| |
อหิริกะ ๔ ประการ   |  

อหิริกะ มีสภาพความเป็นไปโดยการไม่คำนึงถึงสถานภาพของตนอันสมควรให้เกิดความละอาย ๔ ประการ คือ

๑. วยอหิริกะ ความไม่ละอายต่อวัย หมายความว่า เมื่ออหิริกะ คือ ความไม่ละอายเกิดขึ้นแล้ว บุคคลย่อมไม่คำนึงถึงวัยของตนเอง ถึงแม้ตนจะอยู่ในวัยหนุ่มสาว วัยผู้ใหญ่ หรือวัยผู้สูงอายุ ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านประสบการณ์และการเรียนรู้มาแล้ว หรือแม้กระทั้งเคยฝึกฝนอบรมพัฒนาตนเองมาแล้วก็ตาม เมื่ออหิริกะเข้าครอบงำแล้วย่อมลืมสถานภาพเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง แล้วแสดงปฏิกิริยาอาการหรือความคิดความเห็นที่ไม่ดีไม่งามหรือไม่ถูกต้อง ซึ่งบ่งบอกให้บุคคลอื่นรู้ถึงความเป็นบุคคลผู้ไม่มีความละอายออกมาทั้งต่อหน้าและลับหลัง ทำให้เกิดความไม่เหมาะสม ไม่น่าดู ไม่น่าเข้าใกล้ ไม่น่าเคารพเกรงขาม หรือไม่น่าคบหาสมาคมของกัลยาณชนผู้ได้พบเห็น

๒. ภาวอหิริกะ ไม่ละอายต่อเพศ หมายความว่า เมื่ออหิริกะเข้าครอบงำจิตของบุคคลใดแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นหมดความละอาย โดยไม่คำนึงถึงเพศของตนว่า ตนเองอยู่ในเพศใด คือ เพศหญิง เพศชาย หรือเพศบรรพชิต เพศคฤหัสถ์ การกระทำทุจริตเช่นนั้นไปแล้วจะเหมาะสมแก่เพศของตนหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนั้นจึงแสดงปฏิกิริยาหรือการกระทำที่ไม่ดีไม่งามออกมา โดยไม่เหมาะสมกับเพศของตน

๓. กุลอหิริกะ ไม่ละอายต่อตระกูล หมายความว่า เมื่ออหิริกะเข้าครอบงำจิตของบุคคลใดแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นหมดความละอาย โดยไม่คำนึงถึงวงศ์ตระกูลอันมีเกียรติของตนว่า บรรพบุรุษของตนได้เคยสั่งสมคุณงามความดีมาจนเป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่ละอายย่อมทำลายชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลของตนโดยสิ้นเชิง ด้วยการกระทำทุจริตทุราชีพต่าง ๆ โดยไม่ยั้งคิดพิจารณาให้รอบคอบว่าเหมาะสมหรือไม่ประการใด หรือนักบวชที่ถูกอหิริกะเข้าครอบงำแล้ว ย่อมไม่คำนึงถึงญาติโยมที่ให้ความอุปัฏฐากอุปถัมภ์แก่ตนเองย่อมกระทำทุจริต ทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง ทางใจบ้าง จนจิตใจหยาบกระด้างและกล้ากระทำทุจริตต่าง ๆ ได้โดยไม่นึกละอายใจเลย

๔. อกุสลอหิริกะ ไม่ละอายต่ออกุศล หมายความว่า เมื่ออหิริกะเข้าครอบงำจิตของบุคคลใดแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นขาดความละอาย จากบุคคลผู้มีอุปนิสัยเคยทำบุญทำกุศล บำเพ็ญคุณงามความดีมา ก็ลืมคุณงามความดีนั้นเสียสิ้นแล้วกระทำอกุศลกรรมต่าง ๆ อันทำให้กุศลกรรมหรือคุณงามความดีนั้นเสื่อมสิ้นไป เพราะความไม่ละอายต่อบาปธรรมหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง หรือไม่กลัวอกุศลธรรมจะหมักหมมในใจของตนเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |