| |
ชีวิตินทรียเจตสิก   |  

ชีวิตินทรียเจตสิก เป็นธรรมชาติที่รักษาสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตน หมายความว่า ชีวิตินทรียเจตสิกนี้เป็นสภาวธรรมที่ประกอบกับจิตทุกดวงที่เกิดขึ้น เมื่อเจตสิกดวงนี้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำการรักษาสัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกอื่น ๆ ที่เกิดพร้อมกับตน เพื่อให้ตั้งอยู่ได้ครบ ๓ อนุขณะ ของนามธรรม ที่ชื่อว่า “ชีวิต” เพราะอรรถว่า เป็นเครื่องดำรงอยู่แห่งสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย และชื่อว่า “อินทรีย์” เพราะประกอบด้วยความเป็นใหญ่ในการอนุบาลรักษาธรรมที่เกิดพร้อมกับตน เพราะการที่เป็นเครื่องดำรงไว้และเป็นใหญ่ในการอนุบาลสัมปยุตตธรรมนี้เอง จึงชื่อว่า ชีวิตินทรียเจตสิก ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “สัมปะยุตตะธัมเม ปะวัตติยะติ อะนุปาเลตีติ ชีวิตินท๎ริยัง” แปลความว่า ธรรมชาติที่อนุบาลรักษาสัมปยุตตธรรมและทำให้สัมปยุตตธรรมเหล่านั้นสามารถเป็นไปได้จนครบอายุของตน ๆ ชื่อว่า ชีวิตินทรียเจตสิก เปรียบเหมือนน้ำที่หล่อเลี้ยงดอกบัวที่ใส่ไว้ในแจกัน ทำให้ดอกบัวนั้นดำรงความสดอยู่ได้ จนกว่าจะเหี่ยวเฉาลงไป หรือเปรียบเหมือนพี่เลี้ยงที่ดูแลทารกให้มีชีวิตอยู่ได้จนกว่าทารกนั้นจะตายไปตามเหตุปัจจัยของตน ฉันนั้น การเหี่ยวเฉาของดอกบัว จึงไม่ใช่เป็นเพราะน้ำเป็นปัจจัย แต่เป็นเพราะเหตุปัจจัยของดอกบัวนั้นหมดลง หรือการตายของทารก ก็ไม่ใช่เป็นเพราะพี่เลี้ยงเป็นปัจจัย แต่เป็นเพราะอายุขัยของทารกนั้นหมดลง ข้อนี้ ฉันใด ชีวิตินทรียเจตสิกก็เป็นฉันนั้นเหมือนกัน การดับของสัมปยุตตธรรม ก็มิใช่เป็นเพราะชีวิตินทรียเจตสิกเป็นปัจจัย แต่เป็นเพราะอายุของสัมปยุตตธรรมเหล่านั้นหมดลงไปเอง ชีวิตินทรียเจตสิกจึงเป็นสภาวธรรมที่หล่อเลี้ยงสัมปยุตตธรรมที่ยังเกิดอยู่เท่านั้น ถ้าสัมปยุตตธรรมหมดอายุลงแล้ว ชีวิตินทรียเจตสิกย่อมไม่สามารถหล่อเลี้ยงไว้ได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |