| |
คู่ที่ ๕ โอฬาริกรูป กับ สุขุมรูป   |  

ในคัมภีร์อรรถกถาและฎีการุ.๕๐๓ ท่านได้แสดงโอฬาริกรูปและสุขุมรูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

[รูป ๑๒ อย่าง คือ ปสาทรูป ๕ และวิสยรูป ๗] ชื่อว่า โอฬาริกรูป [รูปหยาบ] เพราะมีสภาพหยาบโดยปกติ และหน้าที่ของตน คือ การกระทบก็หยาบ

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๕๐๔ ท่านได้แสดงความหมายของโอฬาริกรูปและสุขุมรูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

ที่ชื่อว่า โอฬาริกรูป เพราะเป็นรูปหยาบ ด้วยอำนาจถึงความเป็นอารมณ์และเป็นผู้รับอารมณ์ [รูป ๒๒ ประการนอกจากนี้ ชื่อว่า สุขุมรูป]

ท่านพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ ได้แสดงอธิบายเรื่องโอฬาริกรูปกับสุขุมรูปไว้รุ.๕๐๕ ดังต่อไปนี้

ปสาทรูป ๕ กับวิสยรูป ๗ รวม ๑๒ รูปเหล่านี้ ชื่อว่า เป็นรูปหยาบ แต่คำว่า รูปหยาบ ในที่นี้ ไม่ได้หมายเอาความหยาบของรูป แต่หมายถึง ความปรากฏชัดเจน คือ รูปเหล่านี้เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้วย่อมปรากฏชัด สังเกตรู้ได้ง่าย จึงชื่อว่า โอฬาริกรูป

ส่วนรูปที่เหลือนอกจากโอฬาริกรูป ๑๖ รูป เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ก็ยังไม่ปรากฏชัดเจน สังเกตรู้ได้ยาก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สุขุมรูป

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๐๖ ได้แสดงเรื่องโอฬาริกรูปกับสุขุมรูปไว้ ดังต่อไปนี้

โอฬาริกรูป เป็นรูปหยาบ คือ รูปที่ปรากฏชัด มีจำนวน ๑๒ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และวิสยรูป ๗

สุขุมรูป เป็นรูปละเอียด คือ รูปที่ไม่ปรากฏชัด มีจำนวน ๑๖ รูป ได้แก่ รูปที่เหลือ ๑๖ [คืออาโปธาตุ ๑ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ และลักขณรูป ๔]

ปสาทรูป ๕ และวิสยรูป ๗ รวม ๑๒ รูปนี้ ชื่อว่า เป็นรูปหยาบ ซึ่งหมายถึง เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ก็ปรากฏได้ชัดเจนมาก เช่น รูป เสียง กลิ่น รส และเย็น-ร้อน อ่อน-แข็ง หย่อน-ตึง ย่อมรู้ได้ง่าย เพราะปรากฏชัดเจนเป็นรูปที่เห็นได้ ได้ยินได้ ดมกลิ่นได้ ชิมรสได้ และถูกต้องได้ ปสาทรูปทั้ง ๕ ต้องทำงานร่วมกับวิสยรูป ๗ เหล่านี้ด้วย จึงจัดเป็นโอฬาริกรูป เพราะทำงานอยู่กับปัญจทวารด้วยกัน

ส่วนรูปที่เหลือ ๑๖ รูปเหล่านั้น เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ก็ไม่ปรากฏชัดเจน เช่น อาโป คือ ธาตุน้ำ ที่แสดงการไหลหรือเกาะกุม หทยรูป ชีวิตรูป เป็นต้น ย่อมรู้ได้ยาก เพราะไม่ปรากฏชัดเจน เพราะฉะนั้น รูปทั้ง ๑๖ อย่างเหล่านี้ จึงได้ชื่อว่า สุขุมรูป เป็นรูปที่รู้ไม่ได้ทางปัญจทวาร แต่รู้ได้เฉพาะทางมโนทวารเท่านั้น

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

ในอธิการว่าด้วยเรื่องโอฬาริกรูปและสุขุมรูปนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมเนื้อหาและคำอธิบายมาประมวลอธิบายเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

๑. โอฬาริกรูป คือ รูปที่หยาบ หมายถึง รูปที่ปรากฏชัด สามารถพิจารณารู้ได้ง่าย มี ๑๒ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ วิสยรูป ๗ หมายความว่า รูปทั้ง ๑๒ ประการเหล่านี้ เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ย่อมสามารถรู้ได้ชัดเจนกว่า เห็นได้ง่ายกว่าสุขุมรูป เช่น รูป เสียง กลิ่น รส และเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง อันได้แก่ วัณณรูป [รูปารมณ์ = รูป] สัททรูป [สัททารมณ์ = เสียง] คันธรูป [คันธารมณ์ = กลิ่น] รสรูป [รสารมณ์ = รส] และปถวีธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ [โผฏฐัพพารมณ์ = แข็ง อ่อน ร้อน เย็น ตึง หย่อน] เป็นสภาพธรรมที่รู้ได้ง่าย เพราะปรากฏชัดเจน เป็นรูปที่เห็นได้ ได้ยินได้ สูดดมกลิ่นได้ ชิมรสได้ และสัมผัสถูกต้องได้ สัตว์ผู้มีประสาทสัมผัสเหล่านี้ ย่อมสามารถรู้สึกได้ทุกผู้ทุกคน โดยไม่ต้องมีใครมาชี้บอกหรือแน่ะนำให้ อนึ่ง ปสาทรูปทั้ง ๕ ย่อมทำงานร่วมกับวิสยรูป ๗ เป็นคู่ ๆ กันไปด้วย กล่าวคือ จักขุปสาทรูปเกิดคู่กับวัณณรูป [รับกระทบกับรูปารมณ์] โสตปสาทรูปเกิดคู่กับสัททรูป [รับกระทบกับสัททารมณ์] ฆานปสาทรูปเกิดคู่กับคันธรูป [รับกระทบกับคันธารมณ์] ชิวหาปสาทรูปเกิดคู่กับรสรูป [รับกระทบกับรสารมณ์] และกายปสาทรูปเกิดคู่กับโผฏฐัพพารมณ์ [รับกระทบกับความแข็ง ความอ่อน ความร้อน ความเย็น ความหย่อน และความตึง] เพราะเหตุที่รูปเหล่านี้ปรากฏเกิดขึ้นพร้อมกันเป็นคู่ ๆ สัตว์ทั้งหลายย่อมสามารถสัมผัสได้ และสังเกตรู้ได้ง่าย ดังกล่าวแล้ว เพราะฉะนั้น รูปทั้ง ๑๒ ประการเหล่านี้ จึงจัดเป็นโอฬาริกรูป เพราะทำงานร่วมกันทางปัญจทวารนั่นเอง

๒. สุขุมรูป คือ รูปที่ละเอียด หมายถึง รูปที่ไม่ปรากฏชัด มีจำนวน ๑๖ รูป ได้แก่ รูปที่เหลือจากโอฬาริกรูปอีก ๑๖ รูปนั่นเอง คือ อาโปธาตุ ๑ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ ลักขณรูป ๔ หมายความว่า รูปทั้ง ๑๖ ประการเหล่านี้ เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ก็ยังรู้ได้ไม่ชัดเจน ต้องใช้ปัญญาที่ละเอียดลึกซึ้ง จึงจะสามารถพิจารณารู้ได้ตามสมควรแก่กำลังปัญญาของตน ๆ เพราะเหตุที่รูปเหล่านี้ เป็นสภาวธรรมที่พิจารณาเห็นได้ยากกว่าโอฬาริกรูป และเป็นรูปที่รับรู้ได้เฉพาะทางมโนทวารอย่างเดียว เช่น อาโปธาตุ คือ ธาตุน้ำ ที่แสดงอาการไหลหรือเกาะกุม หทยรูป คือ ที่ตั้งอาศัยเกิดของมโนธาตุและมโนวิญญาณธาตุ ในการกระทำกุศลกรรมและอกุศลกรรม ชีวิตรูป คือ สภาพที่หล่อเลี้ยงกัมมชรูปที่เกิดพร้อมกันกับตน เป็นต้นเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสภาวะแห่งรูปที่พิจารณารู้ได้ยาก เนื่องจากเป็นสภาวธรรมที่ปรากฏไม่ชัดเจนดังกล่าวแล้ว และเป็นรูปที่รู้ไม่ได้ทางปัญจทวาร รู้ได้เฉพาะทางมโนทวารเท่านั้น ซึ่งทำความเข้าใจได้ยาก เพราะฉะนั้น รูปทั้ง ๑๖ ประการเหล่านี้ จึงได้ชื่อว่า สุขุมรูป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |