| |
การเกิดขึ้นของอเหตุกกิริยาจิต   |  

อเหตุกกิริยาจิต ดวงที่ ๑ อุเปกขาสหคตัง ปัญจทวาราวัชชนจิตตัง แปลความว่า จิตที่พิจารณาปัญจารมณ์ที่ดีและไม่ดีเกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉย ๆ ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รับพิจารณาปัญจารมณ์ทางปัญจทวาร หมายความว่า เมื่อมีปัญจารมณ์ คือ อารมณ์ ๕ อย่าง ได้แก่ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ และโผฏฐัพพารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ปรากฏทางปัญจทวาร คือ ทวาร ๕ ได้แก่ จักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร และกายทวาร อย่างใดอย่างหนึ่ง และผ่านภวังคจิตไปแล้ว ๑ ขณะ เรียกว่า อดีตภวังค์ เมื่อภวังคจิตตอบสนองต่ออารมณ์นั้น เกิดอาการไหวตัว ๑ ขณะ เรียกว่า ภวังคจลนะ แล้วตัดกระแสภวังค์ คือ ทิ้งตัวเองจากอารมณ์เก่า เรียกว่า ภวังคุปัจเฉทะ และดับลงแล้ว ปัญจทวาราวัชชนจิตนี้ ก็เกิดขึ้นรับพิจารณาอารมณ์ใหม่นั้น ซึ่งเป็นจิตดวงแรกที่เกิดขึ้นรับอารมณ์ใหม่ทางปัญจทวาร เพราะภวังคจิตยังรับอารมณ์เก่าอยู่ คือ รับอารมณ์ที่ชวนะรับมาเมื่อใกล้ตายในภพก่อน ที่เรียกว่า มรณาสันนวิถี ได้แก่ อารมณ์ ๓ อย่าง คือ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือ คตินิมิตอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อจุติจิตดับแล้ว ปฏิสนธิจิตก็เกิดขึ้นติดต่อกันทันที โดยไม่มีจิตอื่นเกิดคั่นระหว่างเลย เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะแล้วก็ดับไป และแปรสภาพไปเป็นภวังคจิตสืบต่อมา ฉะนั้น ภวังคจิตของแต่ละบุคคลจึงเป็นจิตที่สืบเนื่องมาจากปฏิสนธิจิต ซึ่งมีได้คนละ ๑ ดวงเท่านั้น แล้วแต่ว่าใครเกิดด้วยปฏิสนธิจิตดวงไหน ก็จะมีปฏิสนธิจิตดวงนั้นแปรสภาพมาทำหน้าที่เป็นภวังคจิตสืบต่อมา และคงสภาพอยู่เช่นนั้น จนกว่าจะตายจากภพชาตินั้นไป จึงจะสามารถเปลี่ยนภวังคจิตดวงใหม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ภวังคจิตจึงเป็นจิตที่สืบเนื่องมาจากปฏิสนธิจิต และมีอารมณ์อย่างเดียวกับปฏิสนธิจิตนั่นเอง ที่เรียกว่า อารมณ์เก่า เพราะเป็นอารมณ์ที่รับมาจากชาติก่อน ถึงแม้จะได้ทำการตอบสนองต่ออารมณ์ใหม่ เป็นภวังคจลนะและภวังคุปัจเฉทะแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ได้ทิ้งจากอารมณ์เก่าและดับลงพอดี ฉะนั้น จิตที่เกิดขึ้นรับอารมณ์ใหม่เป็นดวงแรกนั้น ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิตนี้เอง แต่เนื่องจากปัญจทวาราวัชชนจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นรับอารมณ์เป็นดวงแรก ยังขาดกำลังสนับสนุน ที่เรียกว่า ปุเรชาตปัจจัย จากจิตดวงก่อน จึงทำให้มีกำลังในการทำหน้าที่น้อย จึงเป็นจิตที่ไม่ต้องมีเหตุใด ๆ ประกอบร่วมด้วยเลย จึงเป็นอเหตุกกิริยาจิต และเป็นจิตที่เกิดขึ้นสักแต่ว่าทำหน้าที่รับพิจารณาอารมณ์ใหม่เท่านั้น ไม่ได้ขวนขวายจัดแจงอารมณ์นั้นแต่อย่างใด จึงถือว่า มีขอบเขตในการทำหน้าที่น้อย ฉะนั้น จึงทำให้เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาเท่านั้น

อเหตุกกิริยาจิต ดวงที่ ๒ อุเปกขาสหคตัง มโนทวาราวัชชนจิตตัง แปลความว่า จิตที่พิจารณาอารมณ์ ๖ ที่ดีและไม่ดีเกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉย ๆ เกิดขึ้นในขณะรับพิจารณาอารมณ์ใหม่ทางมโนทวารและตัดสินอารมณ์ทางปัญจทวาร หมายความว่า เมื่อธัมมารมณ์ คือ อารมณ์ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่ง ปรากฏทางมโนทวาร ภวังคจิตไหวตัวตอบสนองต่ออารมณ์นั้น และตัดกระแสภวังค์ขาดลง มโนทวาราวัชชนจิตนี้ก็เกิดขึ้นรับพิจารณาอารมณ์นั้น พร้อมกับตัดสินให้ชวนจิตได้เสพต่อไป หรืออีกอย่างหนึ่ง เมื่อสันตีรณจิตเกิดขึ้นไต่สวนปัญจารมณ์ทางปัญจทวาร ทวารใดทวารหนึ่ง ดับลงแล้ว มโนทวาราวัชชนจิตนี้ ก็เกิดขึ้นทำหน้าที่ตัดสินอารมณ์ที่สันตีรณจิตนั้นไต่สวนแล้วส่งมาให้เท่านั้น โดยไม่ต้องขวนขวายพิจารณาแต่อย่างใด เพียงแต่ทำการตัดสินว่า เป็นอารมณ์ดีหรือไม่ดีอย่างไร เพื่อให้ชวนะเสพต่อไปเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ มโนทวาราวัชชนจิตนี้ จึงไม่มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งประกอบร่วมด้วยเลย เรียกว่า อเหตุกกิริยาจิต และเป็นจิตที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ทั้งนี้เนื่องจากสถานภาพในการทำหน้าที่มีขอบเขตจำกัด กล่าวคือ เพราะอารมณ์นั้นมาปรากฏพร้อมแล้ว [ดังที่กล่าวแล้วในปัญจทวาราวัชชนจิต] แต่เนื่องจากมโนทวาราวัชชนจิตนี้ เป็นจิตที่ต้องขวนขวายเพื่อตัดสินอารมณ์ให้เด็ดขาดทันที ฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตนี้ จึงต้องมีวิริยเจตสิกเข้าประกอบร่วมด้วย ถ้าขาดวิริยเจตสิกเสียแล้ว การตัดสินอารมณ์ก็จะไม่เด็ดขาดลงทีเดียว

อเหตุกกิริยาจิต ดวงที่ ๓ โสมนัสสสหคตัง หสิตุปปาทจิตตัง แปลความว่า จิตที่ทำให้เกิดการยิ้มแย้มของพระอรหันต์ เกิดขึ้นในขณะที่รับเสพกามอารมณ์ที่ดีและไม่ดีทางทวาร ๖ หมายความว่า หสิตุปปาทจิตนี้ เป็นจิตของพระอรหันต์ ที่ได้ประสบกับอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดีอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นกามธรรม ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ ทั้งดีและไม่ดี เช่น เห็นสัตว์นรก ได้ยินเสียงเปรตร้อง เห็นคนทำความชั่ว หรือทำความดีอยู่ เป็นต้น แล้วพิจารณาด้วยมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิตก่อนว่า การที่บุคคลนั้นได้รับผลเช่นนั้น เพราะมีต้นเหตุมาจากกรรมในอดีต หรือผู้ที่กำลังกระทำกรรมดีกรรมชั่วอยู่ในปัจจุบันนี้ ย่อมจะต้องรับผลของกรรมนั้น ๆ ในวันข้างหน้า หรือชาติหน้าต่อไป แต่ว่าท่านได้พ้นแล้ว จากวงเวียนแห่งกรรมเหล่านี้ ดังนี้เป็นต้น เมื่อพิจารณาเห็นเหตุพร้อมมูลดังนี้แล้ว จึงทำให้เกิดปีติโสมนัส หสิตุปปาทจิตจึงเกิดขึ้นแสดงอาการยิ้มแย้มออกมาพอเห็นไรฟัน คือรัศมีแห่งพระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือรัศมีของฟันของพระอรหันต์ทั้งหลายฉายออกมา เรียกว่า ยิ้มอยู่แต่ในหน้าไม่เห็นฟัน แต่ผู้ที่อยู่ใกล้ ๆ สามารถเห็นรัศมีแห่งฟันนั้นได้

หสิตุปปาทจิตนี้ เกิดขึ้นเพราะอาศัยการพิจารณาเหตุต่าง ๆ ที่ประสบพบเห็นด้วยมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิตสำเร็จเรียบร้อยพร้อมสรรพแล้ว จึงเป็นจิตที่ไม่ต้องทำการขวนขวายใด ๆ [หมายถึงความพยายามจัดแจงอารมณ์ ไม่ได้หมายถึงความพยายามในการทำกิจในการเสพอารมณ์] เพียงแต่ทำการยิ้มแย้มให้ปรากฏเท่านั้น ฉะนั้น จึงไม่มีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งประกอบร่วมด้วยเลย เรียกว่า อเหตุกกิริยาจิต และเป็นจิตที่เกิดพร้อมด้วยความปีติยินดี ที่พิจารณาเห็นว่า ตนเองพ้นแล้วจากสภาพเช่นนั้น จึงเกิดขึ้นพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา เรียกว่า โสมนัสสสหคตจิต


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |