| |
คู่ที่ ๓ ทวารรูป กับ อทวารรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๔๙๖ ท่านได้แสดงความหมายของทวารรูปกับอทวารรูปไว้ดังต่อไปนี้

รูปทั้ง ๗ อย่าง ชื่อว่า ทวารรูป [รูปที่เป็นเหตุแห่งการเกิดขึ้นของวิถีจิตและกรรม] เพราะทำให้เกิดวิถีจิตและกรรมมีปาณาติบาตเป็นต้นตามลำดับ

ปสาทรูป ๕ อย่าง ชื่อว่า อุปปัตติทวาร [เหตุให้เกิดวิถีจิต]

ส่วนวิญญัติรูป ๒ อย่าง ชื่อว่า กัมมทวาร [เหตุให้เกิดกรรม]

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ ได้กล่าวถึงทวารรูปและอทวารรูปไว้รุ.๔๙๗ ดังต่อไปนี้

การเกิดขึ้นของวิถีจิตก็ดี การเกิดขึ้นของกายกรรมและวจีกรรมก็ดี เหล่านี้ต้องอาศัยทวารรูปเป็นเหตุ กล่าวคือ การเกิดขึ้นของปัญจทวารวิถีนั้น ต้องมีปสาทรูป ๕ เป็นเหตุหรือเป็นฐานให้เกิด เพราะฉะนั้น ปสาทรูป ๕ เหล่านี้ จึงได้ชื่อว่า อุปปัตติทวาร หมายความว่า รูปที่เป็นเหตุแห่งการเกิดขึ้นของปัญจทวารวิถี

ส่วนการเกิดขึ้นของการกระทำต่าง ๆ จะเป็นสุจริตก็ตาม ทุจริตก็ตาม ยกเว้นกายวิญญัติรูปเสียแล้ว การกระทำนั้น ๆ ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เป็นส่วนมาก และการกล่าววาจาต่าง ๆ ที่เป็นสุจริตหรือทุจริตนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยวจีวิญญัติรูป ยกเว้นวจีวิญญัติรูปเสียแล้ว การพูดต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น วิญญัติรูป ๒ นี้จึงได้ชื่อว่า กัมมทวาร หมายความว่า รูปที่เป็นเหตุให้เกิดกายกรรมและวจีกรรม

ส่วนรูปที่เหลือ ๒๑ รูปนั้น ไม่ใช่เป็นรูปที่เป็นเหตุให้เกิดกายกรรมและวจีกรรม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อทวารรูป

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๔๙๘ ได้อธิบายความหมายของทวารรูปกับอทวารรูปไว้ดังต่อไปนี้

ทวารรูป คือ รูปที่เป็นเหตุแห่งการเกิดขึ้นของปัญจทวารวิถีและเป็นเหตุแห่งการเกิดขึ้นของกายกรรมและวจีกรรม มีจำนวน ๗ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และวิญญัติรูป ๒

อทวารรูป คือ รูปที่ไม่ได้เป็นเหตุแห่งการเกิดขึ้นของปัญจทวารวิถีและกายกรรม วจีกรรม มีจำนวน ๒๑ รูป ได้แก่ รูปที่เหลือ ๒๑ รูป

ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายที่เกิดอยู่ในปัญจโวการภูมินั้น การเกิดขึ้นของวิถีจิตก็ดี หรือการเกิดขึ้นของกายกรรมและวจีกรรมเหล่านี้ก็ดี ย่อมต้องอาศัยทวารรูป ๗ เป็นเหตุ กล่าวคือ การเกิดขึ้นของปัญจทวารวิถีนั้น ต้องมีปสาทรูป ๕ เป็นเหตุให้เกิด ปสาทรูป ๕ นี้ จึงได้ชื่อว่า อุปปัตติทวาร เพราะเป็นรูปที่เป็นเหตุแห่งการเกิดขึ้นของปัญจทวารวิถี สำหรับการเกิดขึ้นของการกระทำต่าง ๆ ที่เป็นการกระทำทางกายหรือทางวาจาก็ตาม ไม่ว่าการกระทำนั้นจะเป็นสุจริตกรรมหรือทุจริตกรรมก็ตาม ถ้าไม่มีกายวิญญัติรูปและวจีวิญญัติรูปเสียแล้ว การกระทำหรือการพูดจาต่าง ๆ ที่เป็นสุจริตหรือทุจริตเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น วิญญัติรูปทั้ง ๒ อย่างนี้ จึงเป็นเครื่องแสดงออกของการกระทำด้วยกายและด้วยวาจา จึงได้ชื่อว่า กัมมทวาร หมายถึง รูปที่เป็นเหตุให้เกิดกายกรรมและวจีกรรมนั่นเอง

ส่วนรูปที่เหลือ ๒๑ รูป นอกจากปสาทรูป ๕ และวิญญัติรูป ๒ แล้ว รูปเหล่านั้น มิใช่รูปที่เป็นเหตุให้เกิดวิถีจิตและมิได้เป็นเหตุให้เกิดกายกรรมและวจีกรรม เพราะฉะนั้น ท่านจึงเรียกรูป ๒๑ รูปเหล่านี้ว่า อทวารรูป

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

ในกรณีทวารรูปและอทวารรูปนี้ ผู้เขียนได้นำคำอธิบายเหล่านั้นมาประมวลอธิบายขยายความเพิ่มเติมอีก ดังต่อไปนี้

ทวารรูป หมายถึง รูปที่เป็นเหตุแห่งการเกิดขึ้นของปัญจทวารวิถีจิต และเป็นเหตุแห่งการเกิดขึ้นของกายกรรมและวจีกรรม มี ๗ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และวิญญัติรูป ๒

ปสาทรูป ๕ นั้นได้ชื่อว่า อุปปัตติทวาร หมายความว่า เป็นรูปที่เป็นเหตุแห่งการเกิดขึ้นของปัญจทวารวิถี กล่าวคือ วิถีจิตที่เกิดขึ้นทางทวาร ๕ อันได้แก่ จักขุทวารวิถี โสตทวารวิถี ฆานทวารวิถี ชิวหาทวารวิถี และกายทวารวิถี เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีปสาทรูป ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งตามสภาพของตนเป็นที่อาศัยเกิด ถ้าไม่มีปสาทรูปนั้น ๆ แล้ว วิถีจิตที่จะเกิดขึ้นทางทวารนั้น ๆ ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เลย เช่น ถ้าบุคคลใดไม่มีจักขุปสาทรูปแล้ว จักขุทวารวิถีย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นไม่ได้เลย แม้โดยประการทั้งปวง ดังนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น การเกิดขึ้นของปัญจทวารวิถีนั้น ต้องมีปสาทรูป ๕ เป็นเหตุให้เกิดขึ้น เพราะเหตุว่า ปสาทรูป ๕ อย่างนั้น มีสภาพเป็นทวาร ๕ กล่าวคือ

[๑] จักขุปสาทรูป เป็นจักขุทวาร คือ เป็นช่องทางเกิดขึ้นของจักขุทวาริกจิต ๔๖ ดวง ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ จักขุวิญญาณจิต ๒ สัมปฏิจฉนจิต ๒ สันตีรณจิต ๓ กามชวนจิต ๒๙ [อกุศลจิต ๑๒ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘] ตทาลัมพนจิต ๑๑ [ในตทาลัมพนจิต ๑๑ ดวงนี้ต้องหักสันตีรณจิต ๓ ออกเพราะซ้ำกันข้างต้น คงเหลือมหาวิบากจิต ๘] จิตทั้ง ๔๖ ดวงนี้เมื่อเกิดขึ้นรับรูปารมณ์คือวัณณรูป ได้แก่ สีต่าง ๆ จะต้องอาศัยจักขุปสาทรูปเป็นทวาร คือ เป็นช่องทางหรือเป็นประตูในการรับรู้รูปารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกจิตเหล่านี้ว่า จักขุทวารวิถีจิต หรือ จักขุทวาริกจิต แปลว่า จิตที่อาศัยจักขุทวารเกิด ถ้าไม่มีจักขุปสาทรูปแล้ว จักขุทวารวิถีจิตหรือจักขุทวาริกจิต ๔๖ ดวงเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นรับรู้รูปารมณ์นั้นไม่ได้เลย

[๒] โสตปสาทรูป เป็นโสตทวาร คือ เป็นช่องทางเกิดขึ้นของโสตทวาริกจิต ๔๖ ดวง ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ โสตวิญญาณจิต ๒ สัมปฏิจฉนจิต ๒ สันตีรณจิต ๓ กามชวนจิต ๒๙ [อกุศลจิต ๑๒ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘] ตทาลัมพนจิต ๑๑ [ในตทาลัมพนจิต ๑๑ ดวงนี้ต้องหักสันตีรณจิต ๓ ออกเหมือนในจักขุทวารวิถี] จิตทั้ง ๔๖ ดวงนี้เมื่อเกิดขึ้นรับสัททารมณ์คือสัททรูป ได้แก่ เสียงต่าง ๆ จะต้องอาศัยโสตปสาทรูปเป็นทวารคือเป็นช่องทางหรือเป็นประตูในการรับรู้สัททารมณ์เท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกจิตเหล่านี้ว่า โสตทวารวิถีจิต หรือ โสตทวาริกจิต แปลว่า จิตที่อาศัยโสตทวารเกิด ถ้าไม่มีโสตปสาทรูปแล้ว โสตทวารวิถีจิตหรือโสตทวาริกจิต ๔๖ ดวงเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นรับรู้สัททารมณ์นั้นไม่ได้เลย

[๓] ฆานปสาทรูป เป็นฆานทวาร คือ เป็นช่องทางเกิดขึ้นของฆานทวาริกจิต ๔๖ ดวง ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ฆานวิญญาณจิต ๒ สัมปฏิจฉนจิต ๒ สันตีรณจิต ๓ กามชวนจิต ๒๙ [อกุศลจิต ๑๒ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘] ตทาลัมพนจิต ๑๑ [ในตทาลัมพนจิต ๑๑ ดวงนี้ต้องหักสันตีรณจิต ๓ ออกเหมือนในจักขุทวารวิถี] จิตทั้ง ๔๖ ดวงนี้เมื่อเกิดขึ้นรับคันธารมณ์คือคันธรูป ได้แก่ กลิ่นต่าง ๆ จะต้องอาศัยฆานปสาทรูปเป็นทวาร คือ เป็นช่องทางหรือเป็นประตูในการรับรู้คันธารมณ์เท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกจิตเหล่านี้ว่า ฆานทวารวิถีจิต หรือ ฆานทวาริกจิต แปลว่า จิตที่อาศัยฆานทวารเกิด ถ้าไม่มีฆานปสาทรูปแล้ว ฆานทวารวิถีจิตหรือฆานทวาริกจิต ๔๖ ดวงเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นรับรู้คันธารมณ์นั้นไม่ได้เลย

[๔] ชิวหาปสาทรูป เป็นชิวหาทวาร คือ เป็นช่องทางเกิดขึ้นของชิวหาทวารวิถีจิต ๔๖ ดวง ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ สัมปฏิจฉนจิต ๒ สันตีรณจิต ๓ กามชวนจิต ๒๙ [อกุศลจิต ๑๒ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘] ตทาลัมพนจิต ๑๑ [ในตทาลัมพนจิต ๑๑ ดวงนี้ต้องหักสันตีรณจิต ๓ ออกเหมือนในจักขุทวารวิถี] จิตทั้ง ๔๖ ดวงนี้เมื่อเกิดขึ้นรับรสารมณ์ คือ รสรูป ได้แก่ รสต่าง ๆ จะต้องอาศัยชิวหาปสาทรูปเป็นทวารคือเป็นช่องทางหรือเป็นประตูในการรับรู้รสารมณ์เท่านั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกจิตเหล่านี้ว่า ชิวหาทวารวิถีจิต หรือ ชิวหาทวาริกจิต แปลว่า จิตที่อาศัยชิวหาทวารเกิด ถ้าไม่มีชิวหาปสาทรูปแล้ว ชิวหาทวารวิถีจิตหรือชิวหาทวาริกจิต ๔๖ ดวงเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นรับรู้รสารมณ์นั้นไม่ได้เลย

[๕] กายสปาทรูป เป็นกายทวาร คือ เป็นช่องทางเกิดขึ้นของกายทวารวิถีจิต ๔๖ ดวง ได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต ๑ กายวิญญาณจิต ๒ สัมปฏิจฉนจิต ๒ สันตีรณจิต ๓ กามชวนจิต ๒๙ [อกุศลจิต ๑๒ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘] ตทาลัมพนจิต ๑๑ [ในตทาลัมพนจิต ๑๑ ดวงนี้ต้องหักสันตีรณจิต ๓ ออกเหมือนในจักขุทวารวิถี] จิตทั้ง ๔๖ ดวงนี้เมื่อเกิดขึ้นรับโผฏฐัพพารมณ์ คือ ปถวีธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ได้แก่ สัมผัสต่าง ๆ จะต้องอาศัยกายปสาทรูปเป็นทวาร คือ เป็นช่องทางหรือเป็นประตูในการรับรู้โผฏฐัพพารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกจิตเหล่านี้ว่า กายทวารวิถีจิต หรือ กายทวาริกจิต แปลว่า จิตที่อาศัยกายทวารเกิด ถ้าไม่มีกายปสาทรูปแล้ว กายทวารวิถีจิตหรือกายทวาริกจิต ๔๖ ดวงเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นรับรู้โผฏฐัพพารมณ์นั้นไม่ได้เลย

ส่วนวิญญัติรูป ๒ ได้ชื่อว่า กัมมทวาร หมายความว่า เป็นรูปที่เป็นเหตุให้เกิดกายกรรมและวจีกรรม กล่าวคือ

กายกรรม ๓ ได้แก่ การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม หรือการประพฤติที่เป็นไปเพื่อการงดเว้นจากสิ่งเหล่านี้ ที่เป็นการกระทำด้วยตนเองนั้น จะต้องมีการเคลื่อนไหวทางกายอย่างใดอย่างหนึ่งจึงจะสามารถทำกรรมนั้น ๆ ให้สำเร็จลงได้ ถ้าบุคคลนั้นอยู่เฉย ๆ โดยไม่มีการเคลื่อนไหวกายอย่างใดอย่างหนึ่งเลย ย่อมไม่สามารถฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ หรือประพฤติผิดในกามให้สำเร็จลงด้วยตนเองได้ [ยกเว้นการใช้พลังจิตหรือฤทธิ์เดชเวทมนต์คาถาในการฆ่าสัตว์หรือลักทรัพย์ ซึ่งไม่จัดเป็นกายกรรม แต่เป็นมโนกรรม] เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า กายวิญญัติรูปเป็นช่องทางให้เกิดกายกรรมเป็นส่วนมาก หมายความว่า กายกรรมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายก็มี เช่น นั่งทับ นอนทับ ยืนเยียบ เป็นต้น แต่เป็นไปโดยส่วนน้อย โดยส่วนมากแล้วย่อมต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวแล้ว เพราะเหตุนั้น กายวิญญัติรูปนี้ จึงได้ชื่อว่า เป็นกัมมทวารทางกาย

วจีกรรม ๔ ได้แก่ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ หรือการประพฤติเป็นไปเพื่อการงดเว้นจากสิ่งเหล่านี้ ที่เป็นการพูดด้วยวาจาของตนเอง จะต้องมีการเคลื่อนไหววาจาหรือการเปล่งเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงจะทำให้วจีกรรมนั้น ๆ สำเร็จลงได้ ถ้าบุคคลเงียบอยู่เฉย ๆ โดยไม่มีการเปล่งเสียงใด ๆ ออกมาเลย ย่อมไม่สามารถเกิดวจีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งได้เลย ยกเว้นการเขียนหนังสือเท็จ ซึ่งก็เป็นกายกรรม ไม่ใช่วจีกรรม หรือการถูกถามให้รับคำแล้ว แต่เงียบไม่ยอมพูด ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิเสธ หรือถูกเตือนให้กล่าวปฏิเสธแล้ว แต่เงียบเสียไม่พูด ซึ่งถือว่าเป็นการยอมรับ อย่างนี้เป็นการมุสาโดยอาการเงียบ ซึ่งไม่จัดเป็นวจีกรรมเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า วจีกรรมทั้ง ๔ จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยวจีวิญญัติรูป คือ การเคลื่อนไหววาจาอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวแล้ว ด้วยเหตุนี้ วจีวิญญัติรูปนี้ จึงได้ชื่อว่า เป็นกัมมทวารทางวาจา

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ จึงสรุปได้ว่า ปสาทรูป ๕ ได้ชื่อว่า อุปปัตติทวาร กล่าวคือ เป็นช่องทางที่เป็นฐานให้วิถีจิตเกิดขึ้น เพราะเป็นรูปที่เป็นเหตุแห่งการเกิดขึ้นของปัญจทวารวิถีแต่ละวิถีตามทวารของตน ๆ ส่วนวิญญัติรูป ๒ ได้ชื่อว่า กัมมทวาร คือ เป็นช่องทางให้เกิดกรรม กล่าวคือ การเกิดขึ้นของการกระทำต่าง ๆ ทางกาย ที่เรียกว่า กายกรรม และทางวาจา ที่เรียกว่า วจีกรรมนั้น ไม่ว่าจะเป็นทุจริตกรรมหรือสุจริตกรรมก็ตาม ถ้าไม่มีกายวิญญัติรูปและวจีวิญญัติรูปเสียแล้ว การกระทำหรือการพูดจาต่าง ๆ เหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น วิญญัติรูปทั้ง ๒ จึงได้ชื่อว่า กัมมทวาร เพราะเป็นช่องทางแสดงออกของการกระทำด้วยกายและวาจา หมายถึง เป็นรูปที่เป็นเหตุให้เกิดกรรมกายและวจีกรรมนั่นเอง

๒. อทวารรูป หมายถึง รูปที่ไม่ได้เป็นเหตุแห่งการเกิดขึ้นของวิถีจิตและกายกรรมวจีกรรม มี ๒๑ รูป หมายความว่า รูปที่เหลือจากทวารรูป ๗ รูปเหล่านั้น เป็นรูปที่ไม่ได้เป็นช่องทางแห่งการเกิดขึ้นของปัญจทวารวิถีอย่างใดอย่างหนึ่ง มีจักขุทวารวิถีจิตเป็นต้น ทั้งไม่ได้เป็นช่องทางแห่งการเกิดขึ้นของกายกรรมและวจีกรรมด้วย แต่เป็นเพียงส่วนประกอบของร่างกายเท่านั้น เพราะเหตุนั้น รูปทั้ง ๒๑ รูปเหล่านี้ จึงได้ชื่อว่า อทวารรูป อนึ่ง หทยรูป คือ รูปหัวใจ [หมายเอาหทยวัตถุรูปเท่านั้น ไม่ได้หมายถึงก้อนเนื้อหัวใจทั้งก้อน] แม้จะเป็นสถานที่อาศัยเกิดของมโนธาตุ ๓ และมโนวิญญาณธาตุ ๗๒ ดวง [เว้นอรูปวิบากจิต ๔] ก็ตาม แต่หทยรูปก็ไม่จัดเป็นทวารคือช่องทางแห่งการเกิดขึ้นของวิถีจิตและกายกรรมวจีกรรม เป็นแต่เพียงวัตถุคือสถานที่อาศัยเกิดของจิต [มโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ] เท่านั้น ส่วนองค์ธรรมของมโนทวารนั้นได้แก่ ภวังคจิต ซึ่งเป็นจิตที่แปรสภาพมาจากปฏิสนธิจิตของแต่ละบุคคล มาทำหน้าที่เป็นภวังคจิตในการรักษาภพชาติ กล่าวคือ รักษาสภาพของบุคคลนั้น ๆ ไว้ จนกว่าจะหมดอำนาจแห่งกรรมที่นำบุคคลนั้นมาเกิด แล้วก็ทำหน้าที่เป็นจุติจิต คือ ทำให้บุคคลนั้นตายจากภพชาติที่เกิดอยู่นั้น เป็นอันสิ้นสุดภพชาติหนึ่ง เพราะฉะนั้น ในอธิการว่าด้วยเรื่องอทวารรูปนี้ หทยรูปจึงเข้าอยู่ในองค์ธรรมของอทวารรูปนี้ด้วย เพราะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นทวารนั่นเอง





เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |