| |
ปริยัติ ๓ ประเภท   |  

ปริยัติ คือ การศึกษาเล่าเรียน ในที่นี้ หมายถึง การศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ

๑. อลคัททูปมาปริยัติ การเรียนที่เหมือนจับงูพิษร้าย หมายถึง การที่บุคคลเรียนปริยัติไม่ถูกต้อง เรียนโดยมุ่งหวังลาภสักการะ เรียนแล้วเกิดกิเลสตัณหา มานะ ทิฏฐิ เรียนเพื่อหวังโต้แย้ง เอาชนะกันทางวาทะ แต่ไม่ได้ตั้งใจปฏิบัติตาม ย่อมได้รับโทษ มีการถูกติเตียน หรือเกิดการทะเลาะเบาะแว้งแตกแยกสามัคคีกัน เป็นต้น เหมือนบุคคลจับงูพิษร้าย ถ้าจับไม่ถูกที่ หรือจับไม่เป็น งูอาจแว้งมากัดบุคคลนั้น ให้ถึงตาย หรือ ถึงอาการปางตายได้

๒. นิสสรณัตถปริยัติ การเรียนเพื่อประโยชน์แก่การสลัดตนออกจากภพ หมายถึง การเรียนของกัลยาณปุถุชนและพระเสกขบุคคลทั้งหลาย ที่มุ่งเรียนเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติอย่างถูกต้อง นำตนให้พ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง

๓. ภัณฑาคาริกปริยัติ การเรียนที่เปรียบดังขุนคลัง หมายถึง การเรียนของพระอรหันต์ ที่เรียนเพื่อทรงจำและรักษาแบบแผนแห่งหลักคำสอนไว้ ไม่ให้สูญหายไป และเพื่อสืบทอดแก่ชนรุ่นหลังต่อไป เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายท่านอยู่จบพรหมจรรย์ ประหาณกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในภพต่างๆ แล้ว จึงไม่ต้องเรียนเพื่อปฏิบัติให้พ้นทุกข์ใด ๆ อีก เหมือนขุนคลังที่มีหน้าที่ในการเก็บรักษาทรัพย์สมบัติไว้ในเรือนคลัง ไม่ให้เป็นอันตราย หรือสูญหายไป ฉะนั้น

สำหรับปุถุชนนั้น ถ้ามีผู้เล่าเรียนแบบอลคัททูปมาปริยัติมาก พระศาสนาก็ไม่เจริญ มีแต่จะเสื่อมลงโดยส่วนเดียว แต่ถ้ามีผู้มุ่งเรียนแบบนิสสรณัตถปริยัติกันมาก พระพุทธศาสนาก็มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |