| |
บุคคลที่ควรแผ่มุทิตาให้ตามลำดับ ๕ จำพวก   |  

๑. ตนเอง เพราะตนของตนเอง ย่อมเป็นที่รักยิ่งกว่าบุคคลใด ๆ ในโลก เมื่อนึกถึงว่า ตนเองได้รับความสุข หรือจะได้รับความสุขในกาลข้างหน้า ก็ย่อมปลาบปลื้มใจ มีความยินดีกับความสุขหรือความสำเร็จของตนเองนั้น เมื่อบุคคลแผ่มุทิตาจิตไปในตนเองอย่างต่อเนื่องถึงที่แล้ว สภาพของมุทิตาจิตก็แผ่ซึมซาบอยู่ในจิตใจ ต่อไปก็สามารถแผ่ไปแก่บุคคลอื่น โดยลำดับได้ไม่ติดขัด

๒. อติปิยบุคคล บุคคลผู้เป็นที่รักยิ่ง เมื่อพระโยคีบุคคลนึกถึงความสุขความสำเร็จของบุคคลผู้เป็นที่รักยิ่ง ย่อมวางใจแผ่มุทิตาจิตไปได้อย่างราบรื่นโดยไม่ติดขัด หรือไม่เกิดอุปสรรคเนื่องจากได้ปรับสภาพของมุทิตาจิตให้ตนเองอย่างดีแล้ว

๓. ปิยบุคคล บุคคลผู้เป็นที่รัก เมื่อแผ่ในบุคคลผู้เป็นที่รักยิ่งได้อย่างราบรื่นแล้ว การที่จะแผ่ไปในบุคคลผู้เป็นที่รักธรรมดา ก็ย่อมสะดวกตามไปได้

๔. มัชฌัตตบุคคล บุคคลผู้เป็นปานกลาง ไม่เป็นที่รักและไม่เป็นที่เกลียดชัง เมื่อพระโยคีบุคคลดำเนินมุทิตาจิตให้เป็นไปได้โดยสะดวกในบุคคลข้างต้นตามลำดับมาแล้ว สภาพมุทิตาจิตย่อมมีความสม่ำเสมอในบุคคลนั้น ๆ ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ฉะนั้น การที่จะแผ่ไปยังบุคคลทั่วไปที่เป็นปานกลาง ไม่เป็นที่รักหรือชัง ก็สามารถดำเนินไปได้โดยง่าย เช่นเดียวกัน

๕. เวรีบุคคล บุคคลผู้เป็นคู่เวรกัน ย่อมเป็นการลำบากอย่างยิ่ง ที่จะทำให้เกิดความพลอยยินดี หากว่า พระโยคีไม่ได้ฝึกฝนในเรื่องมุทิตาจิตมาอย่างดีแล้ว เพราะบุคคลนั้น ย่อมปรากฏเป็นเหมือนหนามตำตาแทงใจอยู่นั้นเอง การที่จะแผ่ความพลอยยินดีด้วยกับบุคคลนั้น ก็เป็นการยาก แต่เมื่อพระโยคีบุคคลได้แผ่มุทิตาจิตไปในบุคคลข้างต้นตามลำดับ จนสภาพมุทิตาจิตมีความเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ เป็นกลางในบุคคลทั้งหลายแล้ว การที่จะแผ่มุทิตาจิตไปยังบุคคลผู้เป็นคู่เวรกันก็เป็นได้ง่าย โดยคิดว่า “เป็นผลแห่งกรรมดีที่บุคคลนั้น ได้กระทำแล้ว และบุคคลนั้น อาจเคยเกี่ยวข้องกับเราในทางที่ดีมาก็มาก เช่น เคยเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา เป็นต้น เลี้ยงเรามา อนุเคราะห์เรา สร้างอุปการคุณแก่เรามา ก็คงจะมากมาย การที่บุคคลนั้น จะได้รับผลดี มีความสุขสบาย ก็สมควรแล้ว” ดังนี้เป็นต้นแล้วก็แผ่มุทิตาจิตไป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |