| |
ลักขณาทิจตุกะของมานเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของมานเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้รู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. อุนนะตะลักขะโณ มีความเย่อหยิ่งจองหองลำพองตน เป็นลักษณะ หมายความว่า สภาพของมานเจตสิกนี้ ย่อมมีอาการเย่อหยิ่งจองหองลำพองตน โดยการยกตนไปเปรียบเทียบกับบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่น แล้วมีการถือตัวถือตนให้แตกต่างไปจากบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นเสมอ เช่น ถือว่าเราดีกว่าเขา เขาดีกว่าเรา เราเสมอเขา เขาเลวกว่าเรา หรือเราดีกว่าสิ่งนั้น สิ่งนั้นดีกว่าเรา เป็นต้นแล้วมีความพึงพอใจในภาวะความเป็นอยู่ของตนตามที่ยึดถือนั้น ไม่ต้องการไปคบหาสมาคมกับบุคคลอื่น หรือไม่น้อมไปหาสิ่งที่ตนเข้าไปเปรียบเทียบนั้น ด้วยเหตุนี้ มานเจตสิกจึงประกอบกับโลภมูลจิต เพราะอาศัยการยึดถือในความเป็นตัวตนนั่นเอง

๒. สัมปัคคะหะระโส มีการส่งเสริมสัมปยุตตธรรม เป็นกิจ หมายความว่า มานเจตสิกนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมส่งเสริมสนับสนุนสัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนให้มีความลำพองตนให้ฟูขึ้น ด้วยการยกตนไปเปรียบเทียบกับบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นอยู่เสมอ ทำให้ขาดมุทุตา คือ ความอ่อนน้อมเข้าไปหาบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่น เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้บุคคลผู้มีมานะครอบงำนั้น มีอาการเป็นฝักฝ่ายตรงข้ามกับบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นที่ตนได้ยกตนเข้าไปเปรียบเทียบอยู่เสมอ ไม่สามารถน้อมใจเข้าไปเป็นฝักฝ่ายเดียวกับบุคคลหรือสิ่งนั้นได้

๓. เกตุกัม๎ยะตาปัจจุปปัฏฐาโน มีความประสงค์จะยกตนให้สูงสุด ดุจธงชัยที่เขาชักไว้เหนือธงทั้งหลาย เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า สภาพของมานเจตสิก ย่อมมีสภาพที่ต้องการฟูขึ้นให้เลิศลอยกว่าสภาวธรรมเหล่าอื่น ด้วยเหตุนี้ เมื่อบุคคลใดถูกมานะเข้าครอบงำแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นพยายามที่จะยกตนให้สูงกว่าบุคคลเหล่าอื่น ต้องการความโดดเด่นกว่าบุคคลเหล่าอื่น ทั้งในทางดีและทางชั่ว เช่น ต้องการดีกว่าบุคคลอื่น หรือต้องการชั่วเลวทรามโหดร้ายกว่าบุคคลอื่น หรือเป็นบุคคลที่ชอบเรียกร้องความสนใจจากบุคคลทั้งหลายให้มาสนใจตน หรือให้มาสนใจพฤติกรรมที่ตนแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นทางดีหรือทางชั่วก็ตาม

๔. ทิฏฐิคตวิปปะยุตตะโลภะปะทัฏฐาโน มีโลภะที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า มานเจตสิกนี้มีสภาพที่ตรงข้ามกับทิฏฐิเจตสิก คือ ทิฏฐิเจตสิกนั้นมีสภาพที่เข้าไปยึดติดผูกพันกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยการยึดถือให้ผิดไปจากสภาพความเป็นจริงของสิ่งนั้น ส่วนมานเจตสิกนี้ มีสภาพที่เป็นไปโดยการยึดถือในความเป็นฝักฝ่ายตรงข้ามกับบุคคลหรือสิ่งที่ตนรับรู้ โดยอาการเย่อหยิ่งไม่น้อมเข้าไปหาสิ่งนั้น ด้วยเหตุนี้ มานเจตสิกกับทิฏฐิเจตสิกจึงเกิดร่วมกันในจิตดวงเดียวกันไม่ได้ เมื่อทิฏฐิเจตสิกต้องเกิดร่วมกับทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ ดวงโดยแน่นอนแล้ว มานเจตสิกจึงจำเป็นต้องเกิดร่วมกับโลภมูลจิต โดยมีความทะยานอยากและยึดมั่นถือมั่นในความเป็นตัวตนเป็นพื้นฐาน จึงต้องเกิดกับโลภมูลจิตที่เป็นทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ ดวง แต่เกิดเป็นบางครั้งบางคราว ในขณะที่มีการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นแล้วเกิดอาการเย่อหยิ่งจองหองลำพองตนขึ้นมาเท่านั้น ถ้าทิฏฐิคตวิปปยุตตจิตมีอารมณ์เป็นอย่างอื่น นอกจากอารมณ์ของมานเจตสิกดังกล่าวแล้ว มานเจตสิกย่อมไม่ประกอบร่วมด้วย ด้วยเหตุนี้ มานเจตสิก จึงได้ชื่อว่า กทาจิเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้เป็นบางครั้งบางคราว เฉพาะในขณะที่มีอารมณ์ที่เกิดการเปรียบเทียบระหว่างตนเองกับบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่นเท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |