| |
กัมมัญญตาเจตสิก   |  

กัมมัญญตาเจตสิก หมายถึง สภาวธรรมที่มีความเหมาะควรต่อการงานอันเป็นกุศล คือ มีความพร้อมที่จะรองรับสิ่งที่ดีงามต่าง ๆ หรือมีความพร้อมที่จะกระทำกิจการงานที่ดีงามทั้งหลาย โดยขจัดภาวะความไม่เหมาะควรแก่การงานหรือความไม่พร้อมต่อการงาน ซึ่งได้แก่ ความเหนื่อยหน่าย ความอึดอัด ความกระด้าง เป็นต้น ของสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนให้คลายจากภาวะที่ไม่เหมาะควรเหล่านั้นเสีย เพราะฉะนั้น เมื่อกัมมัญญตาเจตสิกประกอบกับจิตและมีกำลังมาแล้ว ย่อมทำให้สัมปยุตตธรรมคลายจากความไม่เหมาะควรทั้งหลายแล้วย่อมเต็มเปี่ยมบริบูรณ์มีด้วยความพร้อมต่อการงานที่ดีงาม

กัมมัญญตาเจตสิก จึงเป็นเหมือนยาชูกำลังของสัมปยุตตธรรม ซึ่งทำให้จิตและเจตสิกมีความสดชื่นแจ่มใส หายจากความเหนื่อยหน่ายหมดกำลังใจ ทำให้มีความพร้อมที่จะต่อสู้กับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ต่อไป เปรียบเหมือนยาชูกำลังหรือยาบำรุงร่างกาย เมื่อบุคคลบริโภคเข้าไปแล้วย่อมทำให้ร่างกายสดชื่นปลอดโปร่งเบาสบาย คลายจากความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า หรือหายจากความเซื่องซึม มีความพร้อมที่จะกระทำกิจการงานต่าง ๆ ต่อไป

กัมมัญญตาเจตสิก มี ๒ ดวง คือ

๑. กายกัมมัญญตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำให้เจตสิกขันธ์ ๓ มีความควรแก่การงานอันเป็นกุศล ได้แก่ สภาวธรรมที่ช่วยส่งเสริมให้เจตสิกขันธ์ ๓ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์ ที่เกิดพร้อมในจิตดวงเดียวกับตนให้มีความพร้อมที่จะกระทำกิจการงานตามหน้าที่ของตน ๆ ให้สำเร็จเรียบร้อย

๒. จิตตกัมมัญญตาเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่ทำให้จิตมีความควรแก่การงานอันเป็นกุศล ได้แก่ สภาวธรรมที่ช่วยส่งเสริมให้จิตที่ตนเข้าไปประกอบนั้นมีความพร้อมที่จะรับอารมณ์และกระทำกิจการงานของตนให้สำเร็จไปแต่ละขณะจิต


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |