| |
ความหมายของอิตถีภาวรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๒๕๓ ท่านได้แสดงถึงความหมายของอิตถีภาวรูปไว้ดังต่อไปนี้

คำว่า อิตถี [หญิง] คือ กองขันธ์ ๕ ที่ตั้งอยู่ในลักษณะไม่สะอาด

คำว่า อิตถัตตะ [ความเป็นหญิง] คือ รูปที่ทำให้กองขันธ์ ๕ ตั้งอยู่เป็นไปอย่างนั้น โดยมีรูปวิเคราะห์ว่า ภาวะของหญิง ชื่อว่า อิตถัตตะ

เพราะฉะนั้น คำว่า อิตถัตตะ จึงหมายถึง ลักษณะที่เป็นเหตุเกิดแห่งเพศหญิง สัณฐานของผู้หญิง การกระทำของผู้หญิง และอาการของผู้หญิง

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๒๕๔ ได้แสดงความหมายของอิตถีภาวรูปไว้ดังต่อไปนี้

อิตถีภาวรูป หมายถึง รูปที่แสดงความเป็นหญิง เป็นรูปธรรมที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน มีแผ่ซ่านอยู่ทั่วไปในร่างกาย เป็นสภาพธรรมที่รู้ได้ด้วยใจ คือ รู้ได้ทางมโนทวารวิถีเท่านั้น มิใช่รู้ได้ด้วยตา หรือรู้ได้ด้วยหู เป็นต้นแต่ประการใด การที่เห็นรูปร่างสัณฐานหรือได้ยินเสียง เป็นต้นแล้ว ก็สามารถรู้ได้ว่าเป็นหญิงนั้น แท้ที่จริงแล้ว หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะปกติของตา ย่อมมีสมรรถภาพเพียงแต่ให้จิตอาศัยเห็นสีต่าง ๆ และปกติของหูก็มีสมรรถภาพเพียงให้จิตอาศัยได้ยินเสียงต่าง ๆ เท่านั้นเอง ดังนี้เป็นต้น ตาย่อมไม่สามารถเห็นเป็นหญิงได้ หูก็ไม่สามารถได้ยินเป็นหญิงได้ หรือปัญจทวารอื่น ๆ ได้แก่ จมูก ลิ้น กาย ย่อมไม่สามารถรับรู้ความเป็นหญิงได้เช่นเดียวกัน แต่ที่รู้ว่าเป็นหญิงนั้น ย่อมรู้ได้ด้วยใจ โดยอาศัยภาวรูปที่เป็นส่วนแสดงเครื่องหมายต่าง ๆ ออกมานั่นเอง

บทสรุปของผู้เขียน :

อิตถีภาวรูป หมายถึง รูปที่แสดงความเป็นเพศหญิง เป็นรูปธรรมที่เกิดจากกรรม เป็นสมุฏฐาน มีแผ่ซ่านไปทั่วร่างกายของสตรี เป็นรูปธรรมที่รู้ได้ด้วยใจ คือ รู้ได้โดยแน่นอนทางมโนทวารวิถีเท่านั้น ไม่สามารถรู้ได้ [โดยแน่นอน] ด้วยทวารทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เพราะการเห็นรูปร่างสัณฐาน หรือได้ยินเสียง เป็นต้น ของสตรีนั้น ไม่สามารถรู้ถึงสภาพความเป็นหญิงที่แท้จริงได้ เพราะสมรรถภาพของทวาร ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้น มีขอบเขตจำกัดเฉพาะอารมณ์ของตนเท่านั้น กล่าวคือ ตามีสมรรถภาพเพียงให้จิตอาศัยเห็นสีต่าง ๆ ที่เรียกว่า รูปารมณ์ เท่านั้น หูมีสมรรถภาพเพียงให้จิตอาศัยรับรู้เสียงต่าง ๆ ที่เรียกว่า สัททารมณ์ เท่านั้น จมูกมีสมรรถภาพเพียงให้จิตอาศัยรับรู้กลิ่นต่าง ๆ ที่เรียกว่า คันธารมณ์ เท่านั้น ลิ้นมีสมรรถภาพเพียงให้จิตอาศัยรู้รสต่าง ๆ ที่เรียกว่า รสารมณ์ เท่านั้น และกายก็มีสมรรถภาพเพียงให้จิตอาศัยรับรู้สัมผัสต่าง ๆ ที่เรียกว่า โผฏฐัพพารมณ์เท่านั้น

ตาไม่สามารถเป็นฐานให้จิตอาศัยเห็นความเป็นหญิงหรือความเป็นชายได้ หูไม่สามารถเป็นฐานให้จิตอาศัยได้ยินความเป็นหญิงหรือความเป็นชายได้ จมูกไม่สามารถเป็นฐานให้จิตอาศัยรู้กลิ่นแห่งความเป็นหญิงหรือความเป็นชายได้ ลิ้นไม่สามารถเป็นฐานให้จิตอาศัยรู้รสแห่งความเป็นหญิงหรือความเป็นชายได้ และกายประสาทก็ไม่สามารถเป็นฐานให้จิตอาศัยรู้การกระทบกับความเป็นหญิงหรือความเป็นชายได้ แต่ที่รู้ว่าเป็นหญิงหรือเป็นชายนั้น เป็นการรู้ด้วยใจโดยอาศัยภาวรูปที่เป็นเครื่องหมายแสดงภาวะของตนออกมา หรือการสังเกต การจดจำ และการคิดพิจารณาบุคลิกลักษณะของหญิงทั้งหลายเท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |