| |
ลำดับการเจริญกรุณา   |  

ชั้นแรก พระโยคีบุคคลต้องเจริญในบุคคลผู้ตกทุกข์ยาก มีลักษณะขี้ริ้วขี้เหร่ ตกทุกข์ได้ยาก อย่างแสนสาหัส เป็นคนกำพร้า มีมือและเท้าขาด วางกระเบื้อง [ภาชนะขอทาน] ไว้เบื้องหน้า นอนในศาลาคนขอทาน มีหมู่หนอนไหลคลักออกมาจากมือและเท้าทั้ง ๒ ส่งเสียงร้องครวญคราง แล้วพึงให้นึกสงสารว่า บุคคลนี้ ถึงความทุกข์ยากลำบากแสนลำเข็ญหนอ ไฉนหนอ เขาพึงพ้นจากความทุกข์ยากลำบากนี้ไปได้

ถ้าพระโยคีหาบุคคลที่ตกทุกข์ได้ยากเช่นนั้นไม่ได้ ลำดับต่อไปพึงน้อมจิตไปในบุคคลผู้มีความสุข แต่ชอบกระทำความชั่วอยู่เป็นนิตย์ มาเปรียบเทียบกับคนผู้ถูกฆ่าหรือถูกลงโทษแล้วพึงเอ็นดู เช่น เห็นโจรที่ถูกเขาจับได้ พร้อมทั้งของกลาง พวกราชบุรุษก็จะปฏิบัติตามกระแสพระราชอาญาว่า จงฆ่ามันเสีย ดังนี้แล้วก็พากันโบยตีโจรนั้นทีละ ๔๐๐ แซ่ แล้วนำไปสู่ตะแลงแกง พวกมนุษย์ย่อมให้ของเคี้ยวบ้างของบริโภคบ้าง พวงมาลัยบ้าง ของหอมบ้าง เครื่องลูบไล้บ้าง หมากพลูบ้าง แก่โจรนั้นผู้ถูกขังไว้ที่ตะแลงแกงแล้ว แม้เขาจะเคี้ยวกินและใช้สอยของเหล่านั้น เดินไปดุจผู้เพียบพร้อมด้วยโภคะที่ทำให้เกิดความสุข แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ใคร ๆ ก็ไม่สำคัญเขาว่า ผู้นี้มีโภคมาก มีความสุขแล้วหนอ ที่แท้ชนทั้งหลายย่อมเอ็นดูเขาว่า โจรนี้เป็นคนตกยาก อย่างที่สุด จะต้องตายในบัดนี้เป็นแน่แท้ เพราะว่าเขาย่างเท้าใด ๆ ไป เขาย่อมก้าวไปใกล้ความตายทุกที อนึ่ง พึงกรุณาบุคคลนั้นว่า ผู้นี้เป็นคนตกทุกข์ได้ยากถึงที่สุด แม้เขากำลังมีความสุข แต่งตัวดี บริโภคสิ่งต่าง ๆ มากมายอยู่ในขณะนี้ แต่เพราะเหตุว่า เขาไม่มีกัลยาณธรรมที่เคยทำไว้ ด้วยไตรทวาร เขาจักต้องเสวยทุกข์และโทมนัส มิใช่น้อยในอบายภูมิทั้ง ๔ ในบัดนี้ ครั้นเอ็ดดูบุคคลนั้นอย่างนี้แล้ว เบื้องหน้าแต่นั้น จึงยังกรุณาให้เป็นไปโดยลำดับ คือ ในปิยบุคคล มัชฌัตตบุคคล และในเวรีบุคคลตามลำดับ ดุจดังในเมตตาพรหมวิหาร

ส่วนการเจริญกรุณาในบุคคลผู้ทำความดีนั้น มีดังนี้ พระโยคีบุคคลได้เห็นหรือได้ยินข่าวว่า แม้บุคคลได้กระทำกุศลกรรมไว้ แต่ได้ประสบกับความฉิบหายบางอย่าง มีความเสื่อมญาติ ความเสื่อมเพราะโรค ความเสื่อมจากโภคะ เป็นต้นแล้วพึงเอ็นดูแม้โดยประการทั้งปวง อย่างนี้ว่า ผู้นี้ แม้ไม่มีความฉิบหายเหล่านั้น ยังจัดว่าเป็นผู้ถึงทุกข์แท้ เพราะเหตุที่ยังไม่ได้ล่วงทุกข์ประจำวัฏฏะไปได้

แล้วทำสีมสัมเภทในชนทั้ง ๔ จำพวก คือ ในตน ๑ ในปิยบุคคล ๑ ในมัชฌัตตบุคคล ๑ ในเวรีบุคคล ๑ ตามนัยที่กล่าวมาแล้วนั้น แล้วจึงหมั่นเสพ หมั่นเจริญ หมั่นกระทำให้มากซึ่งนิมิตนั้น แล้วพึงยังอัปปนาให้เจริญ ด้วยสามารถฌาน ๓ และฌาน ๔ ตามนัยที่กล่าวไว้แล้วในเมตตากรรมฐานนั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |