ไปยังหน้า : |
พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๑๖๒ ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของฆานปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้
ฆานปสาทรูป เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความสามารถรับคันธารมณ์ คือ กลิ่นต่าง ๆ ได้ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ฆายตีติ = ฆานํ” แปลความว่า รูปใด ย่อมสูดดมกลิ่นได้ เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า ฆานะ ได้แก่ ฆานปสาทรูป วจนัตถะนี้เป็นการแสดงโดยอ้อม [ตามคำจำกัดความข้อที่ ๑] เพราะฆานปสาทเป็นรูปธรรมซึ่งมีสภาพเป็นอนารัมมณธรรม คือ สภาวธรรมที่ไม่สามารถรู้อารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น ฆานปสาทรูปจึงไม่สามารถสูดดมกลิ่นได้ดังกล่าวแล้ว แต่ฆานวิญญาณจิตที่อาศัยฆานปสาทรูปเกิดขึ้นต่างหากที่เป็นผู้สูดดมกลิ่นได้
อีกนัยหนึ่ง “ฆายนฺติ เอเตนาติ = ฆานํ” แปลความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมสูดดมกลิ่นด้วยรูปใด เพราะเหตุนั้น รูปที่เป็นเหตุแห่งการสูดดมกลิ่นของสัตว์ทั้งหลายนั้น จึงชื่อว่า ฆานะ
อีกนัยหนึ่ง “ฆายียนฺติ เอเตนาติ = ฆานํ” แปลความว่า สัตว์ทั้งหลายพึงสูดดมกลิ่นด้วยรูปนั้น เพราะเหตุนั้น รูปที่เป็นเหตุแห่งการสูดดมกลิ่นของสัตว์ทั้งหลาย จึงชื่อว่า ฆานะ วจนัตถะนี้ เป็นการแสดงโดยมุขยนัย คือ นัยโดยตรง [ตามคำจำกัดความข้อที่ ๒] เพราะสภาวะที่สามารถสูดดมกลิ่นได้นั้น ก็มีแต่ฆานวิญญาณจิต หรือฆานทวารวิถีจิต หรือฆานทวาริกจิตเท่านั้น
บทสรุปของผู้เขียน :
ฆานปสาทรูป มีคำจำกัดความอยู่ ๒ ความหมาย คือ
๑. หมายถึง รูปที่ทำให้สามารถสูดดมกลิ่นได้ นี้เป็นการกล่าวโดยอุปจารนัย คือ นัยโดยอ้อม เพราะรูปธรรมทั้งหลาย เป็นอนารัมมณธรรม คือ สภาวธรรมที่ไม่สามารถรู้อารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น ฆานปสาทรูปจึงไม่สามารถสูดดมกลิ่นได้ด้วยตนเอง เพียงแต่เป็นวัตถุคือเป็นสถานที่อาศัยเกิดของฆานวิญญาณจิตและเจตสิก และเป็นฆานทวารคือเป็นประตูจมูกหรือช่องทางจมูกในการรับรู้คันธารมณ์คือกลิ่นของฆานทวารวิถีจิตหรือฆานทวาริกจิตเท่านั้น
๒. หมายถึง รูปที่เป็นเหตุแห่งการสูดดมกลิ่นของสัตว์ทั้งหลาย นี้เป็นการกล่าวโดยมุขยนัย คือ นัยโดยตรง เพราะฆานวิญญาณจิต ๒ ดวงและเจตสิกที่ประกอบ ย่อมอาศัยฆานปสาทรูปนี้เป็นวัตถุเกิดขึ้น และฆานทวารวิถีจิตหรือฆานทวาริกจิตย่อมอาศัยฆานปสาทรูปนี้เป็นทวารในการรับรู้คันธารมณ์ คือ กลิ่นต่าง ๆ นั่นเอง