ไปยังหน้า : |
การอำนวยผลของมหาวิบาก มี ๔ ฐานะ คือ
๑. ในฐานะปฏิสนธิกิจ หมายถึง การเกิดขึ้นในภพชาติใหม่แห่งรูปนามขันธ์ ๕ ได้แก่ ปฏิสนธิจิตพร้อมด้วยเจตสิกที่ประกอบและกัมมชรูป ซึ่งให้เกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดาในกามสุคติภูมิ ๗ ตามสมควรแก่มหาวิปากจิตดวงนั้น ๆ หมายความว่า ถ้ามหาวิบากญาณสัมปยุตตจิตนำเกิด ก็เกิดเป็นติเหตุกบุคคล เป็นผู้มีไตรเหตุ ถ้ามหาวิบากญาณวิปปยุตตจิตนำเกิด ก็เกิดเป็นทวิเหตุกบุคคล ผู้มี ๒ เหตุ
๒. ในฐานะภวังคกิจ หมายถึง การรักษาภพชาติให้ดำรงอยู่จนหมดอายุขัย หมายความว่า เมื่อมหาวิปากจิตนำเกิดเป็นบุคคลนั้น ๆ เสร็จแล้ว มหาวิปากจิตดวงนั้นแหละ จะทำหน้าที่รักษาสถานภาพของบุคคลนั้นไว้ จนกว่าจะหมดกำลัง ไม่ให้ตายก่อนกำหนด และไม่ให้เปลี่ยนสถานภาพไปเป็นอย่างอื่น เช่น ผู้ที่เกิดเป็นทวิเหตุกบุคคล ก็รักษาสถานภาพความเป็นทวิเหตุกบุคคลนั้นไว้ ผู้ที่เป็นติเหตุกบุคคล ก็รักษาสถานภาพความเป็นติเหตุกบุคคลนั้น จนกว่าจะตาย นอกจากมีเหตุปัจจัยบางอย่าง มาขัดขวางให้สถานภาพนั้นเลือนหายไป เช่น ประสบอุบัติเหตุอย่างสาหัสทำให้ความรู้สึกนึกคิดหายไป หรือเกิดเป็นบ้าเสียสติขึ้นมา เป็นต้น ทำให้ภาวะความรู้สึกนึกคิดของบุคคลนั้นสูญเสียไปชั่วคราวก็ดี หรือจนตลอดชีวิตก็ดี ตามแต่กำลังของกรรมที่มาเบียดเบียนนั้นจะมีกำลังมากหรือน้อยเท่านั้น
๓. ในฐานะจุติกิจ หมายถึง การเคลื่อนไปจากภพชาติที่เกิดอยู่นั้น เมื่อมหาวิปากจิตนั้นหมดกำลังลง ได้แก่ การตายนั่นเอง หมายความว่า เมื่อบุคคลนั้นหมดอายุขัยลง ถึงเวลาตาย มหาวิปากจิตที่นำบุคคลนั้นมาเกิดในภพชาตินั้น จะทำหน้าที่เป็นจิตดวงสุดท้ายในภพชาตินั้น คือ การเคลื่อนจากภพชาตินั้น เป็นอันสิ้นสุดสถานภาพของบุคคลนั้นลง ด้วยการตายนั่นเอง
๔. ในฐานะตทาลัมพนกิจ หมายถึง การหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ที่กามชวนจิตได้เสพเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถึง ๗ ขณะ [ในเวลาปกติ] หรือ ๕ ขณะ [ในเวลาใกล้ตาย] มาเสพต่ออีก ๒ ขณะก็ดับไป คือ ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ มหาวิปากจิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ย่อมทำหน้าที่เป็นตทาลัมพนะ ถ้าอารมณ์นั้นเป็นอติอิฏฐารมณ์ มหาวิปากจิตที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ย่อมทำหน้าที่เป็น ตทาลัมพนะ [ถ้าอารมณ์นั้น เป็นอนิฏฐารมณ์ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิปากจิต ย่อมทำหน้าที่เป็นตทาลัมพนะ ดังกล่าวแล้วในเรื่องอเหตุกจิต] ตามสภาพของอารมณ์
เพราะฉะนั้น บุคคลที่เกิดมาด้วยมหาวิปากจิต ๘ ดวงใดดวงหนึ่ง มหาวิปากจิตดวงนั้นนั่นแหละ ย่อมนำบุคคลนั้นให้เกิดมาเป็นมนุษย์หรือเทวดา ในกามสุคติภูมิ ๗ ภูมิใดภูมิหนึ่ง ตามสมควรแก่บุคคล เรียกว่า ปฏิสนธิ ซึ่งจิตดวงนั้นนั่นแหละ จะแปรสภาพมาทำหน้าที่ควบคุมรักษาสถานภาพของบุคคลนั้นไว้ตลอดชีวิต ยกเว้นแต่มีวิบากกรรมบางอย่างมาปิดกั้นไว้ไม่ให้ทำหน้าที่ได้เต็มที่ หรือเบียดเบียนกำลังของมหาวิปากจิตดวงนั้นให้อ่อนกำลังลงไปเท่านั้น แต่เมื่อพ้นจากวิบากกรรมนั้นแล้ว มหาวิปากจิตดวงนั้น จะทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ขึ้นมาอีก เรียกว่า ภวังค์ และเมื่อรับอารมณ์ทางทวาร ๖ ที่เป็นกามอารมณ์ ในกามวิถี ที่เป็นอติมหันตารมณ์หรือ อวิภูตารมณ์ อันเป็นอารมณ์ที่มีกำลังมากหรือปรากฏชัดเจนมาก มหาวิปากจิตดวงนี้ก็จะทำหน้าที่เป็นตทาลัมพนะ คือ หน่วงเหนี่ยวหรือเสพอารมณ์ที่เหลือจากที่ชวนะได้เสพเสร็จแล้ว อีก ๒ ขณะ เพื่อให้อารมณ์นั้นหมดอายุลงพอดี ไม่ให้มีเศษอะไรเหลืออยู่ แล้วก็ลงสู่ภวังค์เหมือนเดิมต่อไป เรียกว่า ตทาลัมพนะ และเมื่อถึงเวลาตาย มหาวิปากจิตดวงนี้แหละ ก็จะทำหน้าที่พาตายจากภพชาตินั้น เรียกว่า จุติ เป็นอันสิ้นสุดภพชาตินั้นลง
สรุปความแล้ว มหาวิปากจิต ย่อมมีสภาพเหมือนกับมหากุศลจิต โดยเวทนา สัมปโยคะ และสังขาร แต่เมื่อว่าโดยคุณสมบัติในการทำหน้าที่แล้ว มหาวิปากจิตย่อมต่างไปจากมหากุศลจิตโดยสิ้นเชิง เพราะมหาวิปากจิตนั้นทำหน้าที่ปฏิสนธิ ภวังค์ ตทาลัมพนะและจุติ ในฐานะเป็นวิปากจิตดังกล่าวแล้ว แต่มหากุศลจิตนั้น ทำหน้าที่เป็นชวนะเพียงอย่างเดียว ในฐานะเป็นตัวกรรมหรือเป็นตัวเหตุ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มหาวิปากจิต มี ๘ ดวง คือ