| |
แสดงความเป็นไปของรูปโดยภูมิ   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๖๘๒ ได้แสดงถึงความเป็นไปของรูปทั้ง ๔ สมุฏฐานโดยประเภทแห่งภูมิไว้ ดังต่อไปนี้

ภาวทสกะมีสมุฏฐานคือกรรมที่มีความกำหนัดยินดีเป็นเหตุ พระอนุรุทธาจารย์จึงกล่าวว่า ภาวทสกะไม่มีในรูปภูมิ ที่เกิดจากการเจริญภาวนาซึ่งคลายความยินดีในกามราคะแล้ว

คำว่า อาหารชกลาปานิ จ น ลพฺภนฺติ [กับรูปกลาปที่เกิดแต่อาหาร ย่อมไม่ปรากฏ] มีความหมายว่า เพราะไม่มีอาหารที่จะกลืนกินเข้าไปสู่ภายใน อาหารภายในที่อยู่ในสรีระจึงก่อให้เกิดรูปไม่ได้

ส่วนอาจารย์อานันทเถระอธิบายว่า กลิ่น รส และโอชา ไม่ปรากฏในรูปกลาปที่เกิดขึ้นในรูปภูมิ โดยอ้างพระดำรัสในคัมภีร์วิภังค์ว่า

รูปธาตุยา อุปปตฺติกฺขเณ ปญฺจายตนานิ ปาตุภวนฺติ จกฺขายตนํ รูปายตนํ โสตายตนํ มนายตนํ ธมฺมายตนํรุ.๖๘๓ แปลความว่า อายตนะ ๕ คือ จักขายตนะ รูปายตนะ โสตายตนะ มนายตนะ และธัมมายตนะ ย่อมปรากฏในขณะปฏิสนธิในรูปภูมิ

ปญฺจธาตุโย ปาตุภวนฺติ จกฺขุธาตุ รูปธาตุ โสตธาตุ มโนวิญฺาณธาตุ ธมฺมธาตุรุ.๖๘๔ แปลความว่า ธาตุ ๕ คือ จักขุธาตุ รูปธาตุ โสตธาตุ มโนวิญญาณธาตุ และธัมมธาตุ ย่อมปรากฏ

ตโย อาหารา ปาตุภวนฺติ ผสฺสาหาโร, มโนสญฺเจตนาหาโร, วิญฺาณาหาโรรุ.๖๘๕ แปลความว่า อาหาร ๓ คือ ผัสสาหาร [อาหารคือผัสสะ] มโนสัญเจตนาหาร [อาหารคือเจตนา] และวิญญาณาหาร [อาหารคือจิต] ย่อมปรากฏ

แม้โผฏฐัพพะในรูปภูมิจะมีปฏิเสธไว้ในพระบาลี แต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็มิได้ปฏิเสธการเกิดขึ้นของมหาภูตรูปในรูปภูมินั้น เพราะมีหน้าที่อย่างอื่นอีก [กล่าวคือ ความเป็นเหตุปัจจัยให้รูปดำเนินไปได้] ส่วนกลิ่นเป็นต้นไม่มีหน้าที่อย่างอื่น [นอกจากความเป็นอารมณ์ของฆานปสาทเป็นต้น] ซึ่งทำให้กลิ่นดำรงอยู่ในความเป็นสภาวธรรม การที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ตรัสถึงกลิ่นเป็นต้น จึงแสดงว่า ไม่มีในรูปภูมินั้น

ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นของอาจารย์อานันทเถระ

อย่างไรก็ตาม มหาภูตรูป ๔ ย่อมเกิดขึ้นในรูปภูมิได้ ดังพระพุทธพจน์เป็นต้นว่า อสญฺสตฺตานํ เอกํ มหาภูตํ ปฏิจฺจ ตโย มหาภูตารุ.๖๘๖ แปลความว่า มหาภูตรูป ๓ ย่อมเกิดขึ้นแก่อสัญญสัตว์โดยอาศัยมหาภูตรูปอย่างหนึ่ง

โดยเหตุที่โผฏฐัพพายตนะและโผฏฐัพพธาตุถูกปฏิเสธไว้ในรูปภูมิดังกล่าวแล้ว ดังนั้น แม้สภาวธรรมทั้งหมดจะเหมือนกันโดยความเป็นธรรม ในพระอภิธรรมปิฎก คือ วิภังค์ กถาวัตถุ และยมก ได้ปฏิเสธกลิ่นเป็นต้นในรูปภูมิ โดยหมายเอาการไม่ได้รับ ชื่อว่า กลิ่น เพราะไม่มีหน้าที่เฉพาะที่ทำให้เรียกว่า กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และ กพฬีการาหาร

อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่า กลิ่น เป็นต้น เป็นผลสืบเนื่องของมหาภูตรูป จึงควรจัดเข้าในธัมมายตนะและธัมมธาตุรุ.๖๘๗

ในคำว่า ตีณิ ทสกานิ ชีวิตนวกญฺจ [ทสกะทั้ง ๓ กับชีวิตนวกะ] นี้ อาจกล่าวจำนวนรูปกลาปตามมติของอาจารย์อานันทเถระ [ในคัมภีร์มูลฎีกา เล่มที่ ๒ หน้า ๑๑๙-๑๒๐] ว่า สัตตกะ [กลุ่มรูป ๗ อย่าง] ๓ อย่างเช่นนี้ คือ จักขุสัตตกะ โสตสัตตกะ และวัตถุสัตตกะ กับชีวิตฉักกะ [กลุ่มรูป ๖ อย่าง ที่มีชีวิตรูปเป็นประธาน]

คำว่า อติริจฺฉติ [ย่อมหลงเหลืออยู่] มีความหมายว่า เมื่อรูปที่ไม่เกิดขึ้นถูกเว้นเสียก่อน รูปที่มีอุตุเป็นสมุฏฐาน ยกเว้นสัททนวกะ ย่อมหลงเหลืออยู่ด้วยการเกิดขึ้นในอสัญญสัตตภูมิ อีกนัยหนึ่ง คำนี้มีความหมายว่า ย่อมมีเกินกว่า [รูปที่ถูกยกเว้น]

ถามว่า เหตุใดจึงไม่กล่าวชีวิตนวกะเป็นพิเศษไว้โดยเฉพาะในกามภูมิเหมือนในรูปภูมิ ?

ตอบว่า ชีวิตนวกะนี้ตั้งอยู่ในฐานะทั้ง ๒ [คืออุปถัมภ์และรักษา] ย่อมตามรักษาสรีระทั้งหมด เพราะในรูปภูมิไม่มีสิ่งอุปถัมภ์รูปคืออาหารและชีวิตรูป [ในกายทสกะและภาวทสกะ] ที่แผ่ไปสู่สรีระทุกส่วนตามรักษาอยู่เสมอ ชีวิตนวกะจึงปรากฏชัดในรูปภูมิ เพราะเหตุนั้น จึงกล่าวถึงชีวิตนวกะไว้โดยเฉพาะ [ในรูปภูมิ] แต่ในกามภูมิ รูปอื่น ๆ ที่อุปถัมภ์และตามรักษามีมากและปรากฏชัด ชีวิตนวกะไม่ปรากฏชัดเจนมาก ท่านจึงไม่กล่าวไว้โดยเฉพาะ

ชีวิตนวกะนี้ปรากฏโดยความเป็นไฟธาตุย่อยอาหารที่กลืนกินเป็นต้น และเป็นไฟในกาย ที่เรียกว่า ไออุ่น ซึ่งเกิดจากไฟธาตุย่อยอาหารอันตามรักษาสรีระทั้งหมด ที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงว่า

อายุ อุสฺมา จ วิญฺาณํ    ยทา กายํ ชหนฺติมํ
อปวิทฺโธ ตทา เสติ    นิรตฺถํว กลิงฺครํรุ.๖๘๘

แปลความว่า

อายุ [ชีวิตรูป] ไออุ่น [เตโชธาตุ] และวิญญาณ [ภวังคจิต] สละร่างกายนี้เมื่อใด เมื่อนั้น ร่างกายนี้ย่อมถูกทิ้ง นอนอยู่เหมือนท่อนไม้ไร้ค่า ฉันนั้น

ในพระบาลีนั้น พระดำรัสว่า “อายุ” คือชีวิตรูปที่ดำรงอยู่ในไฟธาตุทั้ง ๒ อย่าง

พระดำรัสว่า “ไออุ่น” คือ ไฟธาตุทั้ง ๒ ซึ่งเมื่อไม่สม่ำเสมอกันด้วยความมากหรือน้อย โรคนานาชนิดย่อมเกิดขึ้นในสรีระ ดังพระพุทธพจน์ว่า พหฺวาพาโธ โหติ พหฺวาตงฺโก ฯ วิสมเวปากินิยา คหณิยา สมนฺนาคโต โหติ อติอุณฺหาย อติสีตายรุ.๖๘๙ [เป็นผู้มีโรคมาก มีอาพาธมาก กอปรด้วยไฟธาตุย่อยอาหารไม่สม่ำเสมอ ซึ่งร้อนจัดบ้าง เย็นจัดบ้าง] แต่เมื่อไฟธาตุสม่ำเสมอ เหล่าสัตว์ก็ปราศจากโรค ดังพระพุทธพจน์ว่า สมเวปากินิยา คหณิยา สมนฺนาคโต โหติ ฯ นาติสีตาย นจฺจุณฺหาย มชฺฌิมาย ปธานกฺขมายรุ.๖๙๐ [เป็นผู้ไม่มีโรค ไม่มีอาพาธ กอปรด้วยไฟธาตุย่อยอาหารสม่ำเสมอ ซึ่งมีสภาพปานกลาง ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด ควรแก่ความเพียร]

บางคนสำคัญชีวิตนวกะว่าเป็นเพียงไฟธาตุย่อยอาหารที่กลืนกินเป็นต้นเท่านั้น

อนึ่ง พระอนุรุทธาจารย์กล่าวไว้ในคัมภีร์นามรูปปริจเฉทว่า “ชีวิตนวกะมีได้ในรูปภูมิอย่างเดียว"รุ.๖๙๑

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคกล่าวว่า

เสเสสุ จตุสมุฏฺาเนสุ อฏฺสุ ชีวิตนวกญฺเจว ตีณิ โอชฏฺมกานิ จาติ เตตฺตึส รูปานิ ปากฎานิ โหนฺติรุ.๖๙๒ แปลความว่า รูป ๓๓ อย่าง คือ ชีวิตนวกะและอัฏฐกกลาปที่ประกอบด้วยโอชา ซึ่งมี ๓ อย่าง [รูปที่เกิดจากจิต อุตุ และอาหาร] ปรากฏชัดในกลุ่มรูป ๘ กลุ่ม ที่เกิดจากเหตุ ๔ ที่เหลือ [จากไฟธาตุย่อยอาหารและลมหายใจเข้าออก]

ในพากย์นั้น คำว่า “กลุ่มรูป ๘ กลุ่ม” คือ กลุ่มรูป ๘ กลุ่ม อันได้แก่ กลุ่มเตโชธาตุ ๓ กลุ่ม ยกเว้นไฟธาตุย่อยอาหารและลมหายใจเข้าออก กับทั้งกลุ่มวาโยธาตุ ๕ กลุ่ม โดยประการดังนี้ ชีวิตนวกะมีอยู่ในสรีระทั้งหมด เพราะเกิดขึ้นในกลุ่มเตโชธาตุและวาโยธาตุที่ซึมซาบอยู่ทั่วร่างกายในกามภูมิ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |