| |
เจตสิก ๕๒   |  

[ที่ควรจดจำไว้เป็นบรรทัดฐานในการศึกษา]

เจตสิกมี ๕๒ ดวง คือ

อัญญสมานเจตสิก ๑๓

อกุศลเจตสิก ๑๔

โสภณเจตสิก ๒๕

อัญญสมานเจตสิก ๑๓ แบ่งเป็น ๒ จำพวก คือ

สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗

ปกิณณกเจตสิก ๖

อกุศลเจตสิก ๑๔ แบ่งเป็น ๕ จำพวก คือ

โมจตุกเจตสิก ๔

โลติกเจตสิก ๓

โทจตุกเจตสิก ๔

ถีทุกเจตสิก ๒

วิจิกิจฉาเจตสิก ๑

โสภณเจตสิก ๒๕ แบ่งเป็น ๔ จำพวก คือ

โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙

วิรตีเจตสิก ๓

อัปปมัญญาเจตสิก ๒

ปัญญินทรียเจตสิก ๑

อัญญสมานเจตสิก มี ๑๓ ดวง แบ่งเป็น ๒ จำพวก ดังนี้

สัพพจิตตสาธารณเจตสิก มี ๗ ดวง คือ

ผัสสะ ธรรมชาติที่กระทบอารมณ์

เวทนา ธรรมชาติที่เสวยอารมณ์

สัญญา ธรรมชาติที่จำอารมณ์

เจตนา ธรรมชาติที่กระตุ้นเตือนและชักชวนสัมปยุตตธรรมในอารมณ์เพื่อให้ทำหน้าที่ของตน ๆ

เอกัคคตา ธรรมชาติที่สงบและให้สัมปยุตตธรรมตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว

ชีวิตินทรีย์ ธรรมชาติที่รักษาสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตน

มนสิการ ธรรมชาติที่มุ่งและนำสัมปยุตตธรรมขึ้นสู่อารมณ์

ปกิณณกเจตสิก มี ๖ ดวง คือ

วิตก ธรรมชาติที่ยกสัมปยุตตธรรมขึ้นสู่อารมณ์ คือ คิดอารมณ์

วิจาร ธรรมชาติที่เคล้าคลึงอารมณ์

อธิโมกข์ ธรรมชาติที่ตัดสินอารมณ์

วิริยะ ธรรมชาติที่มีความพยายามในอารมณ์

ปีติ ธรรมชาติที่มีความชื่นชมยินดีในอารมณ์

ฉันทะ ธรรมชาติที่ปรารถนาอารมณ์

อกุศลเจตสิกมี ๑๔ ดวง แบ่งเป็น ๕ จำพวก ดังนี้

โมจตุกเจตสิก มี ๔ ดวง คือ

โมหะ ธรรมชาติที่ปิดบังสภาพความเป็นจริงของอารมณ์ไว้ คือ ความหลง

อหิริกะ ธรรมชาติที่ไม่มีความละอายต่อทุจริต

อโนตตัปปะ ธรรมชาติที่ไม่มีความเกรงกลัวต่อทุจริต

อุทธัจจะ ธรรมชาติที่ฟุ้งซ่าน คือ รับอารมณ์ไม่มั่น

โลติกเจตสิก มี ๓ ดวง คือ

โลภะ ธรรมชาติที่มีความต้องการและติดใจในอารมณ์

ทิฎฐิ ธรรมชาติที่มีความเห็นผิดในอารมณ์

มานะ ธรรมชาติที่มีความเย่อหยิ่ง ถือตัว

โทจตุกเจตสิก มี ๔ ดวง คือ

โทสะ ธรรมชาติที่ประทุษร้ายอารมณ์

อิสสา ธรรมชาติที่มีความไม่พอใจในทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของผู้อื่น

มัจฉริยะ ธรรมชาติที่มีความหวงแหนในทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของตน

กุกกุจจะ ธรรมชาติที่มีความรำคาญใจในทุจริตที่ได้ทำไปแล้วและในสุจริตที่ยังไม่ได้ทำ

ถีทุกเจตสิก มี ๒ ดวง คือ

ถีนะ ธรรมชาติที่ทำให้จิตเซื่องซึมท้อถอยจากอารมณ์

มิทธะ ธรรมชาติที่ทำให้เจตสิกเซื่องซึมท้อถอยจากอารมณ์

วิจิกิจฉาเจตสิก มี ๑ ดวง คือ

วิจิกิจฉา ธรรมชาติที่มีความสงสัย ไม่ตกลงใจ คือ วิพากษ์วิจารณ์ในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น

โสภณเจตสิก มี ๒๕ ดวง แบ่งเป็น ๔ จำพวก ดังนี้

โสภณสาธารณเจตสิก มี ๑๙ ดวง คือ

ศรัทธา ธรรมชาติที่มีความเชื่อและเลื่อมใสในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ตามความเป็นจริง เชื่อในกรรมและผลของกรรม

สติ ธรรมชาติที่มีความระลึกในอารมณ์ที่เกี่ยวด้วย กุศลธรรม มีคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นต้น

หิริ ธรรมชาติที่มีความเกลียด และละอายต่อการงานอันเป็นทุจริต

โอตตัปปะ ธรรมชาติที่สะดุ้งกลัวต่อการงานอันเป็นทุจริต

อโลภะ ธรรมชาติที่ไม่อยากได้และไม่ติดใจในอารมณ์

อโทสะ ธรรมชาติที่ไม่ประทุษร้ายอารมณ์

ตัตตรมัชฌัตตตา ธรรมชาติที่ทำให้สัมปยุตตธรรมสม่ำเสมอในกิจของตน ๆ ไม่ให้มีการยิ่งหรือหย่อนกว่ากัน

กายปัสสัทธิ ธรรมชาติที่เป็นความสงบของเจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศลเจ.๑

จิตตปัสสัทธิ ธรรมชาติที่เป็นความสงบของจิตในการงานอันเป็นกุศล

กายลหุตา ธรรมชาติที่เป็นความเบาของเจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศล

จิตตลหุตา ธรรมชาติที่เป็นความเบาของจิต ในการงานอันเป็นกุศล

กายมุทุตา ธรรมชาติที่เป็นความอ่อนของเจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศล

จิตตมุทุตา ธรรมชาติที่เป็นความอ่อนของจิต ในการงานอันเป็นกุศล

กายกัมมัญญตา ธรรมชาติที่เป็นความควรของเจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศล

จิตตกัมมัญญตา ธรรมชาติที่เป็นความควรของจิตในการงานอันเป็นกุศล

กายปาคุญญตา ธรรมชาติที่เป็นความคล่องแคล่วของเจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศล

จิตตปาคุญญตา ธรรมชาติที่เป็นความคล่องแคล่วของจิตในการงานอันเป็นกุศล

กายุชุกตา ธรรมชาติที่เป็นความซื่อตรงของเจตสิกขันธ์ ๓ ในการงานอันเป็นกุศล

จิตตุชุกตา ธรรมชาติที่เป็นความซื่อตรงของจิตในการงานอันเป็นกุศล

วิรตีเจตสิก มี ๓ ดวง คือ

สัมมาวาจา การกล่าววาจาที่เว้นจากวจีทุจริต ๔ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการงานอันเป็นอาชีพ

สัมมากัมมันตะ การกระทำที่เว้นจากกายทุจริต ๓ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการงานอันเป็นอาชีพ

สัมมาอาชีวะ การประกอบอาชีพที่เว้นจากกายทุจริต ๓ และวจีทุจริต ๔

อัปปมัญญาเจตสิก มี ๒ ดวง คือ

กรุณา ธรรมชาติที่มีความสงสารต่อทุกขิตสัตว์ คือ ผู้ที่กำลังได้รับความลำบากอยู่ หรือจะได้รับความลำบากในกาลข้างหน้า

มุทิตา ธรรมชาติที่มีความพลอยยินดีต่อสุขิตสัตว์ คือ ผู้ที่กำลังได้รับความสุข หรือ จะได้รับความสุขในกาลข้างหน้า

ปัญญินทรียเจตสิก มี ๑ ดวง คือ

ปัญญา ธรรมชาติที่รู้สภาวธรรมโดยทั่ว ๆ ไปตามความเป็นจริง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |