| |
ความหมายของวิถีจิต   |  

ตี = อตีตภวังค์ หมายถึง ภวังค์เดิม คือ ภวังคจิตที่มีอารมณ์มาปรากฏทางทวารนั้น ๆ เป็นครั้งแรก

น = ภวังคจลนะ หมายถึง ภวังค์เดิมที่แปรสภาพเป็นความไหวตัวตอบสนองต่ออารมณ์ที่มาปรากฏทางทวารนั้น ๆ

ท = ภวังคุปัจเฉทะ หมายถึง ภวังค์ที่ทำหน้าที่สลัดตัว คือ ตัดกระแสภวังค์ให้ขาดลง เพื่อให้วิถีจิตสามารถเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ใหม่ต่อไปได้

ป = ปัญจทวาราวัชชนจิต หมายถึง จิตที่ขึ้นสู่วิถีรับรู้อารมณ์เป็นดวงแรกทางปัญจทวาร เป็นเหมือนผู้เปิดประตูให้จิตดวงอื่น ๆ ได้รับรู้อารมณ์นั้นด้วย หรือเป็นจิตที่หน่วงเหนี่ยวอารมณ์มาสู่วิถีจิตทางปัญจทวาร

ม = มโนทวาราวัชชนจิต หมายถึง จิตที่ขึ้นสู่วิถีรับพิจารณาอารมณ์เป็นดวงแรกทางมโนทวาร เป็นเหมือนกับผู้เปิดประตูให้จิตดวงอื่นได้รับรู้อารมณ์นั้นด้วย หรือ เป็นจิตที่หน่วงเหนี่ยวอารมณ์มาสู่วิถีจิตทางมโนทวาร พร้อมกับตัดสินอารมณ์ให้ชวนะได้เสพพร้อมกันไปด้วย

ทวิ = ทวิปัญจวิญญาณจิต หมายถึง จิต ๑๐ ดวง ที่รับรู้อารมณ์ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามสมควรแก่สภาพของตน คือ ถ้าเป็นจักขุวิญญาณจิตก็รับรู้รูปารมณ์ ถ้าเป็นโสตวิญญาณจิตก็รับรู้สัททารมณ์ ดังนี้เป็นต้น

จัก = จักขุวิญญาณจิต หมายถึง จิตที่ทำหน้าที่ทัสสนกิจ คือ รับรู้รูปารมณ์ ทางจักขุทวาร ได้แก่ จักขุวิญญาณจิต ๒ ดวง

โส = โสตวิญญาณจิต หมายถึง จิตที่ทำหน้าที่สวนกิจ คือ รับรู้เสียง ทางโสตทวาร ได้แก่ โสตวิญญาณจิต ๒ ดวง

ฆา = ฆานวิญญาณจิต หมายถึง จิตที่ทำหน้าที่ฆายนกิจ คือ รับรู้กลิ่น ทางฆานทวาร ได้แก่ ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวง

ชิว = ชิวหาวิญญาณจิต หมายถึง จิตที่ทำหน้าที่สายนกิจ คือ รับรู้รส ทางชิวหาทวาร ได้แก่ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวง

กา = กายวิญญาณจิต หมายถึง จิตที่ทำหน้าที่ผุสสนกิจ คือ รับรู้การกระทบถูกต้องโผฏฐัพพารมณ์ทางกายทวาร ได้แก่ กายวิญญาณจิต ๒ ดวง

ส = สัมปฏิจฉนจิต หมายถึง จิตที่รับอารมณ์ต่อจากทวิปัญจวิญญาณจิต เพื่อส่งต่อให้สันตีรณจิตไต่สวนพิจารณาต่อไป ได้แก่ สัมปฏิจฉนจิต ๒ ดวง

ณ = สันตีรณจิต หมายถึง จิตที่ไต่สวนอารมณ์ที่สัมปฏิจฉนจิตส่งมาให้เพื่อส่งให้โวฏฐัพพนจิตตัดสินต่อไป ได้แก่ สันตีรณจิต ๓ ดวง

โว = โวฏฐัพพนจิต หมายถึง จิตที่ทำหน้าที่ตัดสินอารมณ์ว่า ดีหรือไม่ดี แล้วส่งให้ชวนจิตเสพต่อไป ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ๑

ช = ชวนจิต หมายถึง จิตที่ทำหน้าที่เสพอารมณ์โดยความเป็นกุศล อกุศลหรือกิริยา ขึ้นอยู่กับสภาพของอารมณ์และสภาพบุคคล ได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ รวม ๒๙ ดวงนี้ เรียกว่า กามชวนะ ๒๙

ต = ตทาลัมพนจิต หมายถึง จิตที่ทำหน้าที่หน่วงเหนี่ยว หรือ เสพอารมณ์ที่เหลือจากชวนะได้เสพเสร็จแล้ว ได้แก่ สันตีรณจิต ๓ มหาวิปากจิต ๘ ดวง รวมเรียกว่า ตทาลัมพนะ ๑๑ ซึ่งเป็นจิตที่เกิดได้เฉพาะในกามบุคคล และรับกามอารมณ์ในกามวิถีอย่างเดียวเท่านั้น

ภ = ภวังคจิต หมายถึง จิตที่ทำหน้าที่รักษาภพชาติ คือ รักษาสภาพของบุคคลนั้น ๆ ไว้ ตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณจิต ๒ มหาวิปากจิต ๘ รวม ๑๐ ดวงนี้ เรียกว่า กามภวังค์ ๑๐ รูปาวจรวิปากจิต ๕ เรียกว่า รูปภวังค์ ๕ และอรูปาวจรวิปากจิต ๔ เรียกว่า อรูปภวังค์ ๔ รวม ๑๙ ดวงนี้ เรียกว่า ภวังคจิต ๑๙ อนึ่ง ปฏิสนธิจิต และจุติจิต ก็เป็นอันเดียวกันกับภวังคจิตเหล่านี้ จึงมีชื่อเรียกว่า ปฏิสนธิจิต ๑๙ และ จุติจิต ๑๙

ในกระบวนการการรับรู้อารมณ์ของจิตนี้ เปรียบเหมือนหน่วยงานองค์กรหรือบริษัทห้างร้านที่เปิดกิจการดำเนินงานเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร ซึ่งมีพนักงานหลายแผนกร่วมกันทำงาน คือ มีคนเฝ้ายามคอยเปิดปิดประตูและรับจดหมายจากภายนอก มีพนักงานประจำเคาน์เตอร์รับข้อมูลข่าวสาร มีพนักงานรับส่งเอกสารภายใน มีพนักงานกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร และพนักงานผู้อนุมัติข้อมูลข่าวสาร มีคณะกรรมการผู้บริหารองค์การ และกรรมการที่ปรึกษา ในกระบวนการนี้ อาวัชชนจิต [ปัญจทวาราวัชชนจิตหรือมโนทวาราวัชชนจิต] เปรียบเหมือนคนเฝ้ายามผู้คอยเปิดปิดประตูให้คนเข้าออกและรับจดหมายจากภายนอกแล้วนำมาส่งให้พนักงานที่เคาน์เตอร์หน้าสำนักงาน ปัญจวิญญาณจิต เปรียบเหมือนพนักงานประจำเคาน์เตอร์คอยรับข้อมูลข่าวสาร สัมปฏิจฉนจิต เปรียบเหมือนพนักงานส่งเอกสารภายใน เมื่อพนักงานที่เคาน์เตอร์รับข้อมูลข่าวสารแล้ว ก็ส่งให้พนักงานส่งเอาสารภายในนำส่งต่อไปให้พนักงานฝ่ายกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร สันตีรณจิต เปรียบเหมือนพนักงานฝ่ายกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร ทำการกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารที่พนักงานนำส่งเอกสารภายในส่งมาให้แล้วก็ส่งให้พนักงานฝ่ายอนุมัติข้อมูลข่าวสารพิจารณาอนุมัติต่อไป โวฏฐัพพนจิต เปรียบเหมือนพนักงานผู้อนุมัติข้อมูลข่าวสาร เมื่ออนุมัติแล้ว ก็ส่งให้คณะกรรมการผู้บริหารองค์กรรับรู้ข้อมูลข้าวสาร ชวนจิต เปรียบเหมือนคณะกรรมการผู้บริหารองค์กร เมื่อได้รับข้อมูลข่าวสารแล้ว ก็จัดดำเนินการตามนโยบายขององค์กรต่อไป ถ้าเหลือบ่ากว่าแรง ก็มอบหมายให้คณะกรรมาการที่ปรึกษาช่วยดำเนินการต่อเล็กน้อย ตทาลัมพนจิต เปรียบเหมือนคณะกรรมการที่ปรึกษาองค์กร ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือกิจการขององค์กรบ้างเล็กน้อย ที่เหลือกำลังของคณะกรรมการบริหารองค์กร


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |