่า เมื่อพระโยคีบุคคลกำหนดพิจารณารู้เห็นว่า ยังไม่มีทางที่จะหนีให้พ้นจากสภาพของรูปนามได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากยังไม่สามารถหาอารมณ์ยึดหน่วงที่ละเอียดประณีตและมีความคงที่ซึ่งปราศจากสภาพของรูปนั้นได้ จึงได้แต่กำหนดพิจารณาดูความเป็นไปของรูปนามนั้นด้วยความวางเฉยโดยไม่ยินดียินร้ายต่อรูปนามนั้นเลย ฉะนั้น พระโยคีบุคคลผู้เจริญวิปัสสนาจนถึงขั้นสังขารุเปกขาญาณนี้แล้ว ย่อมได้ชื่อว่า มัชฌิมโสดาบัน แปลว่า พระโสดาบันชั้นกลาง หมายความว่า เป็นผู้คืบคลานเขยิบเข้าไปใกล้จะถึงมหาโสดาบันอันเป็นพระโสดาบันแท้แล้ว เพราเป็นผู้ที่ได้รู้และได้เข้าใจในของรูปนามโดยสภาวะที่แจ้งชัดมากขึ้นด้วยภาวนามยปัญญาแล้วนั่นเอง เปรียบเหมือนบุคคลที่อยู่ในบ้านที่ถูกไฟไหม้นั้น เมื่อยังมองหาทางหนีออกไปจากบ้านหลังนั้นโดยความปลอดภัยไม่ได้ จึงทำใจวางเฉยไม่ยินดียินร้ายกับบ้านหลังนั้น และคอยสอดส่องหาทางออกอยู่ต่อไปโดยไม่ละลดความพยายาม หรือไม่ทอดอาลัยหมดหวังในหนทางออก ข้อนี้ฉันใด พระโยคีบุคคลผู้ทำการกำหนดพิจารณาหาทางหลุดพ้นจากรูปนามนั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ในขณะที่ยังไม่สามารถพิจารณาเห็นอารมณ์อย่างอื่นซึ่งปราศจากสภาพรูปนาม อันพอจะยึดหน่วงไปสู่ความเกษมจากโยคะได้ ก็จำต้องยึดหน่วงรูปนามนั้นเป็นอารมณ์อยู่ต่อไป แต่ทำใจวางเฉยไม่ได้ยินดียินร้ายกับสภาพของรูปนามนั้นอีกต่อไป พร้อมกันนั้น ก็พยายามพิจารณาหาสภาพของอารมณ์ที่มีความเกษมจากสภาพของรูปนามนั้นอยู่เนือง ๆ โดยไม่ยอมลดละความพยายามและไม่ทอดอาลัยหมดหวังในหนทางแห่งสันติภาพนั้นแต่อย่างใด

๑๒. อนุโลมญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่กำหนดพิจารณาสภาพของรูปนามให้คล้อยไปตามอริยสัจญาณ หมายความว่า ปัญญาญาณที่เกิดต่อจากสังขารุเปกขาญาณนี้ เมื่อได้ทำใจวางเฉยต่อสภาพของรูปนาม และคอยกำหนดพิจารณาดูความเป็นไปของรูปนามนั้นอย่างรู้เท่าทัน โดยไม่ยินดียินร้ายกับสภาพของรูปนามนั้นเลย พร้อมกันนั้น ก็กำหนดทบทวนความเป็นไปของรูปนามที่ผ่านมาแล้วตั้งแต่ต้น แล้วเปรียบเทียบกับสภาพของอริยสัจญาณ กล่าวคือ สังขารธรรมทั้งหลาย เป็นตัวทุกข์ ทนอยู่ในสภาพเดิมได้ยาก จำต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุตามปัจจัย อันเนื่องมาจากตัณหาคือความทะยานอยากต่าง ๆ เป็นต้นเหตุให้ก่อกรรมอันนำให้เกิดรูปนามขันธ์ ๕ ซึ่งเป็นตัวทุกข์นี้ มีทางเดียวเท่านั้น ที่จะหลุดพ้นไปจากสภาพของรูปนามขันธ์ ๕ นี้ได้ คือ พระนิพพาน จึงจะสามารถดับรูปนามขันธ์ ๕ ได้อย่างสิ้นเชิง และการที่จะไปสู่สภาพของพระนิพพานนั้นได้ ก็ด้วยการเจริญตามแนวทางแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ฉะนั้น อนุโลมญาณนี้ เรียกอีกนัยหนึ่งว่า สัจจานุโลมิกญาณ แปลว่า ปัญญาญาณที่คล้อยตามอริยสัจญาณ เปรียบเหมือนบุคคลที่อยู่ในบ้านซึ่งถูกไฟไหม้นั้น กำลังวางเฉยพิจารณาดูสภาพของบ้านนั้นอยู่ พร้อมกันนั้น ก็คอยสอดส่องหาช่องทางที่จะหนีออกไปจากบ้านหลังนั้นโดยความสวัสดีให้ได้ เมื่อยังมองหาทางออกไม่ได้ ก็พิจารณาทบทวนความเป็นไปของบ้านนั้นตั้งแต่ต้นที่อยู่อาศัยมาจนถึงเวลาที่ถูกไฟไหม้อยู่ในขณะนี้ว่า เพราะมีบ้านและทัพสัมภาระของบ้านไม่ถาวรแข็งแรงเช่นนี้ จึงทำให้ไฟไหม้ได้ และทำให้ต้องห่วงกังวล ต้องเป็นทุกข์ร้อนอาลัยในยามวอดวายพินาศไปอย่างนี้ ถ้ามีสถานที่อยู่ที่มีความคงทนหนาแน่น และสามารถต้านทานภัยอันตรายทั้งปวงได้ก็คงจะดีไม่น้อย ดังนี้แล้ว ก็คิดใคร่ครวญหาสถานที่เช่นนั้นอยู่เรื่อยไป ข้อนี้ฉันใด พระโยคีบุคคลที่กำลังพิจารณาสภาพของรูปนามที่ตนยึดหน่วงเป็นอารมณ์อยู่นั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อได้เห็นสภาพของรูปนามเป็นไปอยู่เช่นนั้นแล้ว ก็กำหนดพิจารณาทบทวนและเทียบเคียงหาอารมณ์ที่ประณีตละเอียดอ่อนกว่าและมีความคงที่ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสภาพของรูปนามนั้นเลย ซึ่งจะเป็นเครื่องยึดหน่วงได้อย่างถาวรต่อไป

๑๓. โคตรภูญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่กำหนดพิจารณาข้ามพ้นจากสภาพของรูปนามไปสู่สภาพของพระนิพพาน หมายความว่า เมื่อพระโยคีบุคคลนั้นได้ทำการพิจารณาเทียบเคียงสภาพของรูปนามโดยอนุโลมเข้าในอริยสัจญาณและทำการเทียบเคียงกับสภาพของพระนิพพานแล้ว จึงเริ่มที่จะปรับสภาพของจิตไปสู่สภาพของพระนิพพาน จนสภาพของมหากุศลจิตนั้นสามารถหน่วงเหนี่ยวพระนิพพานเข้ามาเป็นอารมณ์ได้บ้างแล้ว แต่ยังไม่สามารถปล่อยจากสภาพของรูปนามได้เด็ดขาด ทั้งยังไม่สามารถทำลายอนุสัยกิเลสให้ขาดลงเป็นสมุจเฉทปหานได้ เป็นแต่เพียงคืบคลานเข้าไปใกล้สภาพของพระนิพพานเท่านั้น ซึ่งยังไม่ได้เสพสภาพของพระนิพพานอย่างเต็มที่และกำลังทำการข้ามจากโคตรปุถุชนไปสู่โคตรอริยชน เปรียบเหมือนบุคคลที่อยู่ในบ้านซึ่งถูกไฟไหม้นั้น เมื่อได้พิจารณาสอดส่องมองหาช่องทางออกไปจากบ้านนั้นอยู่ และเมื่อมองเห็นช่องทางที่จะหนีออกไปจากบ้านหลังนั้นโดยความสวัสดีได้แล้ว ก็ทำการย่างเท้าก้าวออกไป แต่เท้าอีกข้างหนึ่ง ยังก้าวไม่พ้นจากธรณีบ้านนั้น หรือเปรียบเหมือนบุคคลที่กำลังข้ามคูน้ำ เท้าข้างหนึ่งก้าวไปอีกฝั่งหนึ่งแล้ว แต่อีกข้างหนึ่งยังเหยียบอยู่ที่ฝั่งนี้ หรือเหมือนบุคคลที่ต้องการเฝ้าพระราชา ได้เห็นพระราชากำลังประทับอยู่บนคอช้าง แต่ยังไม่ได้เฝ้าถึงที่ประทับ ข้อนี้ฉันใด ปัญญาในมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตที่เป็นโคตรภูญาณของพระโยคีบุคคลนี้ ฉันนั้นเหมือนกัน สามารถหน่วงเหนี่ยวสภาพของพระนิพพานเข้ามาเป็นอารมณ์ได้บ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้เสพเต็มที่ เพราะยังไม่ได้ปล่อยละจากสภาพของรูปนามอย่างเด็ดขาดนั่นเอง อนึ่ง โคตรภูญาณนี้ จัดเป็นญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์หมดจดแห่งปัญญาญาณที่สามารถรับรู้สภาพของพระนิพพานได้ ฉะนั้น ญาณทัสสนวิสุทธินี้ ก็จะสืบเนื่องไปจนถึงปัจจเวกขณญาณ คือ ญาณที่ ๑๖

๑๔. มัคคญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่รับรู้สภาพของพระนิพพานอย่างแจ่มแจ้ง พร้อมกับทำการประหาณอนุสัยกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ไปในขณะเดียวกันนั้นด้วย หมายความว่า มรรคญาณนี้เป็นปัญญาญาณที่เกิดต่อจากโคตรภูญาณโดยทันทีที่โคตรภูญาณนั้นดับลง ไม่มีจิตดวงอื่นมาเกิดคั่นระหว่างเลย ด้วยการเสพสภาพของพระนิพพานอย่างเต็มที่ ทำให้กระจ่างแจ้งในสภาพของพระนิพพานนั้นว่าแตกต่างจากสภาพของรูปนามขันธ์ ๕ โดยสิ้นเชิง ทั้งมีความสงบเย็นอย่างล้นเหลือ พร้อมกันนั้นก็สามารถประหาณทิฏฐานุสัย คือ ความเห็นผิดและวิจิกิจฉานุสัย คือ ความลังเลสงสัยที่เป็นเครื่องขัดขวางกุศลธรรมทั้งปวงเสียได้ เป็นผู้บรรลุถึงความเป็นพระมหาโสดาบันอย่างสมบูรณ์ ทำให้เป็นผู้กระจ่างแจ้งชัดในเรื่องภพภูมิ เรื่องการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ เรื่องกฎแห่งกรรมตามความเป็นจริง เป็นผู้มีความมั่นคงในคุณพระรัตนตรัยโดยไม่หวั่นไหวอีกต่อไป และเป็นผู้สามารถปิดประตูอบายภูมิได้อย่างถาวร เปรียบเหมือนบุคคลที่อยู่ในบ้านหลังที่ถูกไฟไหม้นั้นได้ก้าวออกมาพ้นจากธรณีแห่งบ้านหลังนั้นโดยความสวัสดีไม่มีอันตรายใด ๆ แล้ว หรือเปรียบเหมือนบุคคลที่ก้าวเท้าอีกข้างหนึ่งข้ามพ้นจากคูน้ำนั้นมาเรียบร้อยแล้ว หรือเปรียบเหมือนบุรุษที่ต้องการเฝ้าพระราชานั้นได้เข้าเฝ้าพระราชาถึงที่ประทับและได้กราบทูลเรื่องราวเหตุที่มาเฝ้านั้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ข้อนี้ฉันใด พระโยคีบุคคลที่ได้บรรลุถึงมัคคญาณนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมได้รับรู้และเสพอารมณ์พระนิพพานอย่างเต็มที่ และได้รู้รสชาติความประณีตละเอียดอ่อนและความคงที่ของพระนิพพานว่ามีความแตกต่างจากสภาพของรูปนามโดยสิ้นเชิง อนึ่ง ในขณะแห่งมรรคญาณเกิดนี้ สภาพจิตได้เปลี่ยนจากสภาพของมหากุศลจิต [ที่เป็นญาณสัมปยุตต์] ซึ่งเป็นกามาวจรจิต มาเป็นโลกุตตรจิต [โลกุตตรกุศลจิต] และเปลี่ยนสภาพบุคคลจากปุถุชนมาเป็นพระอริยบุคคล [ที่ได้มรรคครั้งแรก เป็นพระโสดาบัน ถ้าได้มรรคครั้งต่อ ๆ ไป ก็เป็นการเปลี่ยนจากอริยบุคคลเบื้องต่ำไปสู่อริยบุคคลเบื้องสูง ตามลำดับ จนถึงอรหัตตมรรคอรหัตตผลเป็นอันสิ้นสุด ซึ่งเรียกญาณนั้นว่า โวทานญาณ แปลว่า ญาณที่ทำการชำระสันดานของพระอริยบุคคลนั้นให้ผ่องแผ้วยิ่งขึ้น]

๑๕. ผลญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่ทำการเสพสภาพของพระนิพพานต่อจากมรรคญาณ หมายความว่า เมื่อมรรคญาณทำการประหาณอนุสัยกิเลสและดับลงแล้ว ผลญาณก็เกิดขึ้นติดตามมาทันทีโดยไม่มีจิตดวงอื่นมาเกิดคั่นระหว่าง จัดเป็น อกาลิกธรรม คือ เป็นสภาพธรรมที่ไม่ต้องรอกาลเวลาโดยแท้จริง ซึ่งเป็นญาณที่เกิดขึ้นเพื่อเสวยสันติสุขคือพระนิพพาน หลังจากมรรคญาณได้ทำการประหาณอนุสัยกิเลสสำเร็จลงแล้ว เปรียบเหมือนบุคคลที่ก้าวออกมาพ้นจากบ้านที่ถูกไฟไหม้นั้นโดยความสวัสดีและถึงสถานที่อยู่อันคงทนถาวรและปลอดภัยแล้ว หรือเปรียบเหมือนบุคคลที่ข้ามพ้นคูน้ำโดยความสวัสดีถึงสถานที่อันสุขสบายแล้ว หรือเปรียบเหมือนบุรุษที่ได้เฝ้ากราบทูลเรื่องราวเหตุที่ตนมาเฝ้านั้นแล้วและได้รับพระราชทานรางวัลจากพระราชาหรือได้รับการปฏิสันถารจากพระราชาเป็นอย่างดีในเรื่องที่พักหรือปัจจัยอย่างอื่น ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ย่อมมีความสุขสบาย หายจากความเหน็ดเหนื่อยและทุกข์ร้อนโดยสิ้นเชิง ข้อนี้ฉันใด พระโยคีบุคคลผู้ได้บรรลุถึงผลญาณ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมได้สำเร็จความเป็นพระอริยบุคคลอย่างสมบูรณ์ พร้อมกับได้เสวยวิมุตติสุขในสภาพของพระนิพพานอย่างเต็มเปี่ยม โดยไม่ต้องขวนขวายในสิ่งใดอีก

๑๖. ปัจจเวกขณญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่กำหนดพิจารณาสภาพธรรมต่าง ๆ หลังจากผลญาณดับลงแล้ว หมายความว่า เมื่อผลญาณดับลงแล้ว จิตก็ลงสู่ภวังค์เล็กน้อย ต่อจากนั้น ปัจจเวกขณญาณวิถีที่เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตของพระอริยบุคคลนั้น [ถ้าเป็นพระอรหันต์ก็เป็นมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต] ดวงใดดวงหนึ่ง ก็จะทำการพิจารณาสภาพธรรม ๕ ประการ คือ มัคคจิตที่ได้บรรลุแล้ว ผลจิตที่ได้ถึงแล้ว นิพพานที่ได้เสวยแล้ว กิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่ยังคงเหลืออยู่ [ยกเว้นพระอรหันต์ ไม่ต้องพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่อีก เพราะไม่มีกิเลสใด ๆ หลงเหลืออยู่ในขันธสันดานของพระอรหันต์อีกแล้ว] ฉะนั้น พระอริยบุคคลที่ได้ผ่านมัคควิถีมาแล้ว จึงต้องทำการพิจารณาสภาพธรรม ๓ อย่าง หรือ ๕ อย่าง ตามความสามารถของแต่ละบุคคล กล่าวคือ ถ้าเป็นพระอริยบุคคลที่เคยได้ศึกษาปริยัติมาเป็นอย่างดี ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมทั้งปวง ก็สามารถพิจารณาทั้ง ๕ อย่างได้ แต่ถ้าเป็นพระอริยบุคคลที่ไม่ได้สั่งสมในเรื่องปริยัติมา ก็ไม่รู้ทั่วถึงธรรมทั้งปวง ย่อมสามารถพิจารณาได้เพียง ๓ อย่าง คือ มรรค ผล และพระนิพพานเท่านั้น เมื่อสรุปความแล้ว พระอริยบุคคลทั้งหลายที่ได้ผ่านมัคควิถีมาแล้ว จำต้องพิจารณาสภาพธรรม ๓ ประการ คือ มรรค ผล นิพพาน ด้วยกันทุกท่านไม่มียกเว้น ส่วนกิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่ยังเหลืออยู่นั้น พิจารณาได้เฉพาะบางท่านเท่านั้น

ในบรรดาญาณ ๑๖ นั้น ตั้งแต่ญาณที่ ๓ คือ สัมมสนญาณ จนถึงญาณที่ ๑๒ คือ อนุโลมญาณ รวม ๑๐ ญาณ นี้เรียกว่า วิปัสสนาญาณ ๑๐ เพราะสัมมสนญาณ นั้น เริ่มเห็นไตรลักษณ์ของรูปนามอย่างเด่นชัดแล้ว

บางแห่งก็จัดว่า วิปัสสนาญาณ มีเพียง ๙ คือ นับตั้งแต่ญาณที่ ๔ คือ อุทยัพพยญาณ จนถึงญาณที่ ๑๒ คือ อนุโลมญาณ เพราะอุทยัพพยญาณ เป็นญาณแรกที่รู้เห็นไตรลักษณ์ของรูปนามด้วยปัญญาชนิดที่เป็นภาวนามยปัญญา อย่างแท้จริง โดยไม่ต้องอาศัยจินตามยปัญญาเข้ามาช่วยสนับสนุน เหมือนกับญาณ ๓ อย่างข้างต้นอีกแล้ว

ในบรรดาญาณ ๑๖ นั้น ญาณที่ ๑ ถึงญาณที่ ๑๓ คือ ตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ จนถึง โคตรภูญาณ และญาณที่ ๑๖ คือ ปัจจเวกขณญาณ นั้นจัดเป็นโลกียญาณ หมายถึง ญาณที่เป็นโลกียะ เนื่องจากยังรับอารมณ์ที่เป็นโลกีย์อยู่ หมายความว่า ญาณที่ ๑ ถึงญาณที่ ๑๒ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ ถึง อนุโลมญาณนั้น รับสภาพของรูปนามเป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นโลกียธรรมอย่างเดียว และกุศลจิตที่เกิดพร้อมด้วยญาณเหล่านี้ ก็มีเพียงมหากุศลญาณสัมปยุตตจิตเท่านั้น ซึ่งอยู่ในจำพวกโลกียจิต ฉะนั้น จึงจัดเป็นโลกียญาณโดยส่วนเดียว

ส่วนโคตรภูญาณ ถึงแม้จะสามารถหน่วงเหนี่ยวสภาพของพระนิพพานซึ่งเป็นโลกุตตระมาเป็นอารมณ์ได้บ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้เสพสภาพของพระนิพพานอย่างเต็มที่และยังไม่ได้ปล่อยขาดจากอารมณ์รูปนามไป ทั้งกุศลจิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับโคตรภูญาณนี้ ก็ยังเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต ซึ่งอยู่ในจำพวกโลกียจิตเหมือนกัน ฉะนั้น จึงยังเป็นโลกียญาณอยู่ อนึ่ง ปัจจเวกขณญาณที่เกิดตามหลังผลญาณในปัจจเวกขณวิถีนั้น แม้จะทำการพิจารณามรรค ผล นิพพานซึ่งเป็นโลกุตตรธรรมก็ตาม แต่ก็ยังมีการรับโลกียอารมณ์อยู่ กล่าวคือ กิเลสที่ละแล้วและกิเลสที่ยังเหลืออยู่ และจิตเหล่านี้ก็เป็นมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต [สำหรับพระเสกขบุคคล ๓] หรือเป็นมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต [สำหรับพระอรหันต์] ซึ่งอยู่ในจำพวกโลกียจิตเช่นเดียวกัน ฉะนั้น ปัจจเวกขณญาณนี้จึงจัดเป็นโลกียญาณด้วย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |