| |
ลักษณะพิเศษของโลภมูลจิต   |  

โลภมูลจิต เป็นจิตที่มีสภาพอยากได้และยึดติดในอารมณ์อันน่าใครน่าปรารถนาน่าชอบใจ ที่เรียกว่า อิฏฐารมณ์ ทั้งที่เป็นสภาวอิฏฐารมณ์ [อารมณ์ที่น่าชอบใจโดยสภาวะที่เป็นจริง] และปริกัปปอิฏฐารมณ์ [อารมณ์ที่น่าชอบใจที่เป็นไปเฉพาะบางบุคคลหรือบางโอกาสเท่านั้น] ฉะนั้น จึงมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกกะ ดังต่อไปนี้

๑. อารัมมะณะคะหะณะลักขะโณ มีการถือมั่นในอารมณ์ เป็นลักษณะ หมายความว่า เมื่อโลภะเกิดขึ้นแล้วย่อมมีสภาพยินดีพอใจติดใจในอารมณ์นั้น ด้วยอำนาจความเห็นผิดบ้าง ด้วยอำนาจแห่งมานะบ้าง ที่เป็นกำลังสนับสนุนโลภะให้มีกำลังมากขึ้น

๒. อะภิสังคะระโส มีการยึดติดในอารมณ์ เป็นกิจ หมายความว่า โลภะเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำหน้าที่ยึดหน่วงอารมณ์นั้นไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมปล่อย เปรียบเหมือนงูที่จับเขียดได้แล้วย่อมรัดไว้อย่างแน่นไม่ยอมปล่อยให้หลุดไป ฉันนั้น

๓. อะปะริจาคะปัจจุปปัฏฐาโน มีการไม่สละอารมณ์ เป็นอาการปรากฏหมายความว่า สภาพของโลภะนี้ ย่อมปรากฏออกมาให้พิจารณาเห็นได้ด้วยปัญญา คือ มีสภาพยึดติดในอารมณ์นั้น ๆ ไม่ยอมปล่อยไปง่าย ๆ จะเป็นสิ่งที่ผิด หรือถูกก็ตาม เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อที่ตกไปที่แผ่นกระเบื้องอันร้อนจัด ย่อมติดหนึบกับแผ่นกระเบื้องนั้น ยากที่จะแกะออกได้ หรือเปรียบเหมือนลิงที่ติดตัง [ยางเหนียวที่นายพรานดักสัตว์ไปวางกับดักไว้] ยากที่จะแกะออกได้เช่นกัน

๔. สังโยชะนิยะธัมเมสุ อัสสาทะทัสสะนะปะทัฏฐาโน มีการเห็นสังโยชน์เป็นที่น่ายินดีพอใจ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า บุคคลที่มีความยินดีเพลิดเพลินในสิ่งทั้งหลาย มองโลกและสรรพสิ่งเป็นของสวยงาม เป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์ ต้องการอารมณ์ที่สุนทรีย์อยู่ตลอดเวลา อยากถลาโลดแล่นไปในที่ต่าง ๆ หรืออยากอภิรมย์ชมเชยสิ่งต่าง ๆ โดยไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักเบื่อ ตกเป็นทาสของตัณหาอยู่เป็นนิตย์ ย่อมทำให้เกิดความโลภได้ง่าย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |