ไปยังหน้า : |
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๕๑๑ ท่านได้แสดงสัปปฏิฆรูปและอัปปฏิฆรูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้
ในคำว่า สปฺปฏิฆรูปญฺจ [รูปที่มีการกระทบซึ่งกันและกันได้ตามสภาวะ] นี้ คำว่า ปฏิฆะ คือ การกระทบ
การกระทบมี ๒ อย่าง คือ การกระทบระหว่างอารมณ์กับนามธรรมที่รับอารมณ์และการกระทบกันระหว่างมหาภูตรูป
๑. การกระทบระหว่างอารมณ์กับนามธรรมที่รับอารมณ์ หมายถึง การกระทบที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทวาร คือ ปสาทรูปและภวังคจิต
๒. การกระทบกันระหว่างมหาภูตรูป หมายถึง การกระทบที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง กำเริบ การกระเทือน บีบคั้น และพินาศไป เป็นต้น ในรูปธรรมที่มีลักษณะแปรปรวน
สัปปฏิฆรูป หมายถึง รูปที่มีการกระทบ [ซึ่งกันและกันได้ตามสภาวะ]
ในคัมภีร์วิภาวินีถือเอาการกระทบกันระหว่างอารมณ์กับนามรูปที่รับอารมณ์ โดยเปรียบการกระทบกันระหว่างมหาภูตรูปว่า “การเผชิญหน้า คือ การพบกันของรูปธรรมที่สัมผัสกับปสาทรูป [สัมปัตตโคจรัคคาหกรูป] หรือไม่สัมผัสกับปสาทรูป [อสัมปัตตโคจรัคคาหกรูป] โดยเนื่องกับที่ตั้ง ชื่อว่า ปฏิฆะ เพราะเป็นเหมือนปะทะกัน เปรียบเหมือนเมื่อคน ๒ คนปะทะกัน คนอ่อนแอย่อมจะโยกไหว ฉันใด เมื่อมีการเผชิญหน้ากันเช่นนี้ ภวังคจิตที่มีกำลังน้อยย่อมไหว เพราะมีสภาพเป็นนามธรรม ฉันนั้น” ข้อความนั้น ไม่สมควร เพราะการกระทบของกระแสรูปภายในกับกระแสรูปภายนอกที่ประจักษ์ในโลก ซึ่งทำให้เกิดการติด ผูก ค้ำจุน ทรงไว้ และเคลื่อนไหว เป็นต้น หรือทำให้เกิดการเจริญ เสื่อม ตัด ผ่า ละลาย และกระจัดกระจาย เป็นต้น ในรูปธรรม ก็นับเข้าในที่นี้ไม่ได้ ทั้งการกระทบดังกล่าว ย่อมเป็นไปโดยประการอื่น ไม่ได้เป็นไปโดยไม่มีการกระทบคือการประชุม [ของรูป] ที่เนื่องกับการอุดหนุน [ทำให้เจริญ] หรือเบียดเบียน [ทำให้เสื่อม]
รูปอย่างอื่น คือ รูป ๑๖ อย่าง ชื่อว่า สุขุมรูป [รูปละเอียด] ทูเรรูป [รูปไกล] หรืออัปปฏิฆรูป [รูปที่กระทบซึ่งกันและกันไม่ได้ตามสภาวะ] มีสภาพตรงกันข้ามกับข้อความที่กล่าวไว้แล้ว
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๕๑๒ ท่านได้แสดงความหมายของสัปปฏิฆรูปและอัปปฏิฆรูปไว้ ดังต่อไปนี้
ความเผชิญหน้า คือ การตกถูกกันและกันของวัตถุและอารมณ์ ทั้งที่ประจวบถึงกัน [สัมปัตตโคจรัคคาหกรูป] ทั้งที่ไม่ประจวบถึงกัน [อสัมปัตตโคจรัคคาหกรูป] ด้วยตนเอง [และ] ด้วยสามารถที่อาศัย อันใด อันนั้น เป็นดุจการกระทบกระทั่งกัน เหตุนั้น จึงชื่อว่า ปฏิฆะ เหมือนอย่างว่า เมื่อคน ๒ คนมีการกระทบกระทั่งกันขึ้น ความหวั่นไหวของคนที่อ่อนแอ ย่อมมี ฉันใด เมื่อมีการเผชิญหน้ากันระหว่างวัตถุกับอารมณ์ ความหวั่นไหวของภวังคจิตซึ่งไม่มีกำลังก็ย่อมมี ฉันนั้น เพราะภวังคจิตนั้นมีสภาพเป็นอรูป รูปที่มีการกระทบกระทั่ง ชื่อว่า สัปปฏิฆรูป พึงเห็นว่า ในการประจวบถึงกันด้วยตนเอง [และ] ด้วยสามารถที่อาศัยนั้น การประจวบด้วยตนเอง สำหรับโผฏฐัพพะ [กับกาย] การประจวบด้วยสามารถที่อาศัย สำหรับ จมูก ลิ้น กาย กลิ่น รส โผฏฐัพพะ การไม่ประจวบถึงแม้ด้วยอาการทั้ง ๒ สำหรับจักขุ โสตะ รูป เสียง ดังนี้ แม้รูป ๑๖ อย่างนอกนี้ ที่มีชื่อว่า สุขุมรูป เป็นต้น เพราะไม่มีสภาพ มีความเป็นของหยาบเป็นต้น
ท่านพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ ได้แสดงอธิบายเรื่องสันติเกรูปและทูเรรูปไว้รุ.๕๑๓ ดังต่อไปนี้
ปสาทรูป ๕ วิสยรูป ๗ รวม ๑๒ รูปเหล่านี้ เป็นรูปที่กระทบซึ่งกันและกันตามสภาวะได้ กล่าวคือ จักขุปสาทรูปกับรูปารมณ์ เป็นสภาพที่กระทบกันได้ โสตปสาทรูปกับสัททารมณ์ เป็นสภาพที่กระทบกันได้ ฆานปสาทรูปกับคันธารมณ์เป็นสภาพที่กระทบกันได้ ชิวหาปสาทรูปกับรสารมณ์เป็นสภาพที่กระทบกันได้ กายปสาทรูปกับโผฏฐัพพารมณ์เป็นสภาพที่กระทบกันได้ เพราะฉะนั้น รูปเหล่านี้จึงชื่อว่า สัปปฏิฆรูป
ส่วนรูปที่เหลืออีก ๑๖ รูปนั้น เป็นรูปที่กระทบซึ่งกันและกันไม่ได้ตามสภาวะ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อัปปฏิฆรูป
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๑๔ ได้แสดงเรื่องสัปปฏิฆรูปและอัปปฏิฆรูปไว้ดังต่อไปนี้
สัปปฏิฆรูป หมายถึง รูปที่กระทบกันได้ตามสภาวะ มี ๑๒ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และวิสยรูป ๗
อัปปฏิฆรูป หมายถึง รูปที่กระทบกันไม่ได้ตามสภาวะ มี ๑๖ รูป ได้แก่ รูปที่เหลือ จากสัปปฏิฆรูปอีก ๑๖ รูป
ปสาทรูป ๕ และวิสยรูป ๗ รวม ๑๒ รูปนี้ เป็นรูปที่กระทบซึ่งกันและกันได้ตามสภาวะ กล่าวคือ จักขุปสาทรูปกระทบกับรูปารมณ์ โสตปสาทรูปกระทบกับสัททารมณ์ ฆานปสาทรูปกระทบกับคันธารมณ์ ชิวหาปสาทรูปกระทบกับรสารมณ์ กายปสาทรูปกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ นั่นก็คือ การกระทบซึ่งกันและกันระหว่างปสาทรูป ๕ กับวิสยรูป ๗ เป็นเหตุให้ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ เกิดขึ้นรับรู้อารมณ์เหล่านั้นตามสภาพของตน ๆ เพราะฉะนั้น รูปที่กระทบกันได้เหล่านี้ จึงชื่อว่า สัปปฏิฆรูป
ส่วนรูปที่เหลืออีก ๑๖ รูปนั้น เป็นรูปที่กระทบซึ่งกันและกันไม่ได้ตามสภาวะ จึงได้ชื่อว่า อัปปฏิฆรูป ซึ่งได้แก่ สุขุมรูป ๑๖ นั่นเอง
คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :
ในอธิการว่าด้วยเรื่องสัปปฏิฆรูปและอัปปฏิฆรูปนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมเนื้อหาและคำอธิบายมาประมวลอธิบายขยายความเพิ่มเติม ดังต่อไปนี้
๑. สัปปฏิฆรูป หมายถึง รูปที่กระทบซึ่งกันและกันได้ มี ๑๒ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ วิสยรูป ๗ หมายความว่า รูปทั้ง ๑๒ รูปเหล่านี้เป็นรูปที่สามารถกระทบซึ่งกันและกันได้ตามสภาวะ กล่าวคือ จักขุปสาทรูปสามารถรับกระทบกับรูปารมณ์ได้ โสตปสาทรูปสามารถรับกระทบกับสัททารมณ์ได้ ฆานปสาทรูปสามารถรับกระทบกับคันธารมณ์ได้ ชิวหาปสาทรูปสามารถรับกระทบกับรสารมณ์ได้ กายปสาทรูปสามารถรับกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ [ปถวี เตโช วาโย] ได้ นี้คือ การกระทบซึ่งกันและกันตามสภาวะระหว่างปสาทรูป ๕ กับวิสยรูป ๗ อันเป็นเหตุให้ทวิปัญจวิญญาณจิตเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์นั้น ๆ ตามทวารและอารมณ์ที่กระทบกัน กล่าวคือ จักขุปสาทรูปกระทบกับรูปารมณ์เป็นเหตุให้จักขุวิญญาณจิตเกิดขึ้นรับรู้รูปนั้น โสตปสาทรูปกระทบกับสัททารมณ์เป็นเหตุให้โสตวิญญาณจิตเกิดขึ้นรับรู้เสียงนั้น ฆานปสาทรูปกระทบกับคันธารมณ์เป็นเหตุให้ฆานวิญญาณจิตเกิดขึ้นรับรู้กลิ่นนั้น ชิวหาปสาทรูปกระทบกับรสารมณ์เป็นเหตุให้ชิวหาวิญญาณจิตเกิดขึ้นรับรู้รสนั้น กายปสาทรูปกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ [ปถวี เตโช วาโย] เป็นเหตุให้กายวิญญาณจิตเกิดขึ้นรับรู้สัมผัสนั้น ๆ เพราะฉะนั้น รูปที่กระทบซึ่งกันและกันได้ตามสภาวะเหล่านี้ จึงชื่อว่า สัปปฏิฆรูป
อนึ่ง คำว่า “กระทบซึ่งกันและกันได้ตามสภาวะ” หมายความว่า ปสาทรูป ๕ กับวิสยรูป ๗ นั้น จัดเป็นคู่กันได้ ๕ คู่ คือ จักขุสาทรูปคู่กับรูปารมณ์ [วัณณรูป=รูป] โสตปสาทรูปคู่กับสัททารมณ์ [สัททรูป=เสียง] ฆานปสาทรูปคู่กับคันธารมณ์ [คันธรูป=กลิ่น] ชิวหาปสาทรูปคู่กับรสารมณ์ [รสรูป=รส] และกายปสาทรูปคู่กับโผฏฐัพพารมณ์ [ปถวี เตโช และวาโย รวมกันทั้ง ๓ รูป=แข็ง-อ่อน,ร้อน-เย็น,หย่อน-ตึง] รูปทั้ง ๕ คู่เหล่านี้จะต้องกระทบซึ่งกันและกันเฉพาะคู่ของตน ๆ เท่านั้น จะกระทบกับรูปอื่นที่ไม่ใช่คู่ของตนนั้นไม่ได้ เพราะผิดสภาวะ เช่น จักขุปสาทรูปคือประสาทตา จะกระทบกับสัททารมณ์คือเสียงไม่ได้ หรือโสตปสาทรูปคือประสาทหู จะกระทบกับรูปารมณ์คือรูปหรือสีต่าง ๆ ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงว่า “เป็นรูปที่กระทบซึ่งกันและกันได้ตามสภาวะ” ดังกล่าวแล้ว
๒. อัปปฏิฆรูป หมายถึง รูปที่กระทบซึ่งกันและกันไม่ได้ตามสภาวะ มี ๑๖ รูป ได้แก่ รูปที่เหลือจากสัปปฏิฆรูปอีก ๑๖ รูปนั่นเอง ได้แก่ สุขุมรูป ๑๖ คือ อาโปธาตุ ๑ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ และลักขณรูป ๔ หมายความว่า รูปที่นอกจากสัปปฏิฆรูป ๑๒ อย่างเหล่านั้น เป็นรูปที่ไม่มีสภาวะที่สามารถจะกระทบซึ่งกันและกันได้ เป็นรูปที่ต้องกระทบกับภวังคจิต เพราะรูปทั้ง ๑๖ นั้นมีสภาพเป็นธัมมารมณ์ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่สามารถรับรู้ได้เฉพาะทางมโนทวารคือทางใจอย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถรับรู้ทางปัญจทวารอย่างใดอย่างหนึ่งได้เลย และธรรมชาติของธัมมารมณ์นั้นย่อมกระทบกับภวังคจิตเท่านั้น ไม่สามารถกระทบกับปัญจทวารคือปสาทรูป ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งได้ ซึ่งหมายความว่า ธัมมารมณ์ทั้งหมดนั้นเป็นอารมณ์ที่ไม่สามารถรับรู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กายได้นั่นเอง เพราะฉะนั้น รูปเหล่านี้จึงได้ชื่อว่า อัปปฏิฆรูป
ธัมมารมณ์ นั้น องค์ธรรมได้แก่ จิต ๘๙ หรือ ๑๒๑ เจตสิก ๕๒ ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ นิพพาน และบัญญัติ สภาวะของปรมัตถธรรมและบัญญัติธรรมเหล่านี้ทั้งหมดล้วนมีสภาพเป็นธัมมารมณ์ทั้งสิ้น กล่าวคือ เป็นอารมณ์ที่กระทบกับภวังคจิตและรับรู้ได้เฉพาะทางมโนทวารอย่างเดียว
เหตุที่รวมปสาทรูป ๕ เข้าเป็นองค์ธรรมของธัมมารมณ์ด้วยนั้น เพราะสัตว์ทั้งหลายไม่สามารถที่จะมองเห็นปสาทรูปทั้ง ๕ ได้ เนื่องจากว่าสิ่งที่มองเห็นนั้นเป็นรูปารมณ์คือสี ซึ่งองค์ธรรมได้แก่ วัณณรูป, ไม่สามารถได้ยินปสาทรูปทั้ง ๕ ได้ เนื่องจากว่าสิ่งที่ได้ยินนั้นเป็นสัททารมณ์คือเสียง องค์ธรรมได้แก่ สัททรูป, ไม่สามารถสูดดมปสาทรูปทั้ง ๕ ได้ เนื่องจากว่าสิ่งที่สูดดมได้นั้นเป็นคันธารมณ์คือกลิ่น องค์ธรรมได้แก่ คันธรูป, ไม่สามารถลิ้มชิมรสปสาทรูปทั้ง ๕ ได้ เนื่องจากว่าสิ่งที่ลิ้มชิมนั้นเป็นรสารมณ์คือรส องค์ธรรมได้แก่ รสรูป, และไม่สามารถกระทบสัมผัสกับปสาทรูปทั้ง ๕ ได้ เนื่องจากว่าสิ่งที่กระทบสัมผัสนั้น เป็นมหาภูตรูป ๓ คือ ปถวีคือธาตุดิน เตโชคือธาตุน้ำ และวาโยคือธาตุไฟ รวมกันเป็นโผฏฐัพพะ คือ สภาพที่กระทบสัมผัสทางกายทวารได้ ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ จึงรวมปสาทรูป ๕ เข้าเป็นองค์ธรรมของธัมมารมณ์ด้วย คือ เป็นอารมณ์ที่รับรู้ได้เฉพาะทางมโนทวารอย่างเดียวเท่านั้น