| |
สรุปความเรื่องวิริยเจตสิก   |  

วิริยเจตสิก อยู่ในกลุ่ม อัญญสมานราสี คือ หมวดแห่งอัญญสมานเจตสิก ๑๓ เป็น ปกิณณกเจตสิก คือ เป็นเจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ทั่วไปทุกประเภท แต่ประกอบไม่ได้ทั้งหมด ประกอบได้เป็นบางดวง ตามสมควรที่จะประกอบได้

วิริยเจตสิก เป็น นิยตโยคีเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้โดยแน่นอน หมายความว่า เมื่อระบุว่า ประกอบกับจิตดวงใดได้แล้ว เมื่อจิตดวงนั้นเกิดขึ้น ย่อมมีวิริยเจตสิกประกอบร่วมด้วยเสมอ และเมื่อระบุไว้ว่า ไม่ประกอบกับจิตดวงใด เมื่อจิตดวงนั้นเกิดขึ้น ย่อมไม่มีวิริยเจตสิกประกอบร่วมด้วยโดยประการทั้งปวง

วิริยเจตสิกประกอบกับจิตได้ ๑๐๕ ดวง ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ หสิตุปปาทจิต ๑ และโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง

ส่วนจิตที่วิริยเจตสิกไม่ประกอบร่วมด้วยนั้น มี ๑๖ ดวง ได้แก่ อเหตุกจิต ๑๖ ดวง [เว้นมโนทวาราวัชชนจิต ๑ หสิตุปปาทจิต ๑] จิตทั้ง ๑๖ ดวงนี้จึงได้ชื่อว่า อวิริยจิต ๑๖ แปลว่า จิตที่ไม่มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย

เหตุที่วิริยเจตสิกไม่ประกอบกับทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ นั้น เพราะทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยเหตุปัจจัยของตนที่ประชุมพร้อมกัน ดังกล่าวแล้วในเจตสิกดวงก่อน ๆ เมื่อเหตุปัจจัยครบ ๔ ประการนี้แล้ว ทวิปัญจวิญญาณจิตแต่ละดวง ย่อมเกิดขึ้น แต่ถ้าขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ แต่ละดวง ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ความพยายามต่ออารมณ์แต่ประการใด เพราะถึงแม้จะพยายามสักเพียงใดก็ตาม ถ้าเหตุปัจจัยไม่ครบบริบูรณ์ทั้ง ๔ ประการดังกล่าวแล้ว ทวิปัญจวิญญาณจิตแต่ละดวงย่อมเกิดขึ้นไม่ได้อยู่นั่นเอง

เหตุที่วิริยเจตสิกไม่ประกอบกับสัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวงนั้น เพราะสัมปฏิจฉนจิต ๒ เป็นจิตที่เกิดขึ้นทำหน้าที่เพียงเล็กน้อย คือ เพียงรับอารมณ์จากวิญญาณธาตุทั้ง ๕ ได้แก่ จักขุวิญญาณจิต โสตวิญญาณจิต ฆานวิญญาณจิต ชิวหาวิญญาณจิต และกายวิญญาณจิต อย่างใดอย่างหนึ่ง ทางทวารนั้น ๆ แล้วส่งให้สันตีรณจิตได้ไต่สวนต่อไป โดยที่ตนเองยังไม่ได้ทำความขวนขวานในอารมณ์แต่อย่างใด ก็หมดหน้าที่ของตนเสียแล้ว

เหตุที่วิริยเจตสิกไม่ประกอบกับสันตีรณจิต ๓ ดวงนั้น เพราะสันตีรณจิต ๓ ดวง เป็นจิตที่เพียงทำหน้าที่ไต่สวนอารมณ์ที่สัมปฏิจฉนจิตส่งมาให้ถึงที่แล้วเท่านั้น โดยไม่ต้องขวนขวายต่ออารมณ์นั้นแต่อย่างใด เพียงไต่สวนเพียงพิจารณานิดหน่อยว่า เป็นอารมณ์ประเภทใด คือ เป็นอนิฏฐารมณ์ [อารมณ์ที่ไม่ดี] อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ [อารมณ์ที่ดีปานกลาง] หรือ อติอิฎฐารมณ์ [อารมณ์ที่ดียิ่ง] โดยที่สันตีรณจิตแต่ละดวง ย่อมเกิดขึ้นตามสภาพของอารมณ์เหล่านั้นตามกฎแห่งธรรมนิยาม โดยไม่ต้องเกี่ยงหน้าที่กัน คือ เมื่ออนิฏฐารมณ์ปรากฏขึ้น ย่อมเป็นหน้าที่ของอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิบากจิตเป็นผู้ทำหน้าที่ไต่สวน เมื่ออิฏฐมัชฌัตตารมณ์ปรากฏขึ้น ย่อมเป็นหน้าที่ของอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิตเป็นผู้ทำหน้าที่ไต่สวนพิจารณา เมื่ออติอิฎฐารมณ์ปรากฏขึ้น ย่อมเป็นหน้าที่ของโสมนัสสันตีรณจิตเป็นผู้ทำหน้าที่ไต่สวนพิจารณาอารมณ์นั้น ด้วยเหตุนี้ วิริยเจตสิกจึงไม่ต้องประกอบร่วมกับสันตีรณจิตทั้ง ๓ ดวง เพราะเป็นจิตที่ไม่ต้องใช้ความขวนขวายพยายามต่ออารมณ์นั่นเอง

เหตุที่วิริยเจตสิกไม่ประกอบกับปัญจทวาราวัชชนจิตนั้น เพราะปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นจิตที่ขึ้นสู่วิถีรับอารมณ์ใหม่ทางปัญจทวารเป็นครั้งแรก หลังจากภวังคจิตผ่านไปแล้ว การเป็นสภาพจิตที่ปรากฏขึ้นรับอารมณ์ใหม่เป็นครั้งแรกนี้ ย่อมเป็นจิตที่ยังมีกำลังอ่อนอยู่ เนื่องจากไม่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจิตดวงก่อน ๆ เนื่องจากจิตดวงก่อนหน้านั้นเป็นภวังคจิต ซึ่งเป็นจิตที่รับอารมณ์เก่าจากภพก่อน ได้แก่ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ คตินิมิตอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงไม่เป็นปัจจัยสนับสนุนจิตดวงหลัง ๆ ด้วยแหตุนี้ ปัญจทวาราวัชชนจิตจึงเป็นจิตที่เกิดขึ้นเพื่อรับอารมณ์มาสู่ปัญจทวารแล้วก็ดับลงพอดี ยังไม่ได้ขวนขวายต่ออารมณ์นั้นแต่อย่างใด เรียกว่า จิตที่เปิดประตูรับอารมณ์ใหม่ทางปัญจทวาร เพราะฉะนั้น วิริยเจตสิกจึงไม่เข้าประกอบกับปัญจทวาราวัชชนจิตนั้น

วิริยเจตสิกย่อมเกิดร่วมกับเจตสิกทั้งหมด ๕๑ ดวง [เว้นวิริยะ] คือ

เมื่อประกอบกับอกุศลจิต ๑๒ ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๒ [เว้นวิริยะ] และอกุศลเจตสิก ๑๔ ตามที่จิตแต่ละดวงจะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วยได้

เมื่อประกอบกับอเหตุกจิต ๒ ดวง ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ หสิตุปปาทจิต ๑ ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๑ [เว้นวิริยะและฉันทะ] ตามที่จิตแต่ละดวงจะมีเจตสิกอะไรประกอบร่วมด้วยได้

เมื่อประกอบกับโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๒ [เว้นวิริยะ] และโสภณเจตสิก ๒๕ ตามที่จิตแต่ละดวงจะมีเจตสิกอะไรประกอบร่วมด้วยได้

เมื่อจิตแต่ละดวงเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมด้วยเจตสิกทั้งหลาย วิริยเจตสิกย่อมเกิดพร้อมกับเจตสิกเหล่านั้นด้วย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |