| |
ไฟ ๗ อย่าง   |  

ในปฐมอัคคิสูตร ปฐมปัณณาสก์ อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาตรุ.๙๖ ได้แสดงสภาพธรรมและบุคคลเปรียบด้วยไฟไว้ ๗ ประการ คือ

๑. ราคัคคิ ไฟคือราคะ

๒. โทสัคคิ ไฟคือโทสะ

๓. โมหัคคิ ไฟคือโมหะ

๔. อาหุเนยยัคคิ ไฟคืออาหุไนยบุคคล

๕. คหปตัคคิ ไฟคือคฤหบดี

๖. ทักขิเณยยัคคิ ไฟคือทักขิไณยบุคคล

๗. กัฏฐัคคิ ไฟเกิดจากไม้

อรรถกถาปฐมอัคคิสูตรรุ.๙๗ ได้อธิบายความหมายของไฟทั้ง ๗ ประเภทนี้ไว้ดังต่อไปนี้

ราคะ โทสะ โมหะ ที่เรียกว่า อัคคิ เพราะอรรถว่า ตามเผาผลาญ หมายความว่า ย่อมตามเผาผลาญจิตใจของบุคคลผู้ถูกไฟเหล่านี้สุมอยู่ เมื่อไฟเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งคุกรุ่นขึ้นเวลาใด ย่อมตามเผาผลาญบุคคลนั้นให้เร่าร้อนเนือง ๆ ร้อนเพราะความเกิดบ้าง ร้อนเพราะความแก่บ้าง ร้อนเพราะความเจ็บไข้บ้าง ร้อนเพราะความตายบ้าง ร้อนเพราะความเศร้าโศกเสียใจบ้าง ร้อนเพราะความพิไรรำพันบ้าง ร้อนเพราะความทุกข์กายบ้าง ร้อนเพราะความทุกข์ใจบ้าง ร้อนเพราะความเหือดแห้งใจบ้าง ชื่อว่า ร้อนเพราะราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้นเหตุ

อาหุเนยยัคคิ แยกบทได้ดังนี้ คือ อาหุเนยยะ+อัคคิ คำว่า อาหุเนยยะ มาจาก อาหุนะ หมายถึง เครื่องสักการะ บุคคลผู้ควรแก่เครื่องสักการะ เรียกว่า อาหุไนยบุคคล ได้แก่ มารดาบิดา ที่เรียกว่า อัคคิ จริงอยู่ มารดาและบิดาทั้งหลาย เพราะท่านทั้ง ๒ เป็นผู้มีอุปการมากแก่บุตรทั้งหลาย บุตรทั้งหลายปฏิบัติผิดในมารดาและบิดาทั้ง ๒ นั้น ย่อมบังเกิดในอบายมีนรก เป็นต้น เพราะเหตุนั้น ถึงแม้มารดาและบิดาจะมิได้ตามเผาผลาญลูกก็จริง ถึงกระนั้นท่านทั้ง ๒ ก็ยังเป็นปัจจัยแก่การตามเผาผลาญลูก ดังนั้น ท่านจึงเรียกมารดาบิดาว่า อาหุเนยยัคคิ เพราะอรรถว่า ตามเผาผลาญนั่นแล

คหปตัคคิ แยกบทเป็น คหปติ+อัคคิ คำว่า คหบดี หมายถึง เจ้าของเรือน คือ สามีจริงอยู่ คหบดีนั้นมีอุปการะมากแก่มาตุคาม ด้วยการมอบให้ที่นอน เสื้อผ้า และเครื่องประดับ เป็นต้น มาตุคามผู้นอกใจสามีนั้น ย่อมบังเกิดในอบายมีนรกเป็นต้น เพราะเหตุนั้น สามีแม้นั้น ท่านก็เรียกว่า คหปตัคคิ เพราะอรรถว่า ตามเผาผลาญโดยนัยก่อนนั่นแล

ทักขิเณยยัคคิ แยกเป็น ทักขิเณยยะ+อัคคิ คำว่า ทักขิเณยยะ มาจากคำว่า ทักขิณา หมายถึง ปัจจัย ๔ บุคคลผู้ควรแแก่ปัจจัย ๔ เรียกว่า ทักขิไณยบุคคล ได้แก่ ภิกษุสงฆ์ จริงอยู่ ภิกษุสงฆ์นั้น ย่อมเป็นผู้มีอุปการะมากแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย ด้วยการประกอบไว้ในกัลยาณธรรมทั้งหลายมีอาทิอย่างนี้ คือ ในสรณะ ๓ ศีล ๕ ศีล ๑๐ การบำรุงมารดาและบิดา การบำรุงสมณะและพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรม เป็นต้น คฤหัสถ์ผู้ปฏิบัติผิดในภิกษุสงฆ์นั้น เช่น ด่าบริภาษภิกษุสงฆ์ เป็นต้น ย่อมบังเกิดในอบายทั้งหลายมีนรกเป็นต้น เพราะเหตุนั้น ภิกษุสงฆ์นั้น ท่านจึงเรียกว่า ทักขิเณยยัคคิ ไฟคือทักขิเณยยบุคคล เพราะอรรถว่า ตามเผาผลาญโดยนัยก่อนนั่นแล

ไฟตามปกติที่เกิดแต่ไม้ ท่านเรียกว่า กัฏฐัคคิ แปลว่า ไฟที่เกิดจากไม้แห้ง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |