| |
การเกิดมาของสัตบุรุษมีวัตถุประสงค์ ๘ ประการ   |  

กัลยาณมิตรผู้เป็นสัตบุรุษนั้น ไม่ใช่จะมีได้ง่าย และไม่ใช่เกิดในสถานที่ทั่วไป ย่อมเกิดเฉพาะในสถานที่อันเหมาะสม เรียกว่า ปฏิรูปเทส เท่านั้น และเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์แก่บุคคลใกล้ชิดรอบข้างและบุคคลผู้มีจิตอ่อนน้อมเข้าไปคบหาสมาคมหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับท่านสัตบุรุษนั้น เพราะเหตุนี้ เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว สัตบุรุษทั้งหลายจึงเกิดมาเพื่อวัตถุประสงค์ ๘ ประการ คือ

๑. เพื่อประโยชน์แก่มารดาบิดา หมายความว่า บุคคลผู้เป็นสัตบุรุษนั้น ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ตาม เมื่อเกิดมาแล้วย่อมทำให้พ่อแม่ได้รับประโยชน์จากตนเอง เช่น ช่วยเหลือเกื้อกูลพ่อแม่ ปรนนิบัติพ่อแม่ เลี้ยงดูพ่อแม่ หรือนำพ่อแม่ไปสู่ความเจริญในทางโลกหรือทางธรรม หรือทั้งสองทาง ตามความสามารถของตนและความสามารถของพ่อแม่

๒. เพื่อประโยชน์แก่บุตรภรรยา หมายความว่า ถ้าสัตบุรุษนั้นมีภรรยา ย่อมทำความเบาใจให้ภรรยาได้ ไม่มีความคิดนอกใจภรรยา ซื่อสัตย์ต่อภรรยา สร้างความสุขให้กับภรรยา และนับถือญาติพี่น้องของภรรยาเสมอด้วยญาติพี่น้องของตน เมื่อเป็นเช่นนี้ บุตรธิดาของสัตบุรุษนั้นย่อมได้รับประโยชน์ด้วย ได้แก่ มีความสุข มีความอบอุ่นในครอบครัว เป็นต้น

๓. เพื่อประโยชน์แก่หมู่คนผู้เป็นทาสกรรมกร หมายความว่า บุคคลที่ได้เป็นบริวารของสัตบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา บุคคลเหล่านั้นย่อมเบาใจ อยู่เป็นสุข รับประกันได้ว่า จะไม่ถูกสัตบุรุษกดขี่ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ และย่อมได้รับประโยชน์อย่างอื่นเป็นของแถมอีกมากมาย เกินความคาดเดาได้

๔. เพื่อประโยชน์แก่มิตรสหายทั้งปวง หมายความว่า บุคคลใดมีสัตบุรุษเป็นมิตร บุคคลนั้นย่อมถือว่า เป็นผู้โชคดี เพราะบุคคลผู้เป็นสัตบุรุษนั้น ย่อมป้องกันมิตรผู้ประมาทแล้ว ย่อมช่วยรักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว ย่อมตักเตือนมิตรผู้ประมาทแล้ว ย่อมไม่ทอดทิ้งมิตรในยามวิบัติ สามารถยึดเป็นที่พึ่งพิงในยามเดือดร้อนได้ และย่อมนับถือไปถึงวงศ์ตระกูลของมิตรเป็นเหมือนพ่อแม่ญาติพี่น้องของตน

๕. เพื่อประโยชน์แก่ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว หมายความว่า สัตบุรุษทั้งหลายย่อมมีใจเอื้ออาทรต่อญาติมิตรทั้งหลาย ในยามอยู่ก็ช่วยเหลือเกื้อกูลด้วยวัตถุสิ่งของและน้ำใจอันดีงาม เมื่อญาติมิตรล่วงลับไปแล้ว ย่อมไม่นิ่งดูดายหรือประมาทหลงลืม ย่อมอาทรนึกถึงญาติมิตรผู้ล่วงลับไป แล้วขวนขวายทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้อยู่เสมอ ญาติมิตรผู้ล่วงลับไปแล้ว ย่อมไม่ลำบากเดือดร้อนในปรโลก

๖. เพื่อประโยชน์แก่พระราชา หมายความว่า สัตบุรุษทั้งหลายย่อมเป็นผู้อุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์แก่บุคคลทั้งหลาย ไม่มีจิตคิดทำความเสื่อมเสียต่อบุคคลทั้งหลาย ตลอดถึงสังคมประเทศชาติ บุคคลเช่นนี้ ย่อมเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นทายาทที่ดีของหมู่ญาติ เป็นมิตรที่ดีของเพื่อน เป็นสามีที่ดีของภรรยา เป็นภรรยาที่ดีของสามี เป็นพลเมืองที่ดีของชาติ เป็นศาสนิกชนที่ดีของศาสนา ถ้ามีสัตบุรุษอยู่มาก ประเทศชาติบ้านเมืองย่อมพัฒนาไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้โดยง่าย ไม่ต้องลำบากเบื้องพระยุคลบาทของพระราชา

๗. เพื่อประโยชน์แก่เหล่าเทวดาทั้งปวง หมายความว่า บุคคลผู้เป็นสัตบุรุษนั้นย่อมเอื้อเฟื้อต่อเทวดา ด้วยการทำเทวตาพลี คือ การทำบุญอุทิศต่อเทวดา ย่อมเอื้อเฟื้อเกื้อกูลแก่เทวดาด้วยวัตถุทาน คือ การทำบุญด้วยวัตถุสิ่งของอุทิศไปให้และด้วยธรรมทาน คือ การให้ได้ฟังพระสัทธรรมอันดีงาม เช่น การสวดมนต์ให้ฟัง การท่องบ่นสาธยายธรรมให้ฟัง การแผ่เมตตาให้ ตลอดถึงการนิมนต์สมณพราหมณ์หรือพระภิกษุสามเณรมาแสดงธรรมให้ฟังด้วย

๘. เพื่อประโยชน์แก่สมณพราหมณ์ หมายความว่า บุคคลผู้เป็นสัตบุรุษนั้น ย่อมเป็นผู้มีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อบุคคลทั้งหลาย ตลอดถึงสัตว์ทั้งหลาย เป็นผู้มุ่งในบุญกุศล เมื่อได้เห็นสมณพราหมณ์ ฤาษีชีไพร ตลอดถึงนักบวชทั้งหลาย ย่อมสงเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม คือ มีเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ไม่ปิดประตูคือเปิดใจรับ ไม่ห้ามเข้าบ้านเรือน มีบ้านเรือนเป็นที่รองรับ ยินดีต้อนรับเหมือนดังแขกพิเศษ และบำรุงด้วยปัจจัย ๔ อยู่เสมอ ด้วยการให้โดยเคารพ ต้อนรับโดยเคารพ พูดจาด้วยโดยเคารพ ปฏิบัติด้วยโดยเคารพ เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |