| |
บทสรุปท้ายในรูปสมุทเทสนัย   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๔๖๙ ได้แสดงสรุปความหมายของรูป ๒๘ ไว้ดังต่อไปนี้

พระอนุรุทธาจารย์ได้แสดงสรุปรูปเป็น ๑๑ ประเภท โดยองค์ธรรมด้วยคาถาว่า “ภูตปฺปสาทวิสยา” เป็นต้น เพราะรูป ๒๘ ประการที่มีอยู่ในรูป ๑๑ ประเภทนั้นปรากฏชัดตามข้อความที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อฏฺารสวิธํ [รูป ๑๘ ประการ] ดังนี้

มหาภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ โคจรรูป ๔ โดยไม่นับซ้ำกัน ภาวรูป ๒ และหทยรูป ๑ รูป ๑๖ ประการดังกล่าว พร้อมด้วยชีวิตรูปและอาหารรูป รวมเป็นรูป ๑๘ ประการเช่นเดียวกันนี้ อนิปผันนรูป ๑๐ คือ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ โดยไม่นับซ้ำกัน [กับวิญญัติรูป ๒] และลักขณรูป ๔ โดยประการดังนี้ รูปมี ๒๘ ประการโดยองค์ธรรม

ในบรรดารูปเหล่านี้ รูปชนิดหลัง ๑๐ ประการไม่ถูกปัจจัยทำให้เกิดขึ้น เพราะไม่มีจริงโดยสภาวะ จึงชื่อว่า อนิปผันนรูป

อีกนัยหนึ่ง อนิปผันนรูปที่แสดงไว้โดยย่อและโดยพิสดารในพระอภิธรรมนั้น ไม่ควรกล่าวว่า ไม่เกิดขึ้นโดยสภาวะ หรือไม่มีจริงโดยปรมัตถ์ เพราะมีอยู่โดยลักษณะปรมัตถ์ที่สำเร็จโดยความเป็นสภาวธรรมล้วน ๆ เช่นนั้น โดยล่วงความสำเร็จด้วยบัญญัติ มิฉะนั้นแล้ว แม้พระนิพพานที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ซึ่งปราศจากลักษณะคือการเกิดขึ้น ก็ชื่อว่า ไม่มีอยู่โดยสภาวะ และไมีมีจริงโดยปรมัตถ์ เพราะเหตุนั้น รูป ๑๐ ประการนี้ จึงชื่อว่า อนิปผันนรูป เพราะปราศจากลักษณะคือการเกิดขึ้น หาใช่เพราะไม่มีอยู่โดยสภาวะไม่ ข้อความดังกล่าว ย่อมสมควร

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๔๗๐ ท่านได้แสดงสรุปความเรื่องรูปสมุทเทสนัยไว้ดังต่อไปนี้

บทว่า เอกาทสวิธมฺปิ ความว่า แม้มี ๑๑ ประการ ด้วยอำนาจการสงเคราะห์รูปที่เป็นสภาคกัน

รูปมี ๒๘ รูป คือ รูปเป็น ๑๘ อย่าง กับชีวิตรูป และอาหารรูป ๒ อย่างนี้ คือ ภูตรูป [มหาภูตรูป] ๔ ปสาทรูป ๕ วิสยรูป ๔ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ [ชื่อว่า นิปผันนรูป] และรูปปวัตติทั้ง ๑๐ ที่ชื่อว่า อนิปผันนรูป เพราะรูปทั้งหลายไม่เกิดจากปัจจัยแผนกหนึ่ง เว้นความเป็นปริจเฉทรูปและวิการรูป เป็นต้นเสีย เหล่านี้คือ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ ลักขณรูป ๔

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๔๗๑ ได้แสดงสรุปความในเรื่องรูปสมุทเทสนัยไว้ดังต่อไปนี้

ในรูปสมุทเทสนัยที่กล่าวมานี้ ว่าโดยประเภทเล็ก มี ๑๑ ประเภท ว่าประเภทใหญ่มี ๒ ประเภท ว่าโดยจำนวนรูปทั้งหมด มี ๒๘ รูป

สรุปเอาใจความแล้ว ในลักขณรูป ๔ ก็มีอยู่ ๓ อย่างเท่านั้น คือ มีลักษณะที่เกิดขึ้น ลักษณะที่ตั้งอยู่ และลักษณะที่ดับลง อุปจยะและสันตติรวมอยู่ในความเกิด ชรตารูปอยู่ในความตั้งอยู่ และอนิจจตารูปอยู่ในความดับ

ลักขณรูปนี้ เป็นรูปที่แสดงสามัญญลักษณะของนิปผันนรูป ที่จะส่องให้วิปัสสนาปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ได้

บทสรุปของผู้เขียน :

ในหมวดรูปสมุทเทสนัย คือ นัยที่ว่าด้วยการแสดงสภาวะของรูปธรรมโดยพิสดารนั้น สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

ในรูป ๒๘ นั้น เมื่อจำแนกโดยประเภทเล็ก มี ๑๑ ประเภท แต่เมื่อจำแนกโดยประเภทใหญ่แล้ว มี ๒ ประเภท กล่าวคือ

รูปประเภทเล็ก ๑๑ ประเภท ได้แก่

๑. มหาภูตรูป ๔ ได้แก่ ปถวี อาโป เตโช วาโย

๒. ปสาทรูป ๕ ได้แก่ จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท

๓. โคจรรูป ๔ ได้แก่ วัณณะ สัททะ คันธะ รสะ

๔. ภาวรูป ๒ ได้แก่ อิตถีภาวะ ปุริสภาวะ

๕. หทยรูป ๑ ได้แก่ หทยวัตถุ

๖. ชีวิตรูป ๑ ได้แก่ รูปชีวิตินทรีย์

๗. อาหารรูป ๑ ได้แก่ กัมมชโอชา

๘. ปริจเฉทรูป ๑ ได้แก่ อากาสธาตุที่คั่นระหว่างรูปกลาปต่อรูปกลาป

๙. วิญญัติรูป ๒ ได้แก่ กายวิญญัติ วจีวิญญัติ

๑๐. วิการรูป ๓ ได้แก่ ลหุตา มุทุตา กัมมัญญตา

๑๑. ลักขณรูป ๔ ได้แก่ อุปจยะ สันตติ ชรตา อนิจจตา

รูปประเภทใหญ่ ๒ ประเภท ได้แก่

๑. นิปผันนรูป หมายถึง รูปที่มีสภาวลักษณะเป็นของตนเอง เรียกว่า รูปปรมัตถ์แท้ มี ๑๘ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ โคจรรูป ๔ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ และอาหารรูป ๑

๒. อนิปผันนรูป หมายถึง รูปที่ไม่มีสภาวลักษณะเป็นของตนเองโดยเฉพาะ เป็นแต่เพียงอาการของนิปผันนรูปเท่านั้น เรียกว่า รูปปรมัตถ์เทียม มี ๑๐ รูป ได้แก่ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ และลักขณรูป ๔


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |