| |
บทสรุปเรื่องกัมมสมุฏฐาน   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๕๔๒ ได้แสดงสรุปความเรื่องกัมมสมุฏฐานไว้ ดังต่อไปนี้

อรูปาวจรกุศลที่เป็นภาวนาอันคลายความยินดีในรูป ย่อมไม่ก่อให้เกิดกัมมชรูป เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า “ปญฺจวีสติวิธํ” แปลความว่า จิตที่เป็นกุศลกรรมและอกุศลกรรมซึ่งถูกปรุงแต่งด้วยอำนาจเจตนา มีจำนวน ๒๕ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ มหากุศลจิต ๘ และรูปาวจรกุศลจิต ๕]

คำว่า อภิสงฺขตํ [ซึ่งถูกปรุงแต่ง] คือ ถูกกระทำให้เป็นพิเศษในกาลที่ผ่านมาแล้ว เพื่อทำให้เกิดรูปในกาลอื่น

มีข้อความ [ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ] ว่า “อชฺฌตฺติกสนฺตาเน” แปลความว่า ในกระแสแห่งจิตอันเป็นไปภายใน แต่พระอนุรุทธาจารย์ควรกล่าวว่า “อชฺฌตฺตสนฺตาเน” แปลความว่า ในกระแสจิตภายใน

อีกนัยหนึ่ง พึงทราบความหมายของ อิก ปัจจัย ในคำว่า อัชฌัตติกะ ก็คือ ภายใน นั่นแหละ

คำว่า ปฏิสนฺธิมุปาทาย แปลความว่า นับแต่ปฏิสนธิมา มีความหมายว่า นับตั้งแต่ขณะเกิดแห่งปฏิสนธิจิตเป็นต้นมา

คำว่า ขเณ ขเณ แปลว่า ทุก ๆ ขณะ คือ ในขณะ ๓ ของจิตดวงหนึ่ง ๆ

แต่อาจารย์อานันทเถระกล่าวการเกิดขึ้นของรูปที่มีสมุฏฐาน ๔ ทั้งหมดในอุปปาทขณะของจิตดวงหนึ่ง ๆ และกล่าวความดับของรูปดังกล่าวในภังคักขณะ ท่านเห็นว่ารูปที่เกิดจากสมุฏฐาน ๔ ทั้งหมดย่อมเกิดขึ้นในอุปปาทักขณะอย่างเดียว ย่อมไม่เกิดขึ้นในภังคักขณะเลย โดยยกพระพุทธพจน์อ้างอิงว่า

ยสฺส วา ปน สมุทยสจฺจํ นิรุชฺฌติ ตสฺส ทุกฺขสจฺจํ อุปฺปชฺชตีติ,โนรุ.๕๔๓ แปลความว่า

ถามว่า อีกนัยหนึ่ง สมุทยสัจจะของบุคคลใดกำลังดับ ทุกขสัจจะของบุคคลนั้นกำลังเกิดใช่ไหม ?

ตอบว่า หามิได้ [ไม่]

เช่นเดียวกันนี้ ท่านกล่าวว่า รูปที่เกิดจากสมุฏฐาน ๔ ย่อมดับไปในภังคักขณะ มิได้ดับไปในอุปปาทักขณะ โดยยกพระพุทธพจน์อ้างอิงว่า

ยสฺส กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อุปฺปชฺชนฺติ, ตสฺส อพฺยากตา ธมฺมา นิรุชฺฌนฺตีติ, โน ฯ แปลความว่า

ถามว่า กุศลธรรมกับอกุศลธรรมกำลังเกิดแก่บุคคลใด อัพยากตธรรมก็กำลังดับแก่บุคคลนั้นใช่ไหม ?

ตอบว่า หามิได้ [ไม่]

ถามว่า ยมกทั้ง ๒ ข้างต้น ตรัสหมายเอาอรูปภูมิ เพราะรูปทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นในภังคักขณะของจิตบ้าง ย่อมดับไปในอุปปาทักขณะบ้าง มิใช่หรือ ?

ตอบว่า ไม่ใช่อย่างนั้น เพราะหากเป็นไปตามนี้ สมเด็จพระผู้พระภาคเจ้าก็ควรจะทรงแสดงคำถามที่บริบูรณ์ว่า

ถามว่า อีกอย่างหนึ่ง สมุทยสัจจะของบุคคลใดดับอยู่ ทุกขสัจจะของบุคคลนั้นเกิดอยู่หรือ? ตอบว่า สมุทัยสัจจะของบุคคลนั้นดับอยู่ในขณะดับแห่งตัณหาในอรูปภูมิ แต่ทุกขสัจจะของบุคคลนั้นไม่เกิดอยู่ สมุทัยสัจจะย่อมดับและทุกขสัจจะย่อมเกิดแก่บุคคลนั้นในขณะดับแห่งตัณหาในปัญจโวการภูมิ

และในที่อื่นก็ควรจะแสดงว่า

ถามว่า กุศลธรรมกับอกุศลธรรมย่อมเกิดแก่บุคคลใด อัพยากตธรรมของบุคคลนั้นดับอยู่หรือ ? ตอบว่า กุศลธรรมย่อมเกิดแก่บุคคลนั้นในขณะเกิดแห่งกุศลจิตในอรูปภูมิ แต่อัพยากตธรรมของบุคคลนั้นไม่ใช่กำลังดับ กุศลธรรมย่อมเกิดแก่บุคคลนั้นในขณะเกิดกุศลจิตในปัญจโวการภูมิ และอัพยากตธรรมย่อมดับไป

สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสปฏิเสธอย่างเดียวว่า “หามิได้” ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ยมกทั้ง ๒ นี้มิได้ตรัสหมายเอาอรูปภูมิ

ถามว่า ยมกทั้ง ๒ นี้ตรัสหมายเอาจิตตชรูปหรือ ?

ตอบว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น เพราะไม่มียมกอื่นที่ปฏิเสธการรวมเอากัมมชรูปและมีความเหมาะสมเช่นนั้น ดังพระพุทธวจนะว่า

ยสฺส วา ปน ยตฺถ มนินฺทฺริยํ น อุปฺปชฺชติ ฯ ตสฺส ตตฺถ ชีวิตินฺทฺริยํ น อุปฺปชฺชตีติ ฯ อสญฺสตฺตานํ เตสํ ตตฺถ มนินฺทฺริยํ น อุปฺปชฺชติ ฯ โน จ เตสํ ตตฺถ ชีวิตินฺทฺริยํ น อุปฺปชฺชติ ฯ สพฺเพสํ จวนฺตานํ ปวตฺเต จิตฺตสฺส ภงฺคกฺขเณ เตสํ ตตฺถ มนินฺทฺริยญฺจ น อุปฺปชฺชติ ฯ ชีวิตินฺทฺริยญฺจ น อุปฺปชฺชติ รุ.๕๔๔

แปลความว่า

“ถามว่า อีกนัยหนึ่ง มนินทรีย์ย่อมไม่เกิดแก่บุคคลใดในภูมิใด ชีวิตินทรีย์ย่อมไม่เกิดแก่บุคคลนั้นในภูมินั้นใช่ไหม ?

ตอบว่า มนินทรีย์ย่อมไม่เกิดแก่อสัญญสัตตบุคคลในอสัญญสัตตภูมิ แต่ชีวิตินทรีย์ย่อมเกิดแก่อสัญญสัตตบุคคลโดยแท้ ส่วนมนินทรีย์และชีวิตินทรีย์ย่อมไม่เกิดแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยภังคักขณะในภูมินั้น คือ ในปวัตติกาลของบุคคลผู้จุติอยู่ทั้งหมด และในภังคักขณะแห่งจิต”

ในพระบาลีนี้ พระดำรัสว่า “แก่อสัญญสัตตบุคคล” หมายถึง ชีวิตินทรีย์ที่เป็นรูปธรรม ถ้ามนินทรีย์พึงเกิดแก่จิตได้ในภังคักขณะ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ควรตรัสไว้ในประโยคแรกว่า “มนินทรีย์ย่อมไม่เกิดแก่อสัญญสัตตบุคคลในอสัญญสัตตภูมิในภังคักขณะในปวัตติกาล แต่ชีวิตินทรีย์ย่อมเกิดแก่อสัญญสัตตบุคคลในอสัญญสัตตภูมิโดยแท้

และประโยคหลังก็ควรตรัสว่า

[ส่วนมนินทรีย์และชีวิตินทรีย์ย่อมไม่เกิดแก่บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยภังคักขณะเหล่านั้นในภูมินั้น] ผู้จุติอยู่ทั้งหมด [โดยไม่มีข้อความว่า ในภังคักขณะแห่งจิต]

ถามว่า พระดำรัสในประโยคหลังนั้นทรงตรัสหมายเอาชีวิตินทรีย์ที่เป็นนามธรรมมิใช่หรือ ?

ตอบว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น เพราะไม่มีพระดำรัสอื่นในคัมภีร์ยมกแสดงไว้อย่างนั้น และในฐานะที่เป็นวิสัยของพระสัพพัญญู จึงควรตัดสินตามความเหมาะสมในพระบาลีที่ชัดเจนโดยเทียบเคียงพระบาลีอื่น

รูปธรรมเป็นไปช้า นามธรรมย่อมเป็นไปเร็ว ทั้งฐีติกขณะโดยเฉพาะของนามธรรมย่อมไม่มี กระแสขณะของรูปธรรมกับนามธรรมจึงต่างกัน รูปธรรมทั้งหมดประกอบด้วยขณะเกิดขึ้นของตนที่มีช่วงเวลาขณะจิตหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้นทุก ๆ ขณะอย่างต่อเนื่อง และเพราะธรรมทั้ง ๒ เกิดร่วมกันตั้งแต่ขณะปฏิสนธิเบื้องต้น คือ การเกิดขึ้น กับ ที่สุดคือการดับไป จึงเกิดร่วมกันตลอดชีวิต ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นของอาจารย์อานันทเถระ

พระบาลียมกมีอรรถะและพยัญชนะมากมาย ทั้งความมุ่งหมายของสมเด็จพระบรมศาสดาก็สุขุมลุ่มลึก เมื่อใคร่ครวญดีแล้วจึงตัดสินข้อความ ไม่พึงวินิจฉัยพระดำรัสในคัมภีร์ยมกที่พบเห็นด้วยการประกอบความตามสมควร [แก่ฐานะ] โดยดำริว่า “การประกอบตามสมควร [แก่ฐานะ] เป็นปกติของคัมภีร์ยมก” แล้วยืนยันความเห็นของตน

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินี ท่านได้แสดงกัมมสมุฏฐานไว้ ดังต่อไปนี้

บทว่า ปฏิสนฺธิมุปาทาย นั้น ความว่า เข้าถือเอา [คือเริ่มต้น] อุปปาทขณะแห่งปฏิสนธิจิต

บทว่า ขเณ ขเณ มีความหมายว่า ในขณะแห่งจิตดวงหนึ่ง ๆ ซึ่งมีดวงละ ๓ ขณะ ท่านกล่าวอธิบายไว้ว่า หาระหว่างมิได้ทีเดียว แต่อาจารย์พวกอื่นคัดค้านฐีติขณะแห่งจิตและการเกิดขึ้นของรูปในภังคขณะ ในข้อคัดค้านทั้ง ๒ นั้น เหตุผลในการไม่มีฐีติขณะของอาจารย์พวกนั้น และเรื่องที่จะพึงกล่าวในเหตุผลนั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในหนหลังนั่นแล ก็จริง แต่ข้าพเจ้าจะรวบรวมกล่าว พร้อมทั้งเหตุผลในความไม่มีการเกิดรูปในภังคขณะ และเรื่องที่จะพึงกล่าวในเหตุผลนั้น แม้ในที่นี้ เพื่อถือเอาโดยสะดวก

[ค้านมติที่ว่าฐีติขณะของจิตไม่มี]

ในวิภังค์แห่งปัญหามีอาทิอย่างนี้ว่า “จิตเกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่าบังเกิดอยู่หรือตามปัญหาพยากรณ์ว่า ในภังคขณะ จิตบังเกิดแล้ว ชื่อว่า กำลังบังเกิดขึ้นก็หามิได้ ในอุปปาทขณะ กำลังเกิดขึ้น ชื่อว่า บังเกิดขึ้นแล้ว ก็หามิได้ ดังนี้เป็นต้น ตรัสภังคขณะและอุปปาทขณะเท่านั้น มิได้ตรัสฐีติขณะแห่งจิต หากความเข้าใจจะพึงมีว่า ฐีติขณะมีอยู่ เพราะสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ความเกิดด้วย ความดับด้วย ความแปรไปเป็นอย่างอื่นแห่งจิตที่ตั้งอยู่แล้วด้วย ย่อมปรากฏ ดังนี้ แม้ในพระสูตรนั้น ก็ตรัสถึงความตั้งอยู่แห่งความสืบเนื่องกัน เพราะความเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ในธรรมอย่างหนึ่ง และเพราะตรัสว่า ปรากฏ เพราะฉะนั้น ฐีติขณะแห่งจิตจึงไม่ปรากฏในบาลี แม้ความไม่มีในพระอภิธรรม ก็เป็นอันห้ามไว้โดยประการทั้งปวง ความบังเกิดแห่งรูปไม่มีในภังคขณะ เพราะทรงห้ามไว้ว่า โน ซึ่งแปลว่า หามิได้ ในปัญหาในอภิธรรมนั้นว่า สมุทัยสัจจะ ของบุคคลใดดับในขณะใด ทุกขสัจจะย่อมบังเกิดแก่บุคคลนั้นในขณะนั้นหรือ ? เพราะฉะนั้น ปัจจัยแม้ทั้งหมด ชื่อว่า เป็นเหตุแห่งรูป ในอุปปาทขณะแห่งจิตเท่านั้น จะพึงมีอาจารย์บางท่านท้วงว่าดังนี้ จะเฉลยในคำของอาจารย์บางท่านนั้นว่า กิริยาเครื่องกำหนดภังคขณะ ต่างแล้วโดยกิริยาเครื่องกำหนดอุปปาทขณะ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วในธรรมอันหนึ่งเท่านั้น ฉันใด ส่วนกิริยาเครื่องกำหนดที่บ่ายหน้าเฉพาะต่อภังคขณะ บัณฑิตพึงปรารถนาฉันนั้นแล กิริยาเครื่องกำหนดที่บ่ายหน้าเฉพาะต่อภังคขณะนี้ ชื่อว่า ฐีติขณะ ฐีติขณะนี้ก็ไม่ได้ทรงแสดงไว้ในวิภังคปกรณ์ โดยทรงแสดงนัย [เพราะเห็นได้โดยนัย] แม้ในวิภังคปกรณ์นั้น ก็ไม่ได้ตรัสความตั้งอยู่แห่งความสืบต่อกัน เพราะอาการมีความเกิดขึ้นเป็นต้นทรงแสดงแล้ว เพื่อตรัสลักษณะแห่งสังขตธรรมเท่านั้น และอรรถแห่งบทว่า ปญฺายติ นี้ว่า วิญฺายเต อันบุคคลย่อมรู้แจ้ง เพราะอุปสัคเป็นไปในอรรถแห่งธาตุทั้งหลายอย่างเดียว ความไม่บังเกิดแห่งรูปในภังคขณะ ทรงภาษิตด้วยสามารถแห่งรูปอันเกิดแต่จิต หรือทรงหมายเอารูปในภพ เพราะกิริยาที่ประกอบตามอรรถที่พึงได้นี้ เป็นสภาพของยมกปกรณ์ เพราะเหตุนี้นั้น ฐีติขณะแห่งจิตจะไม่มีไม่ได้ และความไม่บังเกิดขึ้นแห่งรูปในภังคขณะ จะไม่มีก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน ดังนี้แล


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |