| |
จตุธาตุววัตถาน ๑   |  

จตุธาตุววัตถาน หมายถึง การกำหนดพิจารณาสังขารทั้งปวงโดยความเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ดังแสดงวจนัตถะว่า “สพฺเพสุ สงฺขาเรสุ จตุธาตุโต ววฏฺฐาตีติ = จตุธาตุววตฺถานํ” แปลว่า การกำหนดพิจารณาในสังขารทั้งปวงโดยความเป็นธาตุ ๔ ชื่อว่า จตุธาตุววัตถาน ได้แก่ การพิจารณาสังขารทั้งปวงให้เห็นเป็นแต่เพียงธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เป็นแต่เพียงธาตุทั้ง ๔ เกาะกุมกันเข้าโดยอาศัยกรรมในอดีตเป็นตัวจัดสรรให้สมส่วนกัน และมีความเป็นไปตามเหตุปัจจัยของธาตุนั้น ๆ อยู่เนืองนิตย์ โดยการกำหนดเพ่งบริกรรมเรื่อยไป จนจิตมีความสงบประณีตยิ่งขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ขณิกสมาธิจนถึงอุปจารสมาธิ

หมายเหตุ... อาหาเรปฏิกูลสัญญาและจตุธาตุววัตถาน อารมณ์กรรมฐาน ๒ อย่างนี้ ย่อมให้บรรลุถึงเพียงอุปจารสมาธิเท่านั้นเป็นอย่างสูง ไม่สามารถให้ถึงฌานได้ เนื่องจากสภาพของอารมณ์มีความละเอียดอ่อนและมีสภาพเป็นปรมัตถ์ กล่าวคือ เป็นสภาพของรูปนามที่มีความเปลี่ยนแปลงไป สลายไป และดับไปอยู่เนืองนิตย์ ฉะนั้น อารมณ์ ๒ อย่างนี้ พระโยคีบุคคลสามารถกำหนดพิจารณาให้เกิดวิปัสสนาญาณได้ โดยกำหนดพิจารณาเป็นสภาพของรูปธรรมนามธรรม ที่มีความเปลี่ยนแปลงไป สลายไป และดับไป เพราะเหตุปัจจัยต่าง ๆ เข้ามากระทบและปรุงแต่ง เป็นสภาพที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่มีสาระแก่นสารแต่อย่างใด โดยกำหนดพิจารณาดังนี้เรื่อยไป จนวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้นไป จนถึงมรรคญาณ ผลญาณเกิด และปัจจเวกขณญาณวิถีเกิดขึ้นพิจารณาสภาพของมรรค ผล นิพพาน กิเลสที่ละแล้ว และกิเลสที่ยังเหลืออยู่ ดังกล่าวแล้ว ในวิธีการเจริญวิปัสสนา


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |