ไปยังหน้า : |
ในคัมภีร์อรรถกถาและฎีการุ.๔๙๙ ท่านไม่ได้แสดงเรื่องอินทริยรูปและอนินทริยรูปไว้ จึงน่าสันนิษฐานว่า อินทริยรูปท่านได้แสดงมาแล้วในหมวดของรูปสมุทเทสนัย คือ นัยที่แสดงถึงสภาวะของรูปโดยสังเขป อินทริยรูปนั้นปรากฏในปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ และชีวิตรูป ๑ ซึ่งแต่ละอย่างได้แสดงความหมายและรายละเอียดไปแล้ว โดยเป็นรูปที่มีสภาพความเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ๆ กล่าวคือ
๑. จักขุปสาทรูป ได้ชื่อว่า จักขุนทรีย์ เพราะเป็นธรรมชาติที่มีความเป็นใหญ่ในการรับกระทบกับรูปารมณ์ คือ รับรูปต่าง ๆ นอกจากจักขุปสาทรูปแล้ว ย่อมไม่มีรูปใด ๆ ที่จะสามารถรับกระทบกับรูปารมณ์ได้เลย
๒. โสตปสาทรูป ได้ชื่อว่า โสตินทรีย์ เพราะเป็นธรรมชาติที่มีความเป็นใหญ่ในการรับกระทบกับสัททารมณ์ คือ รับเสียงต่าง ๆ นอกจากโสตปสาทรูปแล้ว ย่อมไม่มีรูปใด ๆ ที่จะสามารถรับกระทบกับสัททารมณ์ได้เลย
๓. ฆานปสาทรูป ได้ชื่อว่า ฆานินทรีย์ เพราะเป็นธรรมชาติที่มีความเป็นใหญ่ในการรับกระทบกับคันธารมณ์ คือ รับกลิ่นต่าง ๆ นอกจากฆานปสาทรูปแล้ว ย่อมไม่มีรูปใด ๆ ที่จะสามารถรับกระทบกับคันธารมณ์ได้เลย
๔. ชิวหาปสาทรูป ได้ชื่อว่า ชิวหินทรีย์ เพราะเป็นธรรมชาติที่มีความเป็นใหญ่ในการรับกระทบกับรสารมณ์ คือ รับรสต่าง ๆ นอกจากชิวหาปสาทรูปแล้ว ย่อมไม่มีรูปใด ๆ ที่จะสามารถรับกระทบกับรสารมณ์ได้เลย
๕. กายปสาทรูป ได้ชื่อว่า กายินทรีย์ เพราะเป็นธรรมชาติที่มีความเป็นใหญ่ในการรับกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ คือ รับสัมผัสต่าง ๆ นอกจากกายปสาทรูปแล้ว ย่อมไม่มีรูปใด ๆ ที่จะสามารถรับกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ได้เลย
๖. อิตถีภาวรูป ได้ชื่อว่า อิตถินทรีย์ เพราะเป็นธรรมชาติที่มีความเป็นใหญ่ในการปกครองความเป็นหญิง คือ ควบคุมความรู้สึกในความเป็นหญิงไว้ให้อยู่กับผู้หญิงตลอด จนกว่าจะสิ้นชีวิตของความเป็นหญิง [ยกเว้นมีกรรมอื่นที่รุนแรงมาแทรกแซง ทำให้ความรู้สึกในความเป็นหญิงนั้นบรรเทาเบาบางหรือหายไป เช่น โสเรยยมาณพกลับจากเพศชายกลายเป็นเพศหญิง เพราะกรรมที่คิดไม่ดีกับพระมหากัจจายนเถระ ภายหลังได้ขอขมาท่านแล้ว ก็กลับจากเพศหญิงกลายเป็นเพศชายเหมือนเดิม ในขณะที่เป็นเพศชาย ความรู้สึกในความเป็นชายก็สมบูรณ์ และในขณะที่กลายเป็นหญิง ความรู้สึกในความเป็นหญิง ก็ครบสมบูรณ์เช่นเดียวกัน]
๗. ปุริสภาวรูป ได้ชื่อว่า ปุริสินทรีย์ เพราะเป็นธรรมชาติที่มีความเป็นใหญ่ในการปกครองความเป็นชาย คือ ควบคุมความรู้สึกในความเป็นชายไว้ให้อยู่กับผู้ชายตลอดจนกว่าจะสิ้นชีวิตของความเป็นชาย [ยกเว้นมีกรรมอื่นที่รุนแรงมาแทรกแซง ทำให้ความเป็นชายนั้นลบเลือนหรือหายไป ดังกล่าวแล้วในอิตถินทรีย์]
๘. ชีวิตินทรียรูป ได้ชื่อว่า รูปชีวิตินทรีย์ เพราะเป็นธรรมชาติที่มีความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการหล่อเลี้ยงรักษากัมมชรูปที่เกิดในกลาปเดียวกันกับตนให้ดำรงอยู่ได้จนครบ ๓ วาระ คือ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป นอกจากชีวิตินทรียรูปแล้ว รูปอย่างอื่นที่จะมาทำหน้าที่หล่อเลี้ยงรักษากัมมชรูปที่เกิดพร้อมกันในกลาปเดียวกันกับตนนั้นย่อมไม่มีเลย
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๕๐๐ ท่านได้แสดงความหมายของอินทริยรูปและอนินทริยรูปไว้ดังต่อไปนี้
รูปแม้ทั้ง ๘ อย่าง [ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ และชีวิตรูป ๑] ได้ชื่อว่า อินทริยรูป เพราะประกอบด้วยความเป็นใหญ่ยิ่งในปัญจวิญญาณ ในปกิณณรูป [รูปที่เรี่ยรายอยู่โดยทั่วไปในร่างกาย] มีลิงค์ [ภาวรูป] เป็นต้น และในการบำรุงเลี้ยงสหชาตรูป [ชีวิตรูป] อธิบายว่า ปสาทรูปทั้ง ๕ ได้ชื่อว่า เป็นใหญ่ยิ่งในจักขุวิญญาณจิตเป็นต้น เพราะเมื่อตนเป็นธรรมชาติเข้มแข็งและอ่อนแอเป็นต้น จึงให้วิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นต้นเหล่านั้นถึงความเข้มแข็งและอ่อนแอเป็นต้นด้วย เพราะเพศหญิงเป็นต้นเหล่านั้น แม้เมื่อบังเกิดด้วยปัจจัยทั้งหมดตามที่เป็นของตน ย่อมเกิดขึ้นในสันดานอันเป็นไปกับภาวรูป [ในสันดานแห่งสัตว์ผู้มีภาวรูป] ด้วยอาการนั้น ๆ โดยมาก แต่มิใช่เป็นใหญ่เพราะเป็นอินทรียปัจจัย ก็ชีวิตรูปได้ชื่อว่า เป็นใหญ่ในการบริบาลกัมมชรูป เพราะกัมมชรูปเหล่านั้นเนื่องด้วยชีวิตินทรีย์ เพราะตั้งอยู่ชั่วขณะตามที่เป็นของตน และตนเองย่อมเป็นไปโดยความสัมพันธ์กับธรรมที่ตนตั้งไว้เท่านั้น เหมือนนายเรือเป็นไปด้วยความสัมพันธ์กับเรือ ฉันนั้น
ท่านพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ ได้แสดงอธิบายเรื่องอินทริยรูป และ อนินทริยรูปไว้รุ.๕๐๑ ดังต่อไปนี้
การเห็นจะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องอาศัยจักขุปสาทรูปเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครอง ถ้าขาดจักขุปสาทรูปเสียแล้ว การเห็นย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่ง การเห็นนี้จะเห็นชัดหรือไม่ชัด เห็นได้ไกลหรือไม่ไกลนั้น ก็แล้วแต่จักขุปสาทรูป ถ้าจักขุปสาทรูปดีมีกำลังมาก การมองเห็นย่อมชัดเจนและเห็นได้ไกลตามไปด้วย แม้สิ่งของที่เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถมองเห็นได้ เพราะฉะนั้น จักขุปสาทรูปนี้จึงเป็นใหญ่ในการเห็นทั้งหมด จึงได้ชื่อว่า อินทริยรูป
โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป กายปสาทรูป ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนี้
อิตถีภาวรูป เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในร่างกายของเพศหญิง
ปุริสภาวรูป เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในร่างกายของเพศชาย
เพราะร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ ของสัตว์ทั้งหลายนั้น ย่อมเกิดขึ้นตามภาวรูปทั้ง ๒ นี้ ถ้าสัตว์ใดในขณะที่เกิดขึ้นครั้งแรกนั้น มีอิตถีภาวรูปเกิดอยู่ด้วยแล้ว ร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ ของสัตว์นั้นที่เกิดขึ้นในตอนหลัง ๆ ย่อมจะเป็นไปตามอิตถีภาวรูปนั้นด้วย และถ้าสัตว์ใดขณะเกิดขึ้นทีแรกมีปุริสภาวรูปเกิดอยู่ด้วยแล้ว ร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ ของสัตว์นั้น ที่เกิดขึ้นในภายหลังต่อ ๆ มา ย่อมจะเป็นไปตามปุริสภาวรูปนั้นด้วย เพราะฉะนั้น ภาวรูปทั้ง ๒ นี้จึงได้ชื่อว่า อินทริยรูป
ชีวิตรูป เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรักษากัมมชรูปที่เกิดพร้อมกันกับตนให้ตั้งอยู่ได้จนถึง ๕๑ ขณะเล็กของจิต หรือ ๑๗ ขณะจิต แต่การเกิดขึ้นของกัมมชรูปนั้น มิได้เกิดขึ้นโดยอาศัยชีวิตรูปเป็นผู้ทำให้เกิด แต่เกิดขึ้นโดยอาศัยอดีตกรรม ต่อเมื่อกัมมชรูป ปรากฏเกิดขึ้นแล้ว ชีวิตรูปจึงทำหน้าที่รักษารูปที่เกิดจากอดีตกรรมแทนทันที เพราะฉะนั้น ชีวิตรูปนี้จึงมีความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองเฉพาะในการรักษากัมมชรูปเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า อินทริยรูป
ส่วนรูปที่เหลืออีก ๒๐ รูปเหล่านั้น ไม่มีความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในกิจการใด ๆ เป็นพิเศษแต่ประการใด เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า อนินทริยรูป
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๐๒ ได้แสดงเรื่องอินทริยรูปกับอนินทริยรูปไว้ดังต่อไปนี้
อินทริยรูป หมายถึง รูปที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองมีการเป็นใหญ่ในการเห็นเป็นต้น ซึ่งมีจำนวน ๘ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ และชีวิตรูป ๑
อนินทริยรูป หมายถึง รูปที่ไม่ได้เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครอง มีจำนวน ๒๐ รูป ได้แก่ รูปที่เหลือจากอินทริยรูป ๒๐ รูปนั่นเอง
รูปที่ครองความเป็นใหญ่ในการรับอารมณ์ต่าง ๆ มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น เป็นต้น [ชื่อว่า อินทริยรูป]
การเห็นจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยจักขุปสาทรูปเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครอง ถ้าขาดจักขุปสาทรูปแล้ว การเห็นย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ หรือการที่จะเห็นได้ไกลหรือเห็นได้ใกล้ ชัดเจนหรือไม่ชัดเจนนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับจักขุปสาทรูปเช่นเดียวกัน ถ้าจักขุปสาทรูปดี มีกำลังมาก ย่อมเห็นได้ไกลและเห็นได้ชัดเจน เพราะฉะนั้น จักขุปสาทรูปจึงเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการเห็นทั้งหมด จึงได้ชื่อว่า อินทริยรูป
โสตปสาทรูป ฆานปสาทรูป ชิวหาปสาทรูป และกายปสาทรูป ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน จึงได้ชื่อว่า อินทริยรูป ด้วย
อิตถีภาวรูป เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในความเป็นหญิงทั่วไปในร่างกายของหญิง
ปุริสภาวรูป เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในความเป็นชายทั่วไปในร่างกายของชาย
ภาวรูปทั้ง ๒ นี้ ครองความเป็นใหญ่ในเพศหญิงหรือเพศชายทั่วไปในร่างกาย จึงได้ชื่อว่า อินทริยรูป
ชีวิตรูป เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรักษากัมมชรูปที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับตนให้ตั้งอยู่ได้จนครบอายุของรูปนั้น ๆ กล่าวคือ เมื่อกัมมชกลาปปรากฏขึ้น ย่อมมีชีวิตรูปเกิดขึ้นมาพร้อมด้วย และทำหน้าที่รักษากลาปรูปที่เกิดจากกรรมนั้น ชีวิตรูปจึงเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรักษากัมมชรูปที่เกิดขึ้นพร้อมกับตน และได้ชื่อว่า อินทริยรูป ด้วย
ส่วนรูปที่เหลือนอกจากนี้อีก ๒๐ รูป มิได้เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในกิจการงานอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า อนินทริยรูป
คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :
ในอธิการว่าด้วยอินทริยรูปและอนินทริยรูปนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมหลักฐานและคำอธิบายมาประมวลอธิบายเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
๑. อินทริยรูป หมายถึง รูปที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครอง มีการเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการเห็นเป็นต้น มีจำนวน ๘ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ และชีวิตรูป ๑ โดยที่อินทริยรูปทั้ง ๘ รูปเหล่านี้ เป็นรูปที่มีความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในหน้าที่การงานเฉพาะของตน ๆ เท่านั้น โดยไม่ก้าวก่ายการงานหรือหน้าที่ของรูปอื่น ๆ ซึ่งแต่ละรูปก็มีบทบาทหน้าที่พิเศษเฉพาะของตน ๆ ดังต่อไปนี้
ปสาทรูป ๕ มีความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในหน้าที่ของตน ๆ ทางปัญจทวาร โดยเฉพาะสำหรับทวารของตน ๆ เท่านั้น กล่าวคือ
จักขุปสาทรูป เป็นธรรมชาติที่มีความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรับกระทบกับ รูปารมณ์ คือ การรับรูปต่าง ๆ นอกจากจักขุปสาทรูปแล้ว ย่อมไม่มีรูปใด ๆ ที่จะสามารถรับกระทบกับรูปารมณ์ได้เลย เพราะฉะนั้น จักขุปสาทรูป จึงได้ชื่อว่า จักขุนทรีย์
โสตปสาทรูป เป็นธรรมชาติที่มีความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรับกระทบกับสัททารมณ์ คือ การรับเสียงต่าง ๆ นอกจากโสตปสาทรูปแล้ว ย่อมไม่มีรูปใด ๆ ที่จะสามารถรับกระทบกับสัททารมณ์ได้เลย เพราะฉะนั้น โสตปสาทรูป จึงได้ชื่อว่า โสตินทรีย์
ฆานปสาทรูป เป็นธรรมชาติที่มีความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรับกระทบกับคันธารมณ์ คือ การรับกลิ่นต่าง ๆ นอกจากฆานปสาทรูปแล้ว ย่อมไม่มีรูปใด ๆ ที่จะสามารถรับกระทบกับคันธารมณ์ได้เลย เพราะฉะนั้น ฆานปสาทรูป จึงได้ชื่อว่า ฆานินทรีย์
ชิวหาปสาทรูป เป็นธรรมชาติที่มีความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรับกระทบกับรสารมณ์ คือ การรับรสต่าง ๆ นอกจากชิวหาปสาทรูปแล้ว ย่อมไม่มีรูปใด ๆ ที่จะสามารถรับกระทบกับรสารมณ์ได้เลย เพราะฉะนั้น ชิวหาปสาทรูป จึงได้ชื่อว่า ชิวหินทรีย์
กายปสาทรูป เป็นธรรมชาติที่มีความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรับกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ คือ การรับสัมผัสต่าง ๆ ได้แก่ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง นอกจากกายปสาทรูปแล้ว ย่อมไม่มีรูปใด ๆ ที่จะสามารถรับกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ได้เลย เพราะฉะนั้น กายปสาทรูป จึงได้ชื่อว่า กายินทรีย์
ตามที่กล่าวมานี้ จึงสรุปได้ว่า การรับรู้ต่าง ๆ ทางปัญจทวาร มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยปสาทรูปทั้ง ๕ มีจักขุปสาทรูปเป็นต้น โดยเฉพาะ ๆ ทางทวารของตน จึงจะเกิดขึ้นได้ และการเห็น การได้ยิน เป็นต้นเหล่านั้น จะมีความชัดเจนหรือไม่ชัดเจน จะรับได้ไกลหรือใกล้เป็นต้นนั้น ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยกล่าวคือปสาทรูปด้วย เช่น ถ้าจักขุปสาทรูปมีสมรรถภาพสมบูรณ์ การเห็นย่อมเห็นได้ไกลและเห็นได้ชัดเจน แต่ถ้าจักขุปสาทรูปมีสมรรถภาพน้อย การเห็นย่อมเห็นได้ไม่ไกลและเห็นได้ไม่ชัดเจนตามไปด้วย เพราะฉะนั้น จักขุปสาทรูปจึงเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการควบคุมการเห็น แม้ปสาทรูปอื่น ๆ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน
ภาวรูป มีความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในร่างกายและอวัยวะของสัตว์ทั้งหลาย แต่ละเพศ เพราะร่างกายของสัตว์ทั้งหลายนั้น ย่อมเกิดขึ้นตามภาวรูปทั้ง ๒ นี้ด้วย กล่าวคือ
ถ้าสัตว์ใดในขณะเกิดขึ้นครั้งแรกนั้น มีอิตถีภาวรูปเกิดร่วมอยู่ด้วยแล้ว ร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ ที่เกิดตามมาในภายหลังก็ดี ความรู้สึกนึกคิด นิสัย อากัปกิริยาต่าง ๆ ก็ดี ของสัตว์นั้น ย่อมมีสภาพเป็นไปตามอิตถีภาวรูป ซึ่งเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในความเป็นหญิงอยู่ทั่วไปในร่างกายของหญิงนั้นด้วย เพราะฉะนั้น อิตถีภาวรูป จึงได้ชื่อว่า อิตถินทรีย์
ถ้าสัตว์ใดในขณะเกิดครั้งแรกนั้น มีปุริสภาวรูปเกิดร่วมอยู่ด้วยแล้ว ร่างกาย อวัยวะต่าง ๆ ที่เกิดตามมาในภายหลังก็ดี ความรู้สึกนึกคิด นิสัย อากัปกิริยาต่าง ๆ ก็ดี ของสัตว์นั้น ย่อมมีสภาพเป็นไปตามปุริสภาวรูป ซึ่งเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในความเป็นชายอยู่ทั่วไปในร่างกายของชายนั้นด้วย เพราะฉะนั้น ปุริสภาวรูปนี้ จึงได้ชื่อว่า ปุริสินทรีย์
ชีวิตรูป เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรักษากัมมชรูปที่เกิดพร้อมกันกับตนให้ตั้งอยู่ได้จนถึง ๑๗ ขณะของจิต หรือ ๕๑ ขณะเล็กของจิต หมายความว่า เมื่อกัมมชกลาปคือกลุ่มรูปที่เกิดจากกรรมปรากฏขึ้น ย่อมมีชีวิตรูปเกิดขึ้นพร้อมด้วยทันที และทำหน้าที่รักษารูปที่เกิดจากกรรมเหล่านั้นให้ดำรงอยู่ได้จนครบอายุของตน แต่การเกิดขึ้นของกัมมชกลาปนั้น มิได้เกิดขึ้นโดยอาศัยชีวิตรูปเป็นเหตุให้เกิด แต่เกิดขึ้นโดยอาศัยอดีตกรรม คือ กรรมที่บุคคลได้กระทำไว้ในอดีตชาติ [หรือกรรมหนักบางอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันชาตินี้] เมื่อกัมมชกลาปนั้นปรากฏเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้วนั่นแหละ ชีวิตรูปนี้จึงจะทำหน้าที่รักษากัมมชกลาปที่เกิดขึ้นแล้วนั้นแทนอดีตกรรมทันที เพราะฉะนั้น ชีวิตรูปนี้จึงมีความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรักษากัมมชรูปที่เกิดพร้อมกันกับตนในกลาปเดียวกันเหล่านั้น ให้ดำรงอยู่ได้จนครบกำหนดอายุของตน ด้วยเหตุนี้ จึงได้ชื่อว่า ชีวิตินทรีย์
๒. อนินทริยรูป หมายถึง รูปที่ไม่ได้เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในหน้าที่ของตน ๆ โดยเฉพาะ เพียงแต่เป็นส่วนประกอบของร่างกาย ซึ่งได้แก่ รูปที่เหลือจากอินทริยรูปอีก ๒๐ รูปนั่นเอง หมายความว่า รูปทั้ง ๒๐ รูปเหล่านี้เป็นรูปที่ไม่มีบทบาทหน้าที่เป็นพิเศษโดยเฉพาะของตน ๆ แต่เป็นรูปที่ต้องอาศัยทำหน้าที่ร่วมกับรูปอื่น ๆ หรือเป็นส่วนประกอบของอินทริยรูปเหล่านั้นส่วนหนึ่ง เช่น จักขุปสาทรูปจะเกิดขึ้นได้และปรากฏบทบาทความเป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในหน้าที่ของตนได้ ก็ต้องมีอวินิพโภครูป กล่าวคือ มหาภูตรูป ๔ โคจรรูป ๓ [เว้นสัททะ] อาหารรูป ๑ เป็นส่วนประกอบสำคัญ และมีชีวิตรูปเป็นผู้อุปถัมภ์ให้สามารถเกิดขึ้นและปรากฏบทบาทได้ เหล่านี้เป็นต้น
อนึ่ง หทยรูป แม้จะมีบทบาทและหน้าที่สำคัญในการเป็นสถานที่เกิดของมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ [เว้นอรูปวิบากจิต ๔] สำหรับบุคคลที่เกิดในปัญจโวการภูมิก็ตาม แต่หทยรูปก็ไม่ได้ชื่อว่า อินทริยรูป ที่เป็นดังนี้ เพราะหทยรูปไม่ได้มีบทบาทหน้าที่สำคัญเป็นพิเศษเฉพาะตน ในการรับรู้อารมณ์หรือในการเกิดขึ้นและในความเป็นไปของรูปทั้งหลายแต่ประการใด ทั้งหทยรูปนี้เป็นรูปที่ต้องอาศัยอินทริยรูป ๒ อย่าง ได้แก่ อิตถีภาวรูป [สำหรับเพศหญิง] หรือปุริสภาวรูป [สำหรับเพศชาย] และชีวิตินทรีย์ เป็นตัวช่วยส่งเสริมสนับสนุนให้สามารถเกิดขึ้นและเป็นไปได้ ถ้าไม่มีรูปทั้ง ๒ ช่วยอุปถัมภ์ และไม่มีรูปอื่น ๆ ช่วยสนับสนุนแล้ว หทยรูปนี้ย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นและเป็นไปได้เลย
อนึ่ง หทยรูปย่อมทำหน้าที่เป็นไปตามอำนาจของอินทริยรูปทั้ง ๒ นั้นกล่าวคือ
หทยรูปของสตรีเพศย่อมทำหน้าที่ไปตามอำนาจของอิตถีภาวรูป เพราะฉะนั้น ความรู้สึกนึกคิดของสตรีโดยมาก จึงมีความเป็นไปในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน จนสามารถกำหนดสังเกตนิสัย กิริยาท่าทาง คำพูด เป็นต้นได้ว่า เป็นกิริยาของหญิง ส่วนหทยรูปของบุรุษเพศ ย่อมทำหน้าที่ไปตามอำนาจของปุริสภาวรูป เพราะฉะนั้น ความรู้สึกนึกคิดของบุรุษโดยมาก จึงมีความเป็นไปในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน จนสามารถกำหนดสังเกตนิสัย กิริยาท่าทาง คำพูด เป็นต้นได้ว่า เป็นกิริยาของผู้ชาย
ประสาทรูป ๕ มีสภาพเป็นทวารโดยเฉพาะ ๆ ในการรับกระทบเฉพาะกับอารมณ์ที่ปรากฏในทวารของตน ซึ่งปรากฏขึ้นในปัจจุบันขณะเท่านั้น ดังแสดงวิถีจิตต่อไปนี้
ตามภาพนี้ เป็นภาพแสดงรวมของปัญจทวารวิถี ที่มีความเป็นไปตามลำดับในทำนองเดียวกัน แต่ความเป็นจริงแล้ว ย่อมมีความเป็นไปแตกต่างกันของแต่ละทวาร กล่าวคือ
๑. ทางจักขุทวาร วิถีจิตเรียกว่า จักขุทวารวิถี รับ รูปารมณ์คือสีต่าง ๆ ที่มากระทบกับจักขุทวาร คือ จักขุปสาทรูป วิญญาณจิตที่ทำหน้าที่ตรงปัญจวิญญาณฐาน [ลำดับที่ ๕ ทวิ] นั้นเป็น จักขุวิญญาณจิต ๒ ดวงใดดวงหนึ่ง ตามสภาพของอารมณ์ กล่าวคือ ถ้ารูปารมณ์นั้นเกี่ยวเนื่องกับอกุศลวิบากหรือเป็นผลของอกุศลกรรม จักขุวิญญาณจิตที่รับรู้ย่อมเป็นฝ่ายอกุศลวิบากจิตด้วย ถ้ารูปารมณ์นั้นเกี่ยวเนื่องกับกุศลวิบากหรือเป็นผลของกุศลกรรม จักขุวิญญาณจิตที่รับรู้ย่อมเป็นฝ่ายกุศลวิบากจิตด้วย
๒. ทางโสตทวาร วิถีจิตเรียกว่า โสตทวารวิถี รับ สัททารมณ์คือเสียงต่าง ๆ ที่มากระทบกับโสตทวาร คือ โสตปสาทรูป วิญญาณจิตที่ทำหน้าที่ตรงปัญจวิญญาณฐาน [ลำดับที่ ๕ ทวิ] นั้นเป็น โสตวิญญาณจิต ๒ ดวงใดดวงหนึ่ง ตามสภาพของอารมณ์ กล่าวคือ ถ้าสัททารมณ์นั้นเกี่ยวเนื่องกับอกุศลวิบากหรือเป็นผลของอกุศลกรรม โสตวิญญาณจิตที่รับรู้ย่อมเป็นฝ่ายอกุศลวิบากจิตด้วย ถ้าสัททารมณ์นั้นเกี่ยวเนื่องกับกุศลวิบากหรือเป็นผลของกุศลกรรม โสตวิญญาณจิตที่รับรู้ย่อมเป็นฝ่ายกุศลวิบากจิตด้วย
๓. ทางฆานทวาร วิถีจิตเรียกว่า ฆานทวารวิถี รับ คันธารมณ์คือกลิ่นต่าง ๆ ที่มากระทบกับฆานทวาร คือ ฆานปสาทรูป วิญญาณจิตที่ทำหน้าที่ตรงปัญจวิญญาณฐาน [ลำดับที่ ๕ ทวิ] นั้นเป็น ฆานวิญญาณจิต ๒ ดวงใดดวงหนึ่ง ตามสภาพของอารมณ์ กล่าวคือ ถ้าคันธารมณ์นั้นเกี่ยวเนื่องกับอกุศลวิบากหรือเป็นผลของอกุศลกรรม ฆานวิญญาณจิตที่รับรู้ย่อมเป็นฝ่ายอกุศลวิบากจิตด้วย ถ้าคันธารมณ์นั้นเกี่ยวเนื่องกับกุศลวิบากหรือเป็นผลของกุศลกรรม ฆานวิญญาณจิตที่รับรู้ย่อมเป็นฝ่ายกุศลวิบากจิตด้วย
๔. ทางชิวหาทวารวิถีจิตเรียกว่า ชิวหาทวารวิถี รับ รสารมณ์คือรสต่าง ๆ ที่มากระทบกับชิวหาทวาร คือ ชิวหาปสาทรูป วิญญาณจิตที่ทำหน้าที่ตรงปัญจวิญญาณฐาน [ลำดับที่ ๕ ทวิ] นั้นเป็น ชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวงใดดวงหนึ่ง ตามสภาพของอารมณ์ กล่าวคือ ถ้ารสารมณ์นั้นเกี่ยวเนื่องกับอกุศลวิบากหรือเป็นผลของอกุศลกรรม ชิวหาวิญญาณจิตที่รับรู้ย่อมเป็นฝ่ายอกุศลวิบากจิตด้วย ถ้ารสารมณ์นั้นเกี่ยวเนื่องกับกุศลวิบากหรือเป็นผลของกุศลกรรม ชิวหาวิญญาณจิตที่รับรู้ย่อมเป็นฝ่ายกุศลวิบากจิตด้วย
๕. ทางกายทวาร วิถีจิตเรียกว่า กายทวารวิถี รับ โผฏฐัพพารมณ์คือสัมผัสต่าง ๆ ที่มากระทบกับกายทวาร คือ กายปสาทรูป วิญญาณจิตที่ทำหน้าที่ตรงปัญจวิญญาณฐาน [ลำดับที่ ๕ ทวิ] นั้นเป็น กายวิญญาณจิต ๒ ดวงใดดวงหนึ่ง ตามสภาพของอารมณ์ กล่าวคือ ถ้าโผฏฐัพพารมณ์นั้นเกี่ยวเนื่องกับอกุศลวิบากหรือเป็นผลของอกุศลกรรม กายวิญญาณจิตที่รับรู้ย่อมเป็นฝ่ายอกุศลวิบากจิตด้วย ถ้าโผฏฐัพพารมณ์นั้นเกี่ยวเนื่องกับกุศลวิบากหรือเป็นผลของกุศลกรรม กายวิญญาณจิตที่รับรู้ย่อมเป็นฝ่ายกุศลวิบากจิตด้วย
ส่วนภาวรูป ๒ และชีวิตรูป ๑ มีสภาพเป็นธัมมารมณ์ที่ปรากฏให้รับรู้สึกได้เฉพาะทางมโนทวารคือทางใจเท่านั้น ไม่สามารถรับรู้ทางทวารอื่นได้เลย เป็นได้ทั้งอดีตอารมณ์ ปัจจุบันอารมณ์ และอนาคตอารมณ์ ดังแสดงวิถีจิตต่อไปนี้