| |
ลักขณาทิจตุกะของเอกัคคตาเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของเอกัคคตาเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรู้อารมณ์ที่เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ ด้วยการนำสัมปยุตตธรรมให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. อะวิสาระลักขะณา วา อะวิกเขปะนะลักขะณา มีการไม่กระจัดกระจาย เป็นลักษณะ หรือ มีความไม่ฟุ้งซ่าน เป็นลักษณะ หมายความว่า เอกัคคตาเจตสิกนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นสภาวธรรมที่ไม่มีการกระจัดกระจาย คือ ย่อมตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว และทำให้สัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกอื่น ๆ ที่เกิดพร้อมกับตนตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวกันได้ ไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ หรือ ธรรมารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ว่าอารมณ์นั้นจะเป็นอารมณ์ประเภทใด คือ จะเป็นอติอิฏฐารมณ์ [อารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง] อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ [อารมณ์ที่น่าปรารถนาปานกลาง] หรืออนิฏฐารมณ์ [อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา] ก็ตาม เอกัคคตาเจตสิก ย่อมเข้าไปสงบอยู่ในอารมณ์เหล่านั้นได้ และทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวนั้นด้วย โดยไม่ให้กระจัดกระจายไปในอารมณ์อื่น จนกว่าจะหมดกำลังและดับลงไป

๒. สะหะชาตานัง สัมปิณฑะนะระสา มีการรวบรวมสหชาตธรรมเจ.๑๐ ที่เกิดพร้อมกับตน เป็นกิจ หมายความว่า เอกัคคตาเจตสิกนี้ เมื่อปรากฏเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้จิตและเจตสิกอื่น ๆ และจิตตชรูป ที่เกิดพร้อมกับตน สามารถรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้โดยไม่กระจัดกระจาย คือ เมื่อเอกัคคตาเจตสิก เป็นสภาวธรรมที่สงบ ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเดียวแล้ว ย่อมทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตน รวมเข้ามาตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์นั้นด้วย และทำให้สหชาตธรรม คือ จิตตชรูปที่เกิดพร้อมกับตนมีความสงบตามไปด้วย เปรียบเหมือนฝุ่นละอองที่อยู่ตามสถานที่ต่างๆ มีบ้าน เป็นต้น เมื่อบุคคลต้องการจะกวาดฝุ่นละออง ถ้าไม่เอาน้ำพรมเสียก่อน เวลากวาด ฝุ่นละอองย่อมปลิวฟุ้งกระจายไปทั่ว ทำให้กวาดไม่สะดวก และไม่อาจกวาดให้สะอาดทั้งหมดได้ แต่ถ้าเอาน้ำพรมเสียก่อน น้ำย่อมรวมเอาฝุ่นละอองให้เกาะติดกัน เมื่อทำการกวาด ย่อมทำได้สะดวกและกวาดให้สะอาดทั้งหมดได้ เพราะน้ำมีน้ำหนัก เมื่อประพรมลงที่พื้นย่อมจับเกาะอยู่กับพื้น ไม่ฟุ้งกระจายขึ้นข้างบน และทำให้ฝุ่นละอองต่าง ๆ เปียกและเกาะติดกันเป็นก้อน ฉันใด เอกัคคตาเจตสิก ก็เปรียบเหมือนน้ำ ฉันนั้น เพราะเอกัคคตาเจตสิกนี้มีความสงบอยู่กับอารมณ์เดียว จึงสามารถทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนสามารถตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวได้ และเมื่อตนเองมีความสงบ ย่อมทำให้จิตตชรูปที่เกิดพร้อมกับตน ที่เรียกว่า สหชาตธรรม สงบตามไปด้วย

๓. อุปะสะมะปัจจุปปัฏฐานา มีความสงบเป็นอาการปรากฏ หมายความว่า เมื่อพระโยคีบุคคลกำหนดพิจารณาถึงสภาพของเอกัคคตาเจตสิกนี้แล้ว ย่อมทราบได้ว่า อาการสงบนิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียวนี้แหละ เป็นอาการปรากฏของเอกัคคตา หรือสภาพความสงบกายและความสงบใจที่ปรากฏเป็นอาการสงบเสงี่ยมได้ ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจแห่งเอกัคคตาเจตสิกนี้เอง อุปมาเหมือนดวงไฟที่ตั้งอยู่ในที่สงัดลม เปลวไฟที่ลุกอยู่ ย่อมตั้งดิ่งตรงนิ่งอยู่ ไม่มีอาการไหวไปมา ฉันใด เอกัคคตาเจตสิกและสัมปยุตตธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับเอกัคคตานั้น ย่อมสงบอยู่ในอารมณ์ ไม่ซัดส่ายไปในอารมณ์อื่นก่อนหมดอายุของตนเองไป และทำให้จิตตชรูป คือ อาการของรูปที่เกิดจากจิตนั้นพลอยสงบนิ่งตามไปด้วย ฉันนั้นเหมือนกัน

๔. สุขะปะทัฏฐานา มีความสุข เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า เอกัคคตาเจตสิกจะปรากฏให้พิจารณาเห็นได้เด่นชัดขึ้น ต้องอาศัยสุขเวทนา เป็นเหตุใกล้ เพราะธรรมดาผู้ที่มีความสุขกาย จิตใจของผู้นั้นโดยมาก ย่อมมีความสงบได้โดยง่าย ถ้าไม่มีความสุขกายแล้ว ความสงบใจก็เป็นไปได้ยาก [ความสุขกาย ที่เป็นปทัฏฐานของเอกัคคตาเจตสิกนั้น มุ่งหมายเอาเอกัคคตา ที่เป็นทั้งสัมมาสมาธิและมิจฉาสมาธิก็ได้] แม้ว่า ความสุขกายนั้น จะเป็นเพียงชั่วขณะนิดหนึ่งก็ตาม แต่ย่อมทำให้เอกัคคตาเจตสิกเกิดขึ้นได้ชั่วขณะเล็ก ๆ เหมือนกัน แต่ถ้าความสุขกายมีกำลังมาก ย่อมทำให้เอกัคคตาเจตสิกมีความสงบตั้งมั่นได้นาน เช่น บุคคลที่เจริญกรรมฐาน จนจิตแนบแน่นอยู่ในอารมณ์เดียวได้ ก็เพราะบุคคลนั้นไม่มีทุกข์ทางกายนั่นเอง จึงทำให้สมาธิจิตถึงความแนบแน่น เป็นอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ โดยลำดับ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |