| |
กิเลสที่เกี่ยวกับอวัตถาภูมิ   |  

กิเลส หมายถึง สภาพธรรมที่มีความเศร้าหมองหรือเร่าร้อน ซึ่งทำให้ร่างกายและจิตใจของสัตว์ทั้งหลาย ที่ตนเองเข้าไปประกอบร่วมด้วยนั้นพลอยเศร้าหมองและเร่าร้อนตามไปด้วย มี ๑๐ ประการ คือ

๑. โลภะ ความโลภ ความอยากได้ ความยึดติด ความทะยานอยากดิ้นรน แส่หาในอารมณ์อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี

๒. โทสะ ความโกรธ ความอาฆาต พยาบาท เคียดแค้น ชิงชัง ความเกลียด ความกลัว ความอาย ความขวยเขิน เป็นต้น ในอารมณ์อันไม่น่าชอบใจ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธัมมารมณ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง

๓. โมหะ ความหลง ความงมงาย ความไม่รู้ตามสภาพที่เป็นจริงของสิ่งทั้งปวง ในอารมณ์ต่าง ๆ อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง

๔. มานะ ความเย่อหยิ่ง ถือตัวถือตน โดยมีการเปรียบเทียบตนเองกับบุคคลอื่นหรือสิ่งอื่น เพราะปรารภถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือธัมมารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง อันเป็นที่ตั้งแห่งความเย่อหยิ่งถือตัวถือตน

๕. ทิฏฐิ ความเห็นผิด การถือผิด จากสภาพที่เป็นความจริง ในอารมณ์ต่าง ๆ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธัมมารมณ์ อันเป็นที่ตั้งแห่งความเห็นผิด

๖. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ตัดสินใจไม่เด็ดขาด เมื่อปรารภถึงคุณพระรัตนตรัย ชาตินี้ ชาติหน้า เป็นต้น ทำให้ขาดความมั่นใจที่จะเชื่อถือและปฏิบัติตาม จึงทำให้โมหะ คือ อวิชชา เข้าครอบงำในอารมณ์นั้น ๆ อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย

๗. ถีนะ ความเซื่องซึม ความท้อถอยจากคุณงามความดีที่เคยทำแล้วก็ดี ที่ยังไม่เคยทำก็ดี ทำให้จิตใจเหินห่างจากคุณความดี แล้วกลับกลายเป็นอกุศลจิตไป ในขณะที่ปรารภถึงอารมณ์ต่าง ๆ อันเป็นที่ตั้งแห่งความท้อถอย

๘. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน จับอารมณ์ไม่มั่น ย่อมซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ ทำให้จิตใจขาดกำลังแห่งความสงบ ที่จะหยุดยั้งคิดพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายได้ ในขณะที่ปรารภถึงอารมณ์ต่าง ๆ อันเป็นที่ตั้งแห่งความฟุ้งซ่าน

๙. อหิริกะ ความไม่ละอายต่อทุจริต ทุราชีพต่าง ๆ ทำให้จิตมุ่งไปในสิ่งที่เป็นอกุศลได้โดยง่าย เมื่อปรารภถึงอารมณ์ต่าง ๆ อันเป็นไปในตนเอง ด้วยอำนาจการไม่เคารพหรือไม่ให้เกียรติแก่ตนเองเป็นเบื้องต้น

๑๐. อโนตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวต่อทุจริตทุราชีพหรือไม่เกรงกลัวต่อผลของทุจริตทุราชีพที่จะทำนั้น ทำให้จิตมุ่งไปในสิ่งที่เป็นอกุศลได้ง่าย เมื่อปรารภถึงอารมณ์ต่าง ๆ อันเป็นไปในบุคคลอื่น ด้วยอำนาจการไม่ให้ความเคารพ หรือไม่ให้เกียรติแก่บุคคลอื่น เป็นเบื้องต้น

กิเลสทั้ง ๑๐ ประการ เหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างเข้าไปยึดเอาสภาพธรรมต่าง ๆ ที่เป็นไปในภพภูมินั้น ๆ มาเป็นอารมณ์ จึงเรียกกิเลสเหล่านี้ไปตามสภาพธรรมที่ตนเองไปยึดมาเป็นอารมณ์นั้น มี ๓ ประการ คือ

๑. กิเลสกาม หมายถึง กิเลส ๑๐ ประการ เหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างเข้าไปยึดเอาวัตถุกาม คือ กามาวจรจิต ๕๔ เจตสิก ๕๒ และรูป ๒๘ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างมาเป็นอารมณ์และมีความยึดมั่นผูกพันอยู่ในอารมณ์นั้น ๆ

๒. กิเลสรูป หมายถึง กิเลส ๑๐ ประการเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ไปยึดเอาวัตถุรูป คือ รูปาวจรจิต ๑๕ เจตสิก ๓๕ หรือ รูปฌาน รูปสมาบัติ รูปภพ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง มาเป็นอารมณ์ และมีความยึดมั่นผูกพันอยู่ในอารมณ์นั้น ๆ

๓. กิเลสอรูป หมายถึง กิเลส ๑๐ ประการเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ไปยึดเอาวัตถุอรูป คือ อรูปาวจรจิต ๑๒ เจตสิก ๓๐ หรือ อรูปฌาน อรูปสมาบัติ อรูปภพ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างมาเป็นอารมณ์และมีความยึดมั่นผูกพันอยู่ในอารมณ์นั้น ๆ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |