ไปยังหน้า : |
พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๑๕๔ ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของโสตปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้
โสตปสาทรูป เป็นรูปธรรมอันเป็นที่ตั้งหรือเป็นที่อาศัยเกิดแห่งโสตวิญญาณจิต และเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายได้ยินเสียงต่าง ๆ ได้ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “โสตวิญฺาณาธิฏฺตตํ หุตฺวา สทฺทํ สุณาตีติ โสตํ” แปลความว่า รูปใด เป็นที่ตั้งแห่งโสตวิญญาณจิต และย่อมได้ยินเสียง เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงได้ชื่อว่า โสตะ ได้แก่ โสตปสาทรูป
อีกนัยหนึ่ง “สทฺทํ สุณนฺติ เอเตนาติ โสตํ” แปลความว่า จิตเจตสิกเหล่าใดย่อมได้ยินเสียง โดยอาศัยรูปนั้น เพราะเหตุนั้น รูปที่เป็นเหตุแห่งการได้ยินเสียงของจิตและเจตสิกเหล่านั้น จึงชื่อว่า โสตะ ได้แก่ โสตปสาทรูป
อีกนัยหนึ่ง “สทฺเท สุยฺยนฺติ เอเตนาติ โสตํ” แปลความว่า สัตว์ทั้งหลายที่ได้ยินเสียงโดยอาศัยรูปนั้น เพราะเหตุนั้น รูปที่เป็นเหตุแห่งการได้ยินเสียงของสัตว์ทั้งหลาย จึงชื่อว่า โสตะ ได้แก่ โสตปสาทรูป
ในวจนัตถะข้อที่ ๑ เป็นการแสดงโดยฐานูปจารนัย คือ นัยโดยอ้อม ส่วนใน วจนัตถะอีก ๒ ข้อนอกนั้น เป็นการแสดงโดยมุขยนัย คือ นัยโดยตรง
สรุปความว่า โสตปสาทรูปนี้ เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่งที่เกิดจากกรรม มีสภาพเป็นความใสอันเป็นเครื่องรับเสียงต่าง ๆ มีสัณฐานเหมือนวงแหวน มีขนสีแดงเส้นละเอียดอ่อนงอกปกคลุมอยู่โดยรอบ ซึ่งตั้งอยู่ภายในช่องหูส่วนลึก เป็นความใสที่แผ่ซึมซาบอยู่ทั่วบริเวณก้อนเนื้ออันเกิดจากกรรมซึ่งมีสัณฐานเหมือนวงแหวนนั้น โสตปสาทรูปนี้มีคุณสมบัติที่ให้สำเร็จกิจ ๒ ประการ คือ เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งหรือเป็นที่อาศัยเกิดแห่งโสตวิญญาณจิต อย่างหนึ่ง และเป็นทวารคือเป็นประตูหรือเป็นช่องทางการรับรู้สัททารมณ์แห่งโสตทวารวิถีจิตหรือโสตทวาริกจิต อีกอย่างหนึ่ง