| |
บทสรุปเรื่องวจีวิญญัติรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๓๘๑ ท่านได้แสดงสรุปความเรื่องวจีวิญญัติรูปไว้ดังต่อไปนี้

เมื่อบุคคลเปล่งเสียงพูดคำใดคำหนึ่ง เสียงที่เกิดจากจิต คือ เสียงพูดที่เกิดร่วมกับการประจวบกันของฐาน [ที่เกิดของเสียงมีคอเป็นต้น] และกรณ์ [ที่กระทำเสียงมีเพดานเป็นต้น] กล่าวคือ การกระทบของปถวีธาตุที่เกิดจากจิตอันเป็นไปในคอ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในปถวีธาตุที่มีใจครอง อันเกิดขึ้นในกัณฐฐาน [ฐานคือคอ] เป็นต้น

เสียงที่เกิดจากจิตนั้นย่อมเข้าถึงความเป็นเสียงนั้น ๆ ตามความมุ่งหมายด้วยอาการพูดที่เกิดร่วมกันกับตน และบทพยัญชนะต่าง ๆ อันเป็นรูปประชุมของเสียงซึ่งแสดงข้อความนั้น ๆ แก่ผู้ฟังได้ ย่อมเกิดขึ้นด้วยอาการพูด อาการพูดคือวาจาสื่อสารดังกล่าว ชื่อว่า วจีวิญญัติ

ในคัมภีร์อรรถกถาแสดงไว้ว่า

ตสฺสา ปน จิตฺตสมุฏฺานาย ปถวีธาตุยา อุปาทินฺนฆฏฺฏนสฺส ปจฺจยภูโต เอโก อาการวิกาโร วจีวิญฺตฺติ นามรุ.๓๘๒ ” แปลความว่า อาการพูดที่ทำให้ปถวีธาตุซึ่งเกิดจากจิตกระทบกับปถวีธาตุที่มีใจครอง ชื่อว่า วจีวิญญัติ

ในพากย์นี้ คำว่า “ทำให้ปถวีธาตุที่เกิดจากจิตกระทบกับปถวีธาตุที่มีใจครอง” หมายความว่า ทำให้เกิดเสียงต่างกันโดยอาศัยการกระทบกับปถวีธาตุที่มีใจครอง อันเกิดจากกรรมหรือเกิดจากเหตุทั้ง ๔ [กรรม จิต อุตุ อาหาร] ส่วนสิ่งที่ทำให้กระทบ คือ อวัยวะทางกายต่าง ๆ อันเป็นรูปที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม มีคอเป็นต้นที่เคลื่อนไหวอยู่ [คือเปลี่ยนจากการสงบนิ่งมาเป็นอาการเคลื่อนไหว]

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๓๘๓ ท่านได้แสดงสรุปความเรื่องวจีวิญญัติรูปไว้ดังต่อไปนี้

วิการอันต่อเนื่องแห่งปถวีธาตุ ซึ่งมีจิตคิดจะเปล่งถ้อยคำเป็นสมุฏฐาน เป็นปัจจัยแห่งความกระทบกับพวกอุปาทินนรูป [รูปที่มีใจครองหรือรูปที่เกิดจากกรรม] ซึ่งไปแล้วในฐานที่เกิดแห่งอักษร ชื่อว่า วจีวิญญัติ ก็คำที่ข้าพเจ้า [พระฎีกาจารย์] จะพึงกล่าวในวจีวิญญัตินิทเทสนี้ พึงเห็นโดยนัยที่กล่าวแล้วในกายวิญญัติ แต่มีข้อแปลกกันดังนี้ บัณฑิตพึงประกอบคำว่า “ในลำดับการฟังเสียงที่ได้ยินอยู่” ในวจีนิทเทสนี้ ดุจคำว่า “ในลำดับแห่งการจับกายที่เคลื่อนไหวอยู่” ซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แล้ว ในกายวิญญัตินิทเทสนั้น แต่ในวจีวิญญัตินิทเทสนี้ บัณฑิตไม่ได้นัยมีคำว่า “สตฺตมชวนสมุฏฺตา” เป็นอาทิ เพราะไม่มีหน้าที่ค้ำจุนเป็นต้น ความจริง เสียงย่อมเกิดพร้อมกับความกระทบเท่านั้น และความกระทบย่อมมีได้แม้ในปฐมชวนะเป็นต้นทีเดียว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |